ในสังคมผู้สูงอายุ ประเด็นด้านหนึ่งที่คนสนใจก็คือ รัฐสวัสดิการ จะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคที่ประชากรวัยทำงานลดลงๆ ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นชาติที่เป็น "แบบเรียน" ให้กับทุกชาติ เพราะเป็นชาติที่ประชากรแก่สุด และเป็นชาติที่ประชากรลดลงต่อเนื่องมากว่า 15 ปีแล้ว
ด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นคนญี่ปุ่นยังยืนยันจะทำงานต่อไปหลังวัย "เกษียณ" ซึ่งเหตุผลไปดูจริงๆ ก็ไม่ใช่เพราะคนญี่ปุ่นขยันขันแข็งหรือบ้างานอะไร แต่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีเงินเกษียณไม่พอใช้แบบคนแก่ในประเทศอื่นๆ เลยทำงานต่อ และพวกบริษัทญี่ปุ่นก็มีโปรแกรมจะยืดวันเวลาเกษียณเพียบพร้อม ดังนั้นทุกอย่างก็ลงตัว
แต่อีกด้าน เราก็น่าจะเคยได้ยินว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทำงานหนักมากสมฉายา "สัตว์เศรษฐกิจ" ซึ่งถ้าเราจินตนาการเป็นตัวเอง เราคงจะไม่มีวันจะยอมทำงานต่อถ้าเราเลือกจะเกษียณได้ โดยเฉพาะถ้าหน้าที่การงานเราดีระดับที่บำนาญผู้สูงอายุแห่งชาติบวกกับบำนาญบริษัท มันสร้างกระแสเงินสดต่อเดือนรวมกันพอให้เราใช้ประทังชีวิตได้
คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็คิดแบบนั้น แต่ปัญหาคือเมื่อเกษียณ ยังไง "กำลังซื้อ" ก็ลด เงินบำนาญยังไงก็น้อยกว่าเงินเดือน และทางเลือกของคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ต่างจากคนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่ "ตัวเลือก" ที่ต่างออกไปจากการอยู่อย่างสมถะในประเทศตัวเอง ก็คือ การไปเกษียณในประเทศที่ค่าครองชีพต่ำกว่า
คำถาม คือ คนญี่ปุ่นไปไหน?
บางคนก็อาจคิดว่าคนญี่ปุ่นที่คิดแบบนี้ส่วนใหญ่จะมาอยู่ "เชียงใหม่" บ้านเรา ซึ่งในแง่หนึ่งก็เกือบถูก เพราะเมืองไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในการเกษียณของคนญี่ปุ่นจริงๆ แต่ที่จริงแล้วประเทศอันดับ 1 ที่คนญี่ปุ่นชอบมาเกษียณ คือ มาเลเซีย
หลายคนอาจประหลาดใจที่คนญี่ปุ่นมาเกษียณที่มาเลเซีย จริงๆ แล้วมาเลเซียเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับคนเกษียณในระดับเดียวกับไทย (อยู่ใน Top 10 ของ Global Retirement Index 2025 ของนิตยสาร International Living เหมือนกัน) ว่ากันตรงๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นภูมิอากาศไปจนถึงค่าครองชีพด้านต่างๆ ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก คือ สองชาติล้วนอากาศอบอุ่น มีค่าครองชีพที่ต่ำ แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ต่ำตามค่าครองชีพ
อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ระยะทางจากประเทศต้นทาง ซึ่งสำหรับชาวญี่ปุ่น ทั้งมาเลเซียและไทยถือว่าอยู่ใกล้มาก และมีสายการบินโลว์คอสต์บินมากมายด้วย ดังนั้น การเดินทาง "กลับบ้าน" ทั้งสะดวกและย่อมเยา ไม่ได้ต่างจากค่าครองชีพ ทำให้ทั้งมาเลเซียและไทยดึงดูดชาวญี่ปุ่นมากกว่าพวกชาติแถบอเมริกากลาง ที่จริงๆ หลายชาติถือว่าอากาศดีและค่าครองชีพถูกเหมือนกัน แต่การเดินทางไกลกว่ามาก (กลับกัน ชาติพวกนี้ดึงดูดคนอเมริกาเพราะหลายชาตินั่งเครื่องบินไปไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง)
ประเทศที่มีอากาศดี ค่าครองชีพถูก คุณภาพชีวิตดีตามสมควร และไม่ห่างใกลมาก ปกติคนเกษียณชอบอยู่แล้ว ประเทศไทยอาจได้เปรียบมาเลเซียด้านการท่องเที่ยวทางเพศและชีวิตกลางคืนที่หวือหวาระดับโลก แต่ถ้าเป็นคนที่ต้องการเกษียณแบบสงบๆ มิติพวกนี้ไม่ใช่ข้อได้เปรียบ ซึ่งก็เข้าใจได้สำหรับชาวญี่ปุ่นที่เวลาเลือกเกษียณเมืองไทยยังนิยมไปเมือง "สโลว์ไลฟ์" อย่างเชียงใหม่เลย
แต่ประเด็น คือ มาเลเซียฮิตกว่าไทยสำหรับคนญี่ปุ่นจริงๆ โดยองค์กรที่ทำเรื่องการเกษียณต่างแดนของชาวญี่ปุ่นอย่าง Long Stay Foundation จัดอันดับประเทศที่คนญี่ปุ่นนิยมเกษียณที่สุดในปี 2019 ก็พบว่ามาเลเซียเป็นที่ 1 รองลงมาถึงจะเป็นไทย
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? หลักๆ ความได้เปรียบของมาเลเซียที่เหนือกว่าไทยสำหรับคนญี่ปุ่นที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณ น่าจะต้องแบ่งเป็นสองปัจจัย ปัจจัยแรก คือ รากฐานของชุมชนคนญี่ปุ่นที่เข้มแข็งมานาน อีกปัจจัยคือเรื่องวีซ่าที่รัฐบาลมาเลเซียก็ผลักดันมาก
ปัจจัยแรก จริงๆ คนญี่ปุ่นมาอยู่ในมาเลเซียจำนวนมากตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้ายึดพื้นที่ของมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งยุคนั้นคือการยึดจาก "อังกฤษ" โดยหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยกลับประเทศ แต่อีกไม่น้อยปักหลักและสู้เพื่อ "เอกราช" ของมาเลเซีย ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ปักหลักอยู่ยาวๆ มาตั้งแต่มาเลยเซียก่อตั้งประเทศมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ในมาเลเซียมีชุมชนคนเชื้อสายญี่ปุ่นมานานแบบค่อนศตวรรษ โดยคนเหล่านี้รุ่นลูกก็เป็นคนดังในมาเลเซียตั้งแต่นักการเมืองถึงดารามากมาย และการมีอยู่ของชุมชนญี่ปุ่นในมาเลเซียนี้ ก็ทำให้มีโรงเรียนญี่ปุ่นในมาเลเซียมากมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นการวางรากฐานที่ยาวนานให้คนญี่ปุ่นรุ่นหลังไปเกษียณที่มาเลยเซียได้อย่างไม่ขัดเขิน
ปัจจัยที่สอง รัฐบาลมาเลเซียมีโปรแกรมวีซ่าระยะยาวชื่อ Malaysia My Second Home (MM2H) ซึ่งตอนแรกเป็นโครงการแนว "วีซ่าทองคำ" กระตุ้นให้ต่างชาติมา "ลงทุน" ด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศโดยเอาสิทธิในการอยู่ยาวๆ มาแลก แต่ตอนหลังโครงการแบบนี้ขยายไปเป็นการกระตุ้นให้คนเกษียณมาอยู่ยาวๆ 5-10 ปี โดยมีเงื่อนไขน้อยกว่า ซึ่งก็ไม่แปลกที่คนญี่ปุ่นจะมาสมัครผ่านโครงการนี้กันเยอะ
สำหรับคนญี่ปุ่นเอง พวกเค้าจะอธิบายว่ามาเลเซียมีค่าครองชีพเพียง 1 ใน 3 ของญี่ปุ่นเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหารหรือที่พักอาศัย ประเมินกันว่าถ้าเป็นคู่สามีภรรยา มีเงินรวมกันเพียงประมาณ 60,000 บาท ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอย่างกัวลาลัมเปอร์ได้สบายๆ แบบไม่ต้องประหยัดอะไร ซึ่งถ้าอยากถูกกว่านั้นก็มีพวกเมืองชายทะเลอีกมากมายให้เลือก เพราะเมืองพวกนี้มันไม่ใช่ "เมืองท่องเที่ยว" ดังนั้น ที่พักอาศัยและอาหารการกินราคาถูกไปหมด (ถ้าเป็นในไทยก็จะคล้ายๆ พวก "บางแสน") หรือถ้าจะว่ากันตรงๆ ก็คือ สำหรับคนญี่ปุ่น ทั้งรายได้และเงินเก็บคนเกษียณรวมๆ มันไม่มากพอจะซื้อคอนโดในไทยตามเมืองท่องเที่ยวที่ราคาดุเดือดสุดๆ แต่มันพอจะซื้อพวกคอนโดในเมืองชายทะเลที่มาเลเซียได้สบายๆ
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างประเด็นคนญี่ปุ่นชอบไปเกษียณที่เมืองรองที่มาเลย์ที่ปรากฏระดับป็อปคัลเจอร์เลยก็คือ ตัวละครที่คนชื่นชอบหนึ่งในอนิเมะที่ดังมากๆ ยุคปัจจุบันอย่าง Jujutsu Kaisen มีการพูดก่อนตายว่า อยากจะไปเกษียณสักทีและ "ไปที่กวนตันก็น่าจะดี" (Kuantan Would Be Nice) ซึ่งสำหรับคนไทย แม้ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ก็คงน้อยคนที่จะรู้จักเมืองนี้ แต่สำหรับคนญี่ปุ่น เมืองกวนตันแห่งรัฐปะหังคือ เมืองที่คนญี่ปุ่นมองว่า "น่าไปเกษียณ" เพราะเป็นเมืองชายทะเลเงียบๆ ที่หาดทรายสวย อากาศดี และที่สำคัญคือค่าครองชีพคือยิ่งถูกกว่ากัวลาลัมเปอร์ไปอีก
มันจะเป็นฟีลแบบคนญี่ปุ่นเลือกจะไปเกษียณที่เชียงใหม่มากกว่ากรุงเทพฯ เพราะชีวิตที่นั่นช้ากว่าและทุกอย่างถูกกว่า และเหตุผลที่ตัวละครใน Jujutsu Kaisen พูดถึงเมืองนี้แทนที่จะบอกว่าอยากไปเชียงใหม่ ก็นั่นแหละครับ เหตุผลคือ ในหมู่คนญี่ปุ่นที่คิดจะไปเกษียณต่างประเทศ เมืองชายทะเลเล็กๆ ของมาเลเซียเมืองนี้มันดังกว่าในด้านนี้
อ้างอิง
I spoke to 100 Japanese seniors, and learnt the secret to a good retirement is a good working life
Japan’s elderly in Malaysia, like shooting stars in the twilight
Why Malaysia is The No. 1 Choice for Retirement Among Japanese People
Malaysia’s MM2H visa shake-up prompts cautious welcome – and questions