Skip to main content

 

ในช่วง "เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่" ครอบครัวส่วนใหญ่ หรือบรรดาเพื่อนฝูงมักมาพบปะ และใช้เวลาอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาที่ดี เพื่อสร้างความทรงจำที่ดีๆ ร่วมกัน

แต่ทว่า ช่วงเวลาสำคัญของปีที่ทุกคนมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันนี้ มักถูกหน้าจอโทรศัพท์มือถือแย่งชิงเอาความสนใจของสมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนๆ ในกลุ่มไป จนอาจทำให้ช่วงเวลาที่ดีนั้นกร่อยหรือจืดสนิท

มีงานศึกษาหลายชิ้น พบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือที่มากเกินระหว่างการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวนั้น สร้างความเหินห่างทางอารมณ์ความรู้สึก และทำให้เกิดความรู้สึกเหงามากขึ้น

งานวิจัยในปี 2020 พบว่า มีคนราวร้อยละ 40 ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างเวลาของครอบครัว และมากกว่าร้อยละ 15 ที่ใช้มือถือระหว่างการกินมื้อค่ำร่วมกัน ซึ่งมีผลต่อการพูดคุยสนทนากับคนรอบข้างและคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี  

ฮานซ่า บาร์กาวา กุมารแพทย์และโฆษกศูนย์สื่อและสุขภาพจิตที่  American Academy of Pediatrics ในแอตแลนตา บอกว่า หน้าจออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เหล่านี้สามารถเป็นกำแพงกั้นการเชื่อมต่อที่แท้จริงของครอบครัวในช่วงเทศกาลวันหยุดได้

เพื่อให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพมากขึ้นในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้ คุณหมอฮานซ่ามีข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างมีขอบเขตและดีต่อช่วงเวลาสำคัญนี้


เริ่มบทสนทนากับคนในครอบครัว

เมื่อสมาชิกครอบครัวมาอยู่พร้อมหน้า ให้เริ่มจากการนั่งลงและเปิดบทสนทนากับคนในครอบครัว พูดคุยถึงความสำคัญของการใช้เวลาร่วมกันโดยที่ไม่หมกมุ่นอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้พลาดโอกาสการคุยเรื่องราวสนุกสนานต่างๆ บนโต๊ะอาหารค่ำ อาจคุยเรื่องตลกกับญาติๆ หรือรับฟังคำแนะนำ เรื่องราวประสบการณ์ชีวิตจากคุณย่าคุณยาย บทสนทนาที่เรียบง่ายนี้สำคัญในการสร้างบรรยากาศของเทศกาลส่งท้ายปี


กติกาที่ทุกคนเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ

หมอฮานซ่า เสนอให้ตั้งความคาดหวังร่วมกันในช่วงเวลาที่จะไม่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น ระหว่างการทานอาหารร่วมกัน ระหว่างที่คนในครอบครัวเดินเล่นด้วยกัน หรือช่วงเวลาแกะห่อของขวัญ และแนะนำว่า การตั้งกฎเอาไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันหยุดเทศกาลจะทำให้ทุกคนทำตามได้ง่ายกว่าการมาตั้งกฎเอาทีหลัง


มีแนวทางการจัดการตามช่วงวัย

เด็กๆ อาจต้องใช้ความเข้มงวดกว่า เช่น ในช่วงเวลาพิเศษจะห้ามจับโทรศัพท์มือถือ ส่วนวัยรุ่น อาจใช้การพูดคุยต่อรองให้โดยพวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจ จะช่วยไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนได้


เป็นแบบอย่างที่ดี

เด็กมักเป็นภาพสะท้อนพฤติกรรมต่างๆ ของพ่อแม่ แต่พ่อแม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้มือถือช่วงเทศกาลวันหยุดได้ เช่น การเอาโทรศัพท์มือถือไปไว้อีกห้องหนึ่งระหว่างที่ครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกัน หรือรับประทานอาหารร่วมกัน คุณหมอฮานซาบอกว่า ถ้าผู้ใหญ่ใช้มือถือได้ แต่เด็กๆ ถูกห้าม จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมขึ้นได้


ทำกิจกรรมที่สมาชิกครอบครัวมีส่วนร่วม

คุณหมอเสนอให้วางแผนมีกิจกรรมที่คนในครอบครัวสามารถทำร่วมกัน เพื่อแทนที่การใช้เวลากับหน้าจอมือถือ เช่น การดูภาพยนตร์ร่วมกัน การทำขนม หรือเล่นบอร์ดเกม มีการศึกษาที่พบว่า เด็กช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่นที่ไม่ใช้มือถือ 2 ถึง 3 วัน มีพัฒนาการเรื่องความสามารถในการอ่านอารมณ์ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมสามารถลดเวลาการอยู่กับหน้าจอมือถือได้


เมื่อมีญาติมาเยี่ยม

เมื่อญาติๆ มาเยี่ยม ควรทำให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในช่วงเวลาของครอบครัวว่า ช่วงเวลาไหนที่จะไม่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ และพื้นที่ไหนของบ้านที่ปลอดจากโทรศัพท์มือถือ และต้องปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งกับพ่อแม่และเด็กๆ


ผ่อนปรนให้มีช่วงเวลาอยู่กับหน้าจอได้บ้าง

คุณหมอฮานซ่าบอกว่า การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือโดยเด็ดขาด จะทำให้สมาชิกครอบครัวเกิดความรู้สึกถูกตัดขาดจากโลก และเสนอว่า ต้องพยายามให้มีสมดุล และมีช่วงเวลาที่ใช้เวลากับหน้าจอได้บ้าง เพราะเป้าหมายคือการจำกัดการใช้มือถือในระหว่างช่วงเวลาเฉลิมฉลองของครอบครัว ไม่ใช่การห้ามโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด


หมอฮานซ่ากล่าวว่า ช่วงเทศกาลเป็นโอกาสที่คนจะสัมพันธ์กัน สร้างเสียงหัวเราะ และความทรงจำต่างๆ แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าแต่ละคนติดหนึบอยู่กับแต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือของตัวเอง


ที่มา
8 tips to limit phone use during the holidays and spend quality time with family instead