มีการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจในการกำจัดขยะพลาสติก เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า มีหนอนตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งในแอฟริกาที่สามารถกินพลาสติกเป็นอาหารได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบสปีชีส์ของแมลงพื้นเมืองในแอฟริกา ที่มีความสามารถในการกินและย่อยสลายพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน
หลายประเทศในแอฟริกากำลังเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกขั้นที่วิกฤต และเผชิญความท้าทายในการรับมือกับผลิตภัณฑ์พลาสติกนำเข้า รวมถึงไม่มีการนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
โพลีสไตรีน หรือที่รู้จักทั่วไปว่า "สไตโรโฟม" มีคุณสมบัติทนต่อการแตกหักและทนทาน จึงถูกนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง การกำจัดด้วยวิธีในปัจจุบันโดยกระบวนการความร้อนและเคมีนั้นสร้างมลพิษและมีราคาแพง จึงเป็นที่มาของการที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการสำรวจหาวิธีทางชีวภาพในการจัดการกับขยะพลาสติกชนิดนี้
ฟาติยา คามิส นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์นานาชาติสรีรวิทยาแมลงและนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย พบว่า หนอนตัวอ่อนของด้วงกระเบื้องเคนยา มีความสามารถกินและย่อยพลาสติกประเภทโพลีสไตรีนได้ โดยระยะเวลาที่เป็นตัวอ่อนจะอยู่ที่ราว 8 ถึง 10 สัปดาห์
ในการวิจัย นักวิทยาศาสตร์ได้นำแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของด้วงกระเบื้องเคนยามาทดสอบด้วย เพื่อคัดแยกแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายพลาสติก
นักวิจัยได้ทำการทดลองเป็นเวลาหลายเดือน โดยแบ่งกลุ่มทดลอง กลุ่มแรกให้โพลีสไตรีนเป็นอาหารกับหนอนตัวอ่อนเพียงอย่างเดียว กับอีกกลุ่มหนึ่ง มีการให้โพลีสไตรีนและรำข้าวเป็นอาหาร
นักวิจัยพบว่า หนอนตัวอ่อนที่กินโพลีสไตรีนกับรำข้าว มีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าตัวอ่อนที่กินโพลีสไตรีนอย่างเดียว และยังมีประสิทธิในการกินโพลีสไตรีนสูงกว่าเมื่อเทียบกับหนอนตัวอ่อนที่กินแต่โพลีสไตรีน
ในการวิเคราะห์ลำไส้ของหนอนตัวอ่อน นักวิจัยพบว่า จุลินทรีย์ในลำไส้ของหนอนมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายพลาสติก ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยสามารถบ่งบอกได้ถึงแบคทีเรียและเอ็นไซม์ที่สามารถควบคุมการย่อยพลาสติกได้
ในขณะที่ แมลงเริ่มกินพลาสติก แบคทีเรียในลำไส้จะทำการย่อยสลายพลาสติก ข้อค้นพบนี้สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า แมลงมีความสามารถย่อยสลายพลาสติกได้ เนื่องจากแบคทีเรียในลำไส้ของพวกมันสามารถผลิตเอ็นไซม์ที่ย่อยสลายโพลีเมอร์พลาสติกได้ ซึ่งการค้นพบนี้ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของการแยกแบคทีเรียรวมถึงเอ็นไซม์ที่มันสร้างขึ้นออกมา และนำไปใช้จัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้
ขณะนี้ มีการค้นพบสายพันธุ์ของแมลงบางชนิดที่สามารถกินพลาสติกได้ เช่น หนอนตัวอ่อนของด้วงหนอนนก และหนอนนกยักษ์ หรือ superworms ซึ่งมีแบคทีเรียที่ย่อยสลายพลาสติกได้อยู่ในลำไส้ นักวิจัยระบุว่า ในอนาคตจะมีการสำรวจเพิ่มเติมถึงความสามารถของหนอนตัวอ่อนแมลงในการกำจัดพลาสติกชนิดอื่นๆ
ในการศึกษาเพื่อหาวิธีการย่อยสลายพลาสติกด้วยวิธีธรรมชาติ นักวิจัยหวังที่จะสามารถสร้างเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยกำจัดขยะพลาสติกได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อย่างเช่น การใช้แมลงที่กินพลาสติกได้ หรือการใช้จุลินทรีย์และเอ็นไซม์ที่พบในลำไส้หนอนตัวอ่อนแมลง ซึ่งไม่เป็นอันตรายสิ่งแวดล้อม และจะเป็นวิธีกำจัดขยะพลาสติกในสเกลใหญ่ที่จัดการได้ง่ายกว่า
ที่มา
Plastic Eating Insect Discovered in Kenya Is The First of Its Kind in Africa