Skip to main content

 

อินโดนีเซีย กำลังเกิดกระแส “คนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ” เพราะรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศของตัวเองที่จมปลักอยู่กับที่ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โอกาสในการได้งานทำที่มีอยู่เพียงน้อยนิด การใช้กฎหมายที่ไร้ซึ่งความแน่นอน และความผิดหวังต่อนโยบายของรัฐบาลที่ไม่เห็นว่าจะนำประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น

คนรุ่นใหม่อินโดนีเซียจำนวนมาก ต่างระบายความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจบนโซเชียลมีเดีย ผ่านแฮชแท็ก #KaburAjaDulu หรือ “ขอแค่หนีออกไปก่อน” ทั้งบน X และ TikTok เพราะ “ไม่มีความสุข” กับประเทศของตัวเองจากโอกาสในการทำงานที่มีเพียงน้อยนิด และเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีนโยบายที่ดีพอสำหรับประเทศ

“ถ้าคุณไม่มีความรู้สึกผูกพันกับประเทศนี้ ได้โปรดพิจารณา #KaburAjaDulu อย่างจริงจัง” ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียรายหนึ่งโพสต์ข้อความบน X

อิสมาอิล ฟาห์มี นักสังเกตการณ์ทางสังคม และผู้ก่อตั้ง Media Kernels Indonesia ซึ่งเฝ้าติดตามการสนทนาบนโซเชียลมีเดีย พบว่า ประเด็น “ความไม่พอใจต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลง ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายที่ไม่ดีพอของรัฐบาล และความหวังที่จะมีอนาคตที่สดใสกว่านี้” เป็นตัวจุดติดบทสนทนาเรื่องการย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ดี มีทั้งคนที่สนับสนุนและคนที่ไม่เห็นด้วยกับกระแสนี้ เจ้าของบัญชี X รายหนึ่ง กล่าวว่า

“ฉันเบื่อกับสารพัดปัญหาของประเทศนี้จริงๆ แต่ฉันชอบอินโดนีเซีย ชอบธรรมชาติ ชอบอาหาร ชอบอากาศ ชอบวัฒนธรรม ดังนั้น ฉันเลยไม่อยากหนีไป เราต้องทวงคืนประเทศนี้จาก 'พวกเขา' ฉันอยากมีชีวิตที่สุขสบายที่นี่ในฐานะพลเมือง”

มีชาวอินโดนีเซียที่อาศัยและทำงานอยู่ต่างประเทศ ร่วมแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์กับชาวโซเชียลหนุ่มสาวในอินโดนีเซีย อย่างเช่น โยเอล ซูมิโตร ซึ่งอยู่ในเยอรมนี แชร์ลิสต์รายชื่อประเทศและอัตราเงินเดือนที่ได้รับ รวมถึงคุณภาพชีวิต ความง่ายในการได้รับวีซ่า และโอกาสการทำงานในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี เขาแนะนำว่า คนที่อยากทำงานในบริษัทเทค ควรไปที่สิงคโปร์ อัมสเตอร์ดัม โตเกียว เบอร์ลิน และดูไบ ซึ่งเหมาะที่จะเป็นปลายทางของการ “หนีออกนอกประเทศ”

บ้านเกิดของ ซูมิโตร อยู่ที่เมืองโซโลทางตอนกลางของเกาะชวา เขาทำงานเป็นผู้อำนวยการอาวุโสของฝ่ายออกแบบในบริษัทที่เบอร์ลินตั้งแต่ปี 2022 โดยเริ่มใช้ชีวิตในต่างแดนมาตั้งแต่ปี 2011 หลังจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และทำงานทั้งที่สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ ก่อนตัดสินใจกลับมาอินโดนีเซียในปี 2018

“การทำงานที่อินโดนีเซียค่อนข้างสนุก เพราะผมได้อยู่กับครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน บรรยากาศอบอุ่นมากกว่าที่ต่างประเทศ แต่ผมไม่บ่นอะไร เพราะผมถูกจ้างให้ทำงานเป็นแรงงานทักษะสูง เลยมีสิทธิพิเศษในเรื่องเงินเดือนและผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งมันเป็นความสุขสบาย” ซูมิโตรกล่าว

แต่หลังจากกลับมาที่อินโดนีเซียได้ 4 ปี ซูมิโตรบอกว่า เขารู้สึกว่า “ติดแหง็ก” ไม่มีความก้าวหน้า

“ในเรื่องทักษะและอาชีพ ถ้าผมอยากไปไกลกว่านี้ ผมก็ต้องไปต่างประเทศ ผมอยากได้ประสบการณ์บริหารทีมที่มีคนจากหลากหลายชาติ ท้ายที่สุด ผมก็ต้องไปต่างประเทศอีกครั้ง” ซูมิโตรกล่าว

เช่นเดียวกับ ปรีมาวัน ซาทริโอ ชาวอินโดนีเซียซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่เกาหลีใต้มาตั้งแต่ปี 2020 เขาบอกว่า ไม่ต้องการอยู่ที่อินโดนีเซียไปตลอดทั้งชีวิต โดยเฉพาะกับนโยบายของรัฐบาลนี้

“เมื่อเร็วๆ นี้ มีการตัดงบประมาณการศึกษาและการวิจัย เมื่อภรรยาของผมเป็นนักวิจัยด้านการแพทย์ นี่เป็นสัญญาณว่า อินโดนีเซียจะไม่ใช่ที่สำหรับแรงงานทักษะสูงและนักวิจัยอีกแล้ว” ปรีมาวันกล่าว

รัฐบาลปราโบโว ตั้งเป้าที่จะตัดงบกระทรวงต่างๆ ลงรวม 306 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และกระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐจะถูกตัดงบลงเกือบร้อยละ 25

“ผมไม่คิดว่า พวกเราจะกลับอินโดนีเซีย เพราะภรรยาของผมต้องการทำงานในต่างประเทศ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือเป็นนักวิจัยที่เกาหลีใต้ พวกเรากำลังตัดสินใจว่าจะยื่นขอเป็นผู้พักอาศัยถาวรในเกาหลีใต้ในปีหน้านี้” ปรีมาวันกล่าว

ปรีมาวัน ทำงานเป็นคนจัดหาคนงานอินโดนีเซียให้กับบริษัทในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เขากระตือรือล้นในการให้คำแนะนำกับชาวอินโดนีเซียที่อยากออกมาทำงานยังสองประเทศนี้ เขาบอกว่า ครอบครัวของเขามีความสุขดีที่เมืองปูซาน และขอบคุณศูนย์ดูแลเด็กที่ราคาไม่แพง ระบบสาธารณสุข และโครงข่ายขนส่งมวชนขนาดใหญ่ของเกาหลี

“มีอย่างเดียวที่ผมคิดถึง คืออาหารอินโดนีเซีย ผมเพิ่งปรับตัวเข้ากับอาหารเกาหลีได้ แต่ลิ้นของผมยังเหมาะกับอาหารอินโดนีเซียมากกว่า” ปรีมาวันบอก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อับดุล กาดีร์ การ์ดิง รัฐมนตรีกระทรวงคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ทางกระทรวงได้เตรียมการช่วยเหลือคนหนุ่มสาวอินโดนีเซีย ในเรื่องเตรียมพร้อมสำหรับทักษะการทำงานที่จำเป็นสำหรับการไปทำงานในต่างประเทศ

“ถ้าคุณรู้สึกเหมือนว่า อยากหนีไปให้พ้นจากประเทศนี้ ก็ทำให้แน่ใจว่าไปต่างประเทศจะไปได้ดี แทนที่จะไปอย่างไร้ทิศทาง เราจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับคุณเพื่อการไปทำงานต่างประเทศ” รัฐมนตรีกล่าว

แม้การข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานต่างแดนของคนอินโดนีเซียจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่ ยานัวร์ นูโกรโฮ นักวิจัยอาวุโสของ สถาบันวิจัย ISEAS- Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าวว่า แรงจูงใจของการไปอยู่ต่างประเทศทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต

“ตอนนี้คนตื่นตัวมองหาหนทางที่จะจากไป เพราะพวกเขารู้สึกว่าสิ้นหวังกับประเทศนี้ พวกเขามองไม่เห็นว่ามีอะไรดีขึ้นในอินโดนีเซีย ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องของการใช้กฎหมายอีกด้วย” ยานัวร์กล่าว

เขากล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหางานในต่างประเทศ “นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของอารมณ์ความรู้สึก จะไม่เกิดการอพยพครั้งใหญ่ คนจำนวนมากกำลังแสดงให้เห็นว่า ถ้าพวกเขามีเงิน ก็จะเผ่นหนีออกนอกประเทศ นี่จึงเป็นมากกว่าการต่อต้านเชิงวัฒนธรรมทั่วไปของคนหนุ่มสาว” ยานัวร์กล่าว

กระแสการเผ่นหนีออกนอกประเทศ ทำให้เกิดความกลัวในเรื่อง “สมองไหล” ซึ่งเกิดเป็นประเด็นในปี 2023 เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่า ระหว่างปี 2019 ถึง 2022 มีชาวอินโดนีเซียที่ได้รับหนังสือเดินทางสิงคโปร์เกือบ 4,000 คน

ซูมิโตร ซึ่งอยู่ในเบอร์ลิน ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เขาบอกว่า ยังไม่เห็นข้อเสียอะไรจากการที่จะมีคนอินโดนีเซียออกไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

“ยกตัวอย่าง อินเดีย เก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากมายจากการที่มีชาวอินเดียออกไปทำงานในสหรัฐหรือยุโรป ทั้งยังส่งเงินกลับประเทศ หรือนำเอาความรู้มาแลกเปลี่ยนกับคนงานในประเทศในตอนที่กลับมา” ซูมิโตรกล่าว

ยานัวร์ เตือนว่า แม้ตอนนี้จะเป็นแค่การแชทกันบนโลกออนไลน์ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ควรตื่นตัวและตั้งเป้าในการปรับปรุงนโยบายต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลาง

“รัฐบาลปราโบโวต้องทำตามสัญญาประชาคมที่ให้กับประชาชนก่อน ด้วยการสร้างโอกาสในการจ้างงาน มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของประชาชน ซึ่งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตเป็นแรงขับให้ประชาชนต้องเผ่นหนีออกนอกประเทศเป็นสิ่งแรก” ยานัวร์กล่าว

 

ที่มา
Young Indonesians yearn to ‘run away’ overseas for work as frustration grows