Skip to main content

 

อินโดนีเซีย กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาใช้ “นม” ที่ผลิตจาก “ปลา” มาใช้ในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน เพื่อชดเชยกับนมวัวที่กำลังขาดตลาด โดยจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า

สื่ออินโดนีเซียรายงานว่า โครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนของประธานาธิบดี ปราโบโว ซูเบียนโต ตั้งเป้าที่จะจัดเตรียมอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนทุกวัน เป็นมูลค่าราว 71 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย โดยนมที่ผลิตจากปลาจะเริ่มนำไปเพิ่มในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนในปีหน้า

ขณะที่ความสามารถในการผลิตน้ำนมวัวภายในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 22.7 ของความต้องการบริโภค ส่วนที่เหลือจึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในขณะนี้กำลังมีการพิจารณาถึงการใช้นมจากปลาเพื่อนำมาชดเชยส่วนที่ขาดไป

สำหรับการผลิตนมจากปลานั้น ชาวประมงอินโดนีเซีย จะนำ “ปลาแป้น” (ponyfish) ที่จับมาได้ส่งไปยังโรงงานแปรรูปวันละ 2 ครั้ง ซึ่งโรงงานจะแปรรูปออกมาเป็นผงแป้งโปรตีนละเอียดสีขาว จากนั้นจึงนำไปแต่งรสหวานและกลิ่น เช่น ผงสตรอเบอรี หรือผงชอกโกแล็ต

“รสชาติจะเหมือนกับนมทั่วไปเลย” มาฟาติฮุล โคอิริ ผู้จัดการโรงงานผลิตโปรตีนนมกล่าว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความไม่มั่นใจเกี่ยวกับความคิดการนำนมที่ผลิตจากปลามาให้เด็กนักเรียน เนื่องจากเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการเติมแต่งกลิ่นและรสชาติด้วยน้ำตาล และสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม

ทางด้านรัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย บูดี้ กุนอาดี้ เชื่อว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการปัญหานมวัวขาดแคลน โดยกล่าวว่า ยังมีทางเลือกอีกมากก่อนที่จะผลิตนมจากปลา เช่น การนำเข้านมวัวจากออสเตรเลีย หรือการซื้อแม่วัวนมจากออสเตรเลีย

 

ที่มา
Fish Milk Offered As New Alternative To Cow Milk