ถ้าพูดถึง "อีลอน มัสก์" ณ ปี 2025 หลายคนน่าจะจดจำเค้าในฐานะมหาเศรษฐีที่ร่วมส่ง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 และเป็นคนที่ดูมีอำนาจมากในรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกายุคปัจจุบันแน่ๆ เพราะมีต้องทำงานของตัวเองในทำเนียบขาว
แน่นอน อีลอน มัสก์ สั่งสมอำนาจมาพักใหญ่แล้วตั้งแต่เค้า "ซื้อ" แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ในปี 2022 และเปลี่ยนชื่อมันเป็น X พร้อมทำการเปลี่ยนนโยบายสารพัดในเวลาต่อมา ซึ่งหลายคนก็วิเคราะห์ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นขุมกำลังที่ทำให้ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง เพราะอย่างน้อยๆ ทรัมป์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ มัสก์ บล็อคหลังได้เข้ามาเป็นเจ้าของ Twitter และว่ากันตรงๆ คนที่ มัสก์ ปลดบล็อค คือ "แนวร่วม" ของ ทรัมป์ ทั้งนั้น แต่ตอนปลดบล็อคคนพวกนี้ ทุกคนมองว่าเป็นมาตรการชูเสรีภาพทางการแสดงออก ไม่มีใครคาดว่าจะเป็นการกรุยทางตัวเองเข้าสู่การมีอำนาจในทำเนียบขาวของ มัสก์
มัสก์ กำลังเรืองอำนาจแน่ๆ ในสหรัฐอเมริกา และหลายคนก็คิดว่าเค้ามีอำนาจมากแล้ว แต่ในอีกด้าน สิ่งที่คนไม่น่าจะค่อยมองก็คือบทบาทของ มัสก์ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเอาจริงๆ คือเค้าเริ่มมีอำนาจมหาศาล
แน่นอน คนรู้ว่า มัสก์ พื้นเพเป็นคนแอฟริกาใต้ แต่ในทวีปที่ยากจนที่สุดในโลกนี้ คนก็น่าจะนึกไม่ออกกันว่า มัสก์ จะไปมีธุรกิจอะไร เพราะรถ Tesla ก็น่าจะไม่ได้ขายดีในโซนนี้เท่าโลกตะวันตกแน่ๆ
แต่สิ่งที่ มัสก์ “ขาย" ในแอฟริกา คือสิ่งที่เค้าไม่ได้ขายที่อื่น นั่นคือบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ผ่านบริษัท Starlink ที่เป็นบริษัทลูกของ SpaceX ซึ่งหลายคนก็น่าจะพอรู้ว่า SpaceX ไม่ได้แค่ทดลองปล่อย "จรวด" เท่านั้น แต่ทุกครั้งที่ "จรวด" ขึ้นไป มันมีการขนดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกด้วย ซึ่งพอดาวเทียมพวกนี้มีปริมาณมากพอ มันก็สามารถส่งสัญญาณระหว่างกัน และสร้างเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียมที่ครอบคลุมทั่วโลกจากเหนือชั้นบรรยากาศได้
ตอนที่ Starlink เปิดตัวแรกๆ โลกตะวันตกตื่นเต้นพอควรเพราะมันไม่มีบริษัทอะไรที่ทำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอวกาศแบบนี้ แต่หลังจากเริ่มมีการเคาะราคาค่าบริการมาในปี 2020 คนก็หายตื่นเต้นไปเยอะ เพราะค่าบริการมันแพงว่า "เน็ตบ้าน" ในโลกตะวันตกและประเทศส่วนใหญ่ และมันไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะไปใช้อินเทอร์เน็ตดาวเทียมที่แพงกว่าให้ยุ่งยาก
เรื่องราวมันดูจะจบไป Starlink ดูจะเป็นโครงการอินเทอร์เน็ตที่เหมาะกับพื้นที่กันดารที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตปกติไปไม่ถึงเท่านั้น แต่หลายคนอาจลืมนึกไปว่าจริงๆ แล้ว "พื้นที่กันดาร" ที่ว่าคือทวีปแอฟริกาเกือบทั้งทวีป
ทุกวันนี้ คนในประเทศตะวันตก รวมถึงส่วนใหญ่ในเอเชียนั้นไม่ได้รู้สึกว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นของหายาก และก็คาดหวังด้วยซ้ำว่าทุกที่ที่ตนไปจะมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอยู่ แต่ในความเป็นจริง อีกด้านหนึ่ง อินเทอร์เน็ตมาถึงจุดนี้เพราะบริษัทโทรคมนาคมในประเทศต่างๆ มีการลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานอย่างยาวนาน และนั่นก็หมายความว่าถ้าไม่มีบริษัทลงทุนทำแบบนี้ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็จะไม่กว้างขวางแบบนี้
นั่นคือเงื่อนไขของแอฟริกา ในพวกประเทศยากจนส่วนใหญ่เหล่านี้ ไม่มีใครลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ในทางปฏิบัติ พื้นที่แบบนอกเมืองหลวงคนจะต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ หรือถ้าได้ก็คือค่าบริการแพงมากๆ และนี่เองที่ทำให้ค่าบริการ Starlink นั้นดูไม่ได้แพงเลยสำหรับในบางพื้นที่ในแอฟริกา
Starlink มีค่าบริการที่ต่างกันในแต่ละประเทศในแอฟริกา เรียกได้ว่าเริ่มต้นที่ประมาณเดือนละ 400 บาท และไปสุดที่ประมาณเดือนละ 1,500 บาท โดยค่าบริการเฉลี่ยๆ จะอยู่ที่ราวๆ 1,000 บาท
ค่าบริการระดับนี้ ทางเว็บไซต์ที่ศึกษาปรากฎการณ์อินเทอร์เน็ตนอกโลกตะวันตกอย่าง Rest of World ชี้ว่า มันถูกกว่าค่าบริการอินเทอร์เน็ตท้องถิ่นใน เคนยา กานา ซิมบับเว โมซัมบิก และกาบูเวร์ดี ซึ่งนั่นก็ยังไม่นับว่าบางพื้นที่บริการอินเทอร์เน็ตยังไปไม่ถึงด้วยซ้ำ และนี่หมายความว่า Starlink มีศักยภาพที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน "ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต" (ISP) หลักของประเทศเหล่านี้
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในโลกตะวันตก น่าจะไม่มีใครมองว่า มัสก์ เป็น "เจ้าของ ISP” แต่จริงๆ ในแอฟริกาเค้าเป็นในหลายประเทศ และมันก็น่าขนลุกไม่น้อยที่คนที่มีอำนาจขนาดนี้ ด้านหนึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหลักของประเทศเล็กๆ จำนวนไม่น้อย
ทั้งหมดมันอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไรเลย ถ้าเราไม่ได้เห็นกับตาว่า อีลอน มัสก์ ใช้อำนาจเหนืออินเทอร์เน็ตในการได้ "อำนาจรัฐ" มาในมืออย่างไรในกรณีของอเมริกา และน่าสนใจไม่น้อยเลยว่าเค้ามี "แผน" อะไรกับอำนาจแบบผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในทวีปแอฟริกา
เพราะเรื่อง "Twitter” ก็พิสูจน์มาแล้วว่า ที่คนไปล้อว่า "ซื้อมาทำไม" นั้นจริงๆ คือคนที่ไม่เห็นภาพใหญ่ว่า มัสก์ กำลังพยายามทำอะไร เพราะการซื้อ “Twitter” ถ้ามองแค่ว่าเป็นเรื่องธุรกิจ มันไม่คุ้มแน่ๆ แต่ถ้ามองว่าเป็นการ "ซื้อใจ" รวมถึง "สร้างบุญคุณ" กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านการให้เค้าและแนวร่วม "หาเสียง" ได้เต็มที่แบบไม่มีเซ็นเซอร์ จนสุดท้ายตัวเองได้ "ตำแหน่ง" ในรัฐบาลแล้ว นี่คือ ดีลที่โคตรคุ้ม
ใครจะไปรู้ มัสก์ อาจมีแผนทำนองเดียวกันกับแอฟริกาก็ได้ เพราะการคุม ISP ก็คือการคุมอินเทอร์เน็ต การบล็อคบางเรื่องเป็นไปได้แน่นอน และใครจะไปรู้ว่า มัสก์ จะไปมีดีลกับผู้นำในประเทศไหนในแอฟริกาหรือไม่ก็ในการช่วย "คุมอินเทอร์เน็ต" ซึ่งสิ่งที่เค้าจะได้ตอบแทนก็เป็นไปได้หลากหลายมากๆ แน่ๆ และอาจเป็นการตอบแทนแบบไม่ตรงไปตรงมาด้วย เพราะเค้าใช้อำนาจแบบนี้เพื่อ "เล่นการเมือง" ระหว่างประเทศได้
ใช่แล้วครับ ณ ปี 2025 อีลอน มัสก์ ไม่ใช่แค่คนขายรถยนต์ไฟฟ้า หรือคนที่พยายามจะไปดาวอังคารเท่านั้นแล้ว แต่เค้าคือคนที่เริ่มมีอิทธิพลจริงๆ เหนือการเมืองระหว่างประเทศ และทั้งหมดนี้ เค้าก็อาจเพิ่งเริ่มเท่านั้นเอง
อ้างอิง
The Elon Musk effect: How Donald Trump gained from billionaire’s support
We're running out of room in space
Starlink is now cheaper than leading internet provider in some African countries
Visualized: Starlink vs. Leading Internet Provider Prices in Africa