“ผู้หญิงวัยทำงาน” รุ่นมิลเลนเนียลของจีนที่อายุล่วงเข้าสู่เลข 3 ต่างกำลังรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ชีวิตของพวกเธอไม่มีความมั่นคง นอกจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวแล้ว ยังมีเรื่องของการถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากอายุและเพศ จนเกิดคำเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น “คำสาปอายุ 35”
เอมิลี่ (นามแฝง) อดีตพนักงานฝ่ายบุคคล เคยคิดว่าเธอจะทำงานบริษัทเดียวไปจนกระทั่งเกษียณ แต่หลังจากที่เธอทำงานกับบริษัทแห่งนี้มาเป็นเวลา 11 ปี และอายุของเธอล่วงเข้าสู่วัย 35 เธอถูกให้ออก ทั้งที่ไม่เคยมีปัญหาใดๆ ในเรื่องการทำงาน
มีคนอีกมากมายในจีนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ที่ทำงานที่เหยียดเรื่องอายุ จะทำให้พนักงานที่เข้าสู่วัย 30, 40 และ 50 ค่อยๆ หมดไปจากที่ทำงาน
โดยทั่วไป นายจ้างจีนมักเลือกคนทำงานที่อายุน้อย ด้วยเหตุผลว่า จูงใจได้ง่ายและจ่ายค่าจ้างถูกกว่า ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “คำสาปอายุ 35” แพร่กระจายไปทั่ว เมื่อประกอบกับเศรษฐกิจที่ซึมเซาของจีนและปัญหาการว่างงาน ปรากฏการณ์นี้ได้นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในบรรดาคนรุ่นมิลเลนเนียลของจีน
สำนักข่าว ABC ระบุว่า มีคนรุ่นมิลเลนเนียลในจีนจำนวนมากจากทั่วประเทศที่บอกเล่าเรื่องราวลักษณะนี้กับสื่อตะวันตก โดยขอปกปิดตัวตน เนื่องจากความกลัวที่จะถูกรัฐบาลจีนเล่นงาน
เบื้องหลัง “คำสาปอายุ 35”
ที่มาของ “คำสาปอายุ 35” เริ่มจากปี 2019 รัฐบาลจีนมีนโยบายเปิดรับคนที่จะมาบรรจุเป็นข้าราชการใหม่ ต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี จากนั้นภาคเอกชนพลอยดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลไปด้วย โดยตำแหน่งงานจำนวนมากมีการจำกัดอายุผู้สมัครไว้ที่ไม่เกิน 35 ปี
ดร.หวัง ปัน รองศาสตราจารย์ด้านจีนและเอเชียศึกษา จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้สมัครงานที่อายุน้อยมักถูกมองว่า จูงใจได้ง่ายกว่าพนักงานที่อายุมาก และค่าจ้างก็ต่ำกว่า ส่วนพนักงานที่ไม่ได้รับการโปรโมทให้ขึ้นมาทำงานระดับบริหารตอนอายุเข้า 35 ปี มักถูกมองว่า เป็นพวกที่ไม่ประสบความสำเร็จ และจะกลายเป็นส่วนเกินซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของบริษัท
“พนักงานที่อายุน้อยมักถูกมองว่าเป็นทรัพยากรบุคคล แต่พอพวกเขาอายุเลย 35 ขึ้นไปแล้ว กลับถูกมองว่า เป็นต้นทุนด้านบุคลากร” ดร.หวัง กล่าว
ที่สำคัญนายจ้างมองว่า พนักงานที่อายุน้อย มักไม่ค่อยแสดงความไม่พอใจต่อรูปการทำงานแบบ “996” หรือ การทำงานแบบทรหด ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของการทำงานในบริษัทเทค
“สำหรับภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ อย่างบริษัทเทคต่างๆ พวกนั้นต้องการคนที่เรียนรู้ไว สู้งานหนัก และมีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนประสบการณ์ทำงานไม่ค่อยสลักสำคัญต่อพวกเขาสักเท่าไหร่” ดร.หวัง กล่าว
ผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติ
เอมิลี่เล่าว่า หลังจากที่เธอถูกให้ออกจากงาน เธอลงทะเบียนเพื่อหางานตามแอปต่างๆ และส่งเรซูเม่ไป แต่ถูกปฏิเสธหรือไม่ก็ไม่ก็เงียบหาย ไม่มีการตอบอะไรกลับมา
พนักงานที่ถูกให้ออกจากงาน มักเผชิญความยากลำบากในการหางานใหม่ที่มีรายได้และสถานะใกล้เคียงกับงานก่อนหน้า ซึ่งบางครั้งเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะอารมณ์ที่ดำดิ่งและอาการซึมเศร้า
หยาง ซู ในวัย 29 ปี ทำงานที่บริษัทเทคแห่งหนึ่งในปักกิ่ง เขาเห็นด้วยว่า คนทำงานมักรู้สึกไม่มั่นคงเมื่ออายุล่วงเข้า 35 แต่เขามองว่า คำสาปอายุ 35 เป็นการพูดที่เกินจริงไป เพราะที่ทำงานของเขา 1 ใน 5 ของพนักงาน เป็นคนอายุกลาง 30
หยางบอกว่า พนักงานที่อายุมากมีความเสี่ยงที่จะเสียตำแหน่งงานไป ถ้าหยุดที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในขณะที่มีความต้องการเงินเดือนสูงๆ
“ผมไม่เคยวิตกเกี่ยวกับอายุ เพราะผมยังคงเรียนรู้อยู่ทุกวัน ผมตามเทคโนโลยีล่าสุดในอุตสาหกรรมของผมทัน” หยางกล่าว
มีชาวต่างชาติรายหนึ่งที่ทำงานในปักกิ่งซึ่งขอปกปิดชื่อ บอกกับสำนักข่าว ABC ว่า ชาวต่างชาติที่มาทำงานในจีนก็ได้รับผลกระทบในเรื่องอายุด้วยเช่นกัน แต่น้อยกว่าพนักงานที่เป็นคนจีน
“ในบริษัทเทคของจีน โปรแกรมเมอร์ที่อายุเกิน 35 จะถูกมองว่าอาวุโส และแม้ว่าจะเปลี่ยนไปสู่การทำงานบริหาร พวกเขาก็จะถูกแทนที่ด้วยคนที่อายุน้อยกว่าซึ่งมีค่าจ้างที่ต่ำกว่าอยู่ดี” ชาวต่างชาติผู้ปกปิดชื่อกล่าว
เขายังบอกด้วยว่า มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนจีนซึ่งฐานะทางบ้านไม่ร่ำรวย หลังอายุ 30 ไปแล้ว พวกเขาจะเริ่มรู้สึกกลัว รู้สึกไม่มั่นคง และเกิดอาการวิตกกังวล
‘คำสาป’ มีผลกับผู้หญิงจีนมากกว่าผู้ชาย
เอมิลี่บอกว่า โดยปรกติผู้หญิงจีนต้องเจอกับการเลือกปฏิบัติใน 2 เรื่อง คือ เรื่องอายุ และเพศ
โดยวัฒนธรรม ผู้หญิงจีนมักถูกคาดหวังให้รับผิดชอบดูแลครอบครัว มากกว่าการออกไปทำงานนอกบ้านจนถึงมืดค่ำ และถ้าไปสมัครงานก็มักต้องเผชิญคำถามเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนมีลูก
“ผู้หญิงอายุ 30 ที่ไม่มีลูกนั้น ง่ายต่อการถูกปัดทิ้ง เพราะแก่เกินไปสำหรับตำแหน่งงานนั้น และถ้าเธอแต่งงานแล้ว เธอก็จะถูกข้ามไปเช่นกัน นั่นเพราะมีความเสี่ยงที่หากรับเข้าทำงานแล้ว เธอจะตั้งครรภ์และมีลูก” พนักงานฝ่ายการตลาดรายหนึ่งกล่าว
“มีงานจำนวนมากที่ระบุชัดเจนว่า สำหรับผู้ชาย และหากไม่ได้ระบุไว้แต่แรก พวกเขาก็จะคัดเอาเรซูเม่ของผู้หญิงออกไปหลังจากนั้น” เอมิลี่กล่าว
ดร.หวังบอกว่า ผู้หญิงมักเป็นเป้าของการให้ออกจากงาน แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างการปรับโครงการรัฐวิสาหกิจจีนในช่วงทศวรรษที่ 1990
“เทียบกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะถูกเลิกจ้างมากกว่า รวมถึงแนวโน้มที่จะได้รับกลับเข้ามาทำงานใหม่มีน้อยกว่า เพราะผู้หญิงมีทักษะน้อยกว่า และต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่า ดังนั้น จึงมีส่วนช่วยบริษัทได้น้อยกว่า” ดร.หวังกล่าว
ล่าสุด รัฐบาลจีนเพิ่งมีการขยายอายุเกษียณออกไป เพื่อรองรับกับอัตราการเกิดที่ต่ำลงและการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย โดยกำหนดอายุเกษียณใหม่สำหรับผู้ชายจากเดิม 60 ปี ไปเป็น 63 ปี และสำหรับผู้หญิงขยับจากเดิมที่ 55 ปี ไปเป็น 58 ปี โดยทั้งนี้ให้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละภาคการจ้างงาน
จีนไม่มีกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่ออายุโดยตรง ขณะที่การทำงานในจีนเคยเป็นเหมือน “ชามข้าวเหล็ก” ที่ให้ความมั่นคงปลอดภัยกับชีวิต แต่ขณะนี้รัฐบาลจีนทำให้เกิดการแข่งขันที่มาจากคนรุ่นหนุ่มสาวที่อายุน้อย
มีการแสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์นี้บนโซเชียลมีเดียของจีน ซึ่งคอมเมนต์ที่กลายเป็นไวรัลช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขียนว่า
“ตอนที่ฉันเกิด พวกเขาบอกว่า มีคนมากเกินไปแล้ว, พอฉันมีลูก พวกเขาบอกว่า มีลูกน้อยเกินไป, พอฉันทำงาน พวกเขาบอกว่า แก่เกินไป และตอนที่ฉันเกษียณ พวกเขาบอกว่า ยังอายุน้อยเกินไป”
ที่มา
Chinese millennials struggle with age discrimination due to the 'curse of 35'