ในขณะที่หลายประเทศเริ่มตื่นตัวในการออกมาตรการปกป้องเงินของประชาชน จากการถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพออนไลน์ ล่าสุด The Global Anti-Scam Alliance (GASA) องค์กรรณรงค์ความปลอดภัยทางการเงินจากการหลอกลวงออนไลน์ เผยผลการศึกษา พบว่า ปี 2024 คนทั่วโลกสูยเงินไปกับการหลอกลวงของบรรดาสแกมเมอร์รวมมากกว่า 1.03 ล้านล้านดอลลาร์
รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย The Global Anti-Scam Alliance และ Feedzai บริษัทพัฒนาแมชชีนเลิร์นนิงเพื่อตรวจจับการถ่ายโอนเงินจากกระบวนการสแกม เผยว่า ในปี 2024 คนทั่วโลกต้องสูญเงินไปกับการหลอกลวงของสแกมเมอร์รวมแล้วมากกว่า 1.03 ล้านล้านดอลลาร์ โดยครึ่งหนึ่งเจอการหลอกลวงดังกล่าวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ขณะที่มีคนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบแบบรายวัน เช่น ที่บราซิล เกาหลีใต้ และฮ่องกง แต่มีบางประเทศมีรายงานว่า มีการสแกมลดต่ำลง เช่น จีน เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย
จอร์ริจ อับราฮัม ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการของ GASA กล่าวว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับการที่คนทั่วโลกต้องเจอกับการถูกขโมยเงินเป็นจำนวนถึง 1.03 ล้านล้านดอลลาร์โดยพวกสแกมเมอร์
รายงานเผยว่า ชาวอเมริกันต้องสูญเสียเงินจากการถูกสแกมเมอร์หลอกเฉลี่ยต่อคน 3,520 ดอลลาร์ หรือมากกว่าคนละ 1.21 แสนบาท ขณะที่ประเทศยากจนอย่างปากีสถาน สัดส่วนของเงินที่ถูกสแกมคิดเป็นร้อยละ 4.2 ของจีดีพี เคนยา ร้อยละ 3.6 ของจีดีพี และแอฟริกาใต้ อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของจีดีพี
รายงานระบุว่า บรรดาสแกมเมอร์ยังคงหาประโยชน์จากแฟลตฟอร์มยอดนิยมต่างๆ และใช้การโทร การส่งข้อความ เป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับเหยื่อ โดย WhatsApp, Instagram และ Gmail ถูกใช้เป็นช่องทางหลักของบรรดามิจฉาชีพ โดย sms ถูกใช้มากในฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และบราซิล ขณะที่ WhatsApp มีการใช้เพิ่มมากขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก
รายงานระบุด้วยว่า เทคโนโลยี “เอไอ” และโซเชียลมีเดีย เป็นตัวผลักดันให้เกิดการหลอกลวงเงินในรูปแบบใหม่ๆ โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับการหลอกลวงเงินจากผู้คน รายงานระบุว่า มีประเทศที่ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงการเข้ามาของเอไอในการทำหน้าที่โอเปเรเตอร์แทนเหล่ามิจฉาชีพ เช่น ไทย มาเลเซีย และญี่ปุ่น
นอกเหนือไปจากการสูญเงินแล้ว การสแกมยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อเหยื่ออีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปคนที่ตกเหยื่อจะเกิดความรู้สึกเปราะบาง หวาดกลัว และสูญเสียความเชื่อมั่น รายงานเผยว่า ประเทศที่เหยื่อได้รับผลกระทบทางจิตใจมากที่สุด ได้แก่ เคนยา ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้ ขณะที่เหยื่อในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีผลกระทบทางใจต่ำกว่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและการรับรู้ของเหยื่อที่ต่างกัน
รายงานยังระบุถึงสาเหตุของการที่บางภูมิภาคมีอัตราการสแกมและการสูญเสียมากกว่าที่อื่นๆ เช่น เคนยาและไนจีเรีย การถูกหลอกส่วนใหญ่เป็นเรื่องการชอปปิ้งออนไลน์ ส่วนการหลอกลวงเรื่องการลงทุนมีความรุนแรงมากในไนจีเรีย ขณะที่เกาหลีใต้และเวียดนาม มีอัตราการถูกหลอกลวงในเรื่องชอปปิ้งออนไลน์ต่ำ ส่วนออสเตรเลียและเม็กซิโก มีผู้ตกเป็นเหยื่อของสแกมเมอร์สูงถึงร้อยละ 25
รายงานเผยด้วยว่า มีคนทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 67 ที่เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองว่า สามารถตรวจรู้ว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่ ประเทศที่ประชาชนมั่นใจในความสามารถตรวจจับการสแกมได้รวมถึง จีน (ร้อยละ 84) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 72) ในขณะสัดส่วนนี้ในญี่ปุ่นมีน้อยกว่า
ส่วนในเรื่องการเยียวยาเหยื่อ รายงานเผยว่า ทั่วโลกมีผู้เสียหายเพียงร้อยละ 4 ที่ได้รับการเยียวยา โดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีการเยียวยาในอัตราที่สูงที่สุด แต่ส่วนอื่นๆ ของโลกยังอยู่ในระดับต่ำ และเหยื่อจากการสแกมไม่ได้รับการช่วยเหลือ รายงานระบุว่า ข้อมูลนี้เน้นย้ำว่า จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการปกป้องประชาชนจากการถูกหลอก และมีกระบวนการฟื้นฟูทางการเงินที่มีประสิทธิมากกว่าที่เป็นอยู่
นูโน เซบาสเตา ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Feedzai ระบุว่า บทบาทของสถาบันการเงินและเทคโนโลยี จะเป็นตัวช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้คน และเตือนว่า การใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ
รายงานยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในการจัดการปัญหานี้ในระดับโลก และเพิ่มความตระหนักให้กับประชาชน รวมทั้งมีกระบวนการเยียวยาทางการเงินที่เข้มแข็ง และเสนอให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ลงทุนกับเครื่องมือเอไอและแมชชีนเลิร์นนิงในการตรวจจับกิจกรรมที่ไม่ปรกติ และปกป้องลูกค้าของตัวเองแบบเรียลไทม์
“ธนาคารและผู้ให้บริการชำระเงิน เป็นขั้นสุดท้ายของวงจรการสแกมที่จะทำให้การโยกย้ายเงินโดยผิดกฎหมายสำเร็จหรือล้มเหลว ความต่างที่สำคัญยังมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งแนวทางการป้องกันการสแกม ซึ่งเป็นความพยายามที่ยากในระดับโลก” ซีอีโอ Feedzai กล่าว
รายงานยังกังวลถึงเอไอที่ผ่านการเรียนรู้และสามารถสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ได้ (Generative AI) ว่า จะกลายมาเป็นเครื่องมือของพวกมิจฉาชีพ เนื่องจากเอไอสามารถสร้างภาพที่สมจริง รวมถึงบทพูด คลิปวิดีโอ และเสียงต่างๆ ได้ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งจะทำให้สแกมเมอร์สามารถมีเครื่องมือหลอกลวงเงินจากเหยื่อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธนาคารและบริษัทเทคต่างๆ สามารถควบคุมความเปราะบางเหล่านี้ โดยใช้รูปแบบการจดจำเพื่อระบุตัวตนและสกัดกั้นการหลอกเงินที่เอไอสร้างขึ้น ก่อนที่การหลอกลวงเงินจะทำสำเร็จ
“เราจึงต้องต่อสู้กับอาชญากรรมเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะคนพวกนี้กร่อนเซาะระบบของเรา และเป็นต้นเหตุที่ใหญ่โตมโหฬารที่สร้างความเสียหายให้กับบุคคลและเศรษฐกิจ” จอร์ริจ ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการของ GASA กล่าว
อ้างอิง
International Scammers Steal Over $1 Trillion in 12 Months in Global State of Scams Report 2024