การศึกษาชิ้นใหม่ของประเทศจีนชี้ว่า คู่รักชาวจีนมีแนวโน้มที่จะมี “ความสัมพันธ์ระยะไกล” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องหน้าที่การงานและเป้าหมายทางการเงิน
คู่รักชาวจีนจำนวนมากเลือกที่จะมี “ความสัมพันธ์ระยะไกล” หรือเลือกที่จะอาศัยอยู่คนละเมือง เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างหน้าที่การงานและเป้าหมายของการมีครอบครัว โดยผู้หญิงชาวจีนยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ชีวิตห่างจากคู่รักของตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตคู่ในลักษณะนี้ก็มักจะมาพร้อมกับปัญหาเรื่องความเครียด บทบาททางเพศที่ไม่เท่าเทียม และความต้องการมีลูกที่ลดลง
การศึกษาชิ้นใหม่จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Xi’an Jiaotong ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ China Youth Studies ค้นพบว่า คู่แต่งงานชาวจีนมีแนวโน้มที่จะมี “ความสัมพันธ์ระยะไกล” หรือเลือกที่จะอาศัยอยู่คนละเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางหน้าที่การงานของแต่ละคนมากขึ้น เนื่องจากตลาดงานในเมืองต่างๆ มีการแข่งขันที่สูงขึ้น หลายคนจึงเลือกที่จะไปหาโอกาสเติบโตในอาชีพที่เมืองอื่น ขณะเดียวกัน เรื่องความไม่มั่นคงทางการเงินและความปรารถนาที่จะมีความมั่นคงของครอบครัวในระยะยาวก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คู่รักเลือกที่จะแยกกันอยู่
“คนรุ่นใหม่เลือกที่จะแต่งงานและแยกกันอยู่มากขึ้น โดยหวังให้ชีวิตมีความสมดุลเรื่องการทำงานและการแต่งงาน เช่นเดียวกับเรื่องชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
การศึกษาเน้นย้ำถึงความท้าทายเรื่องการเชื่อมโยงทางอารมณ์ของคู่รักที่ต้องอยู่ห่างกัน โดยนักวิจัยชี้ว่า แม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาแทนที่การมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวเป็นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ
“นอกจากทำงานแล้ว ฉันยังมีบทบาทอื่นๆ เช่น ลูกสะใภ้ และแม่ ถ้าลูกมีปัญหาเรื่องการเรียน ทุกคนก็จะว่ากล่าวฉันราวกับว่าการเลี้ยงลูกเป็นความรับผิดชอบของฉันคนเดียว” ผู้ร่วมวิจัยวัย 29 ปี กล่าว
นอกจากนี้ แรงกดดันต่างๆ ทั้งเรื่องเงิน อาชีพการงาน และระยะห่างทางกายระหว่างคู่รัก ยังส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องการมีลูก โดยการศึกษาพบว่าคู่รักระยะไกลมีแนวโน้มที่จะมีลูกช้า ซึ่งนักวิจัยมองว่า ความสัมพันธ์ระยะไกลแบบนี้อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเกิดที่ลดลงของจีน
เทรนด์ดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดบนโซเชียลมีเดียของจีน โดยแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวบน Weibo มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นแล้วหลายล้านครั้ง ส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์รูปแบบนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องยากในการดูแลรักษาความสัมพันธ์ในฐานะสามีภรรยา โพสต์หนึ่งที่ถูกแชร์อย่างถล่มทลาย ระบุว่า “การสละความใกล้ชิดทางอารมณ์เพื่อความสำเร็จในหน้าที่การงานถือเป็นความสูญเสียของคู่รัก เพราะเหตุผลที่คนๆ หนึ่งเลือกจะไปทำงานที่อื่นตั้งแต่แรกก็เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศจีนต่างรับรู้ถึงเทรนด์ดังกล่าว และหลายพื้นที่ก็ได้ออกนโยบายที่จะทำให้คู่รักได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง ดังเช่น เมืองเหอเจ๋อทางตะวันออกของมณฑลซานตง ที่เพิ่มจำนวนงานในรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ เพื่อดึงดูดให้คู่รักกลับมาอยู่ในเมืองและใช้เวลากับครอบครัวของตัวเองมากขึ้น