งานวิจัยทางธรณีฟิสิกส์ชิ้นใหม่ค้นพบว่า การสูบน้ำใต้ดินปริมาณมหาศาลขึ้นมาใช้ ส่งผลให้แกนเอียงและการหมุนของโลกเปลี่ยนไป ทั้งยังส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ในเกาหลีใต้ พบว่า การกระจายตัวของมวลของน้ำบนโลก เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเคลื่อนตำแหน่งของแกนเอียงของโลก โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า แกนเอียงของโลกขยับไปจากตำแหน่งเดิมราว 31.5 นิ้วภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี ขณะที่ระดับของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 0.24 นิ้ว
การศึกษานี้ ทำการวิจัยข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 1993 ที่มีการนำน้ำใต้ดินปริมาณ 2,150 กิกะตันขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคของมนุษย์
การศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ในจดหมายข่าวการวิจัยทางด้านธรณีฟิสิกส์ โดยระบุว่า การที่ตำแหน่งแกนเอียงของโลกเปลี่ยนแปลงไป และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นผลโดยตรงมาจากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้
“การศึกษาของเราพบว่า การเปลี่ยนแปลงของน้ำใต้ดินเป็นสาเหตุที่แท้จริง ที่ส่งผลกระทบใหญ่ที่สุดต่อการเคลื่อนตัวของแกนหมุนของโลก” ซอ กีวอน หัวหน้าทีมวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กล่าว
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา เคยเผยแพร่ข้อค้นพบที่คล้ายกันนี้เมื่อปี 2016 เพื่อเตือนถึงข้อเท็จจริงว่า การเปลี่ยนแปลงของน้ำใต้ดินสามารถทำให้การหมุนของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่ได้ตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงนี้
นักวิจัยทำการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำใต้ดิน เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
“ในฐานะของคนที่อาศัยอยู่บนโลก ผมทั้งรู้สึกกังวลและประหลาดใจที่พบว่า การสูบน้ำใต้ดินเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล” ซอกล่าว
ที่มา
Scientist 'concerned and surprised' after planet Earth 'tilted 31.5 inches'