ถ้าจะพูดถึงชาติที่มีจำนวน "รถยนต์ไฟฟ้า” สูงสุดในโลก คงไม่ต้องเดาว่าต้องเป็น “จีน" แน่ๆ แต่ถ้าจะพูดถึงชาติที่เปลี่ยนให้ประชาชนมาขับรถยนต์ไฟฟ้า จนสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าชาติใดในโลก คำตอบ คือ "นอร์เวย์" อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในปี 2023 นอรเวย์ก็มีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนถึงกว่า 1 ใน 4 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าจีนเยอะ เพราะจีนยังทำให้ให้รถยนต์ไฟฟ้ามีจำนวน 1 ใน 10 ของรถยนต์บนนถนนไม่ได้เลยในปีเดียวกันนั้น
แน่นอน ถ้าอ่านข่าว เราอาจเห็นพาดหัวว่า ทุกวันนี้รถยนต์ที่ขายในนอร์เวย์เกิน 90% เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนั่นทำให้ ณ ปี 2025 นอร์เวย์เคลมแล้วว่า จำนวนรถยนต์ใช้ไฟฟ้าบนท้องถนนของตัวเอง มีมากกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันเบนซินไปแล้ว โดยแม้ว่ารถยนต์ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลจะมีอยู่บนท้องถนนเป็นส่วนใหญ่ แต่พวกนี้คือรถยนต์เก่าอายุเป็น 10 ปีแล้วทั้งนั้น คนซื้อรถยนต์ใหม่ๆ ไม่มีใครซื้อรถยนต์พวกนี้ ทุกคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และใครซื้อรถยนต์ใช้น้ำมันมาใช้ในเวลานี้ก็เป็นเรื่องแปลกมากในนอร์เวย์
ทำไมนอร์เวย์มาถึงจุดนี้ได้ เอาจริงๆ หลักๆ มาจากนโยบายรัฐทีมีมากว่า 30 ปีที่สนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า
อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า นอร์เวย์ไม่ใช่ชาติที่ห่างไกลจากพลังงานสะอาด นอร์เวย์เป็นชาติยุโรปที่ขายน้ำมันเยอะสุดก็จริงหลังจากไปเจอแหล่งน้ำมันที่ทะเลเหนือ แต่พลังงานไฟฟ้าเกิน 95% ของนอร์เวย์เป็นไฟฟ้าพลังน้ำ และเป็นแบบนั้นมายาวนานแล้ว
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ชาติที่มีภูมิหลังการใช้พลังงานสะอาดจะสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะมันจะทำให้อากาศของประเทศยังคงสะอาดอยู่ เลยทำให้มาตรการแรกของนอร์เวย์ในการสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือ การละเว้นให้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องจ่าย "ภาษีถนน" มาตั้งแต่ปี 1990 และตลอดทศวรรษ 1990 ก็มีมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่การให้ขึ้น "ทางด่วน" ฟรี ไปจนถึงให้จอดรถฟรีในหลายๆ พื้นที่
ในปี 2001 นอร์เวย์ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนับว่า "ล้ำยุค" มาก โดยเฉพาะถ้าเราพิจารณาว่าบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกปัจจุบันอย่าง Tesla นั้นเพิ่งตั้งปี 2003 เท่านั้น คือตั้งมาหลังจากนโยบายสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าของนอร์เวย์ซะอีก
การลดภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสำหรับนอร์เวย์ ภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อขายรถยนต์นั้นอยู่ที่ 25% นี่เลยทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งคนไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ เริ่มมีราคาถูกกว่ารถยนต์แบบใช้น้ำมัน และทำให้ตัดสินใจไม่ยากเลยว่าจะใช้รถแบบไหนถ้าคิดจากมุมเศรษฐกิจเพียวๆ
แต่ที่น่าสนคือ แม้ว่านโยบายพวกนี้จะมารอแล้ว แต่ปัญหาคือรถยนต์ไฟฟ้าในอดีตมีให้เลือกใช้น้อยมาก สถานีชาร์จก็ไม่มี นี่เลยทำให้แม้ว่านอร์เวย์จะมีการสนับสนุนผ่านนโยบายสารพัด ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในปี 2012 ก็ยังอยู่ที่ราว 3% ของรถยนต์ทั้งหมดเท่านั้น
คำถามคือ แล้วตัวเลข 3% ในปี 2012 กลายมาเป็นตัวเลข 90% ในปี 2024 ได้อย่างไร? เกิดอะไรขึ้นภายใน 12 ปี? คำตอบเร็วๆ คือ การมีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกหลากหลายมากขึ้น และการมีสถานีชาร์จจำนวนมากมายในประเทศ
ปรากฎการณ์แรกค่อนข้างชัดเจน ในยุคแรกๆ รถยนต์ไฟฟ้าที่มีให้เลือกแทบจะมีแต่ Tesla รุ่นต่างๆ เท่านั้น แต่ต่อมาแบรนด์รถยนต์ดั้งเดิมจนถึงแบรนด์จีนใหม่ๆ มีให้เลือกหลากหลายรวมกว่า 150 รุ่น ซึ่งเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านี้ที่ตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดมีไม่ถึง 10 รุ่น ก็จะเห็นเลยว่าผู้บริโภคมีตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นมหาศาล
อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์แรกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกดังที่เราก็เห็น แต่สิ่งที่เราไม่เห็น คือ ปรากฏการณ์ที่สอง เรื่องการขยายตัวของสถานีชาร์จ
นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าถึง 30,000 สถานีทั่วประเทศ ถ้าเทียบกับสัดส่วนประชากร นอร์เวย์เป็นชาติยุโรปที่มีสถานีชาร์จต่อประชากรเป็นรองแค่เนเธอร์แลนด์เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นก็ถือว่าจำนวนสถานีชาร์จสูงมากๆ และกระจายไปทั่วประเทศ
สองปัจจัยใหม่นี้ พอประสานเข้ากับพวกมาตรการภาษีและการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีมาก่อนแล้ว สุดท้ายเลยทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในนอร์เวย์นั้นก้าวกระโดดมาก และทำให้รถยนต์ในนอร์เวย์ที่ขายในปี 2024 ถึง 90% เป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างที่ว่ามา และประเด็นสำคัญก็คือ นี่เป็นตัวเลขที่สูงยิ่งกว่าจีนที่ในปี 2024 ที่รถยนต์ที่ขายในปี 2024 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 40% ซึ่งก็ถือว่าสูง แต่เมื่อเทียบกับนอร์เวย์ก็ยังต่ำกว่ามาก
นี่เลยทำให้นอร์เวย์เป็น “แบบอย่าง” สำคัญสำหรับประเทศสหภาพยุโรปต่างๆ ที่ต้องการยุติการขายรถยนต์ใช้น้ำมันภายในปี 2035 รวมถึงชาติต่างๆ ที่ลงนามใน “คำประกาศกลาสโกว์” ที่ต้องยุติการขายรถยนต์ใช้น้ำมันในปี 2040
ในทางปฏิบัติ ปี 2025 นี้ นอร์เวย์ตั้งใจจะเป็นชาติแรกในโลกที่ยุติการขายรถยนต์ใช้น้ำมัน ซึ่งจากสถิติปี 2024 ก็ชัดเจนว่าไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม แต่ประเด็นที่เล่ามาทั้งหมดก็คือ กว่าจะมาถึงจุดนี้ นอร์เวย์มีพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดที่มั่นคงมาตลอด มีมาตรการภาษีและกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก่อนที่ Tesla ตั้งบริษัทด้วยซ้ำ ซึ่งพอสิ่งพวกนี้พร้อม รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีให้เลือกหลากหลายในท้องตลาด รัฐก็เริ่มหนุนให้มีการสร้างสถานีชาร์จเพิ่มให้มากเพียงพอกับรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพอถึงจุดนึง พอคนเริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากพอ คนก็จะ "เลือก" เองที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบที่รัฐไม่ต้องไปบังคับอะไรทั้งนั้น
อ้างอิง
Why 90% of cars sold in Norway are electric: VAT exemptions, free tolls and taxes on combustion vehicles
In Norway, nearly all new cars sold in 2024 were fully electric
China's EV Sales Soar 40 Percent Amid Gasoline Plunge
Electric car use by country
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน