Skip to main content

 

ร็อกเกต มีเดีย แล็บ ทำการสำรวจข้อมูลร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตนักเรียนชั้นมัธยม และ ปวช.ของไทย เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก (10 ตุลาคม) โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ ในช่วงวันที่ 16-30 กันยายน ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจจากนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 3,516 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.4 ตอบว่า เรื่องการเรียนส่งผลต่อความเครียดมากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องรูปร่างหน้า ร้อยละ 9.93 ตามมาด้วยเรื่องครอบครัว ร้อยละ 9.78 และการเงินร้อยละ 9.76

ร็อกเกต มีเดีย แล็บ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนักเรียน ชั้น ม.ปลาย และนักเรียน ปวช. ระบุว่ามีความเครียดเรื่องการเงิน ซึ่งไม่พบคำตอบนี้ในกลุ่มนักเรียน ม.ต้น ร็อกเกต มีเดีย สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะอยู่ช่วงอายุที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องของการเงินด้วยตัวเอง

ส่วนปัจจัยส่งผลต่อความเครียดของนักเรียนที่มีการเลือกมากเป็นอันดับแรก คือ เรื่องการเรียน พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 40.19 กลัวเกรดไม่ดี ตามด้วย กลัวสอบตก ร้อยละ 13.32  กลัวสอบเข้าเรียนต่อไม่ได้ ร้อยละ 11.22 และกลัวเรียนไม่จบ ร้อยละ 10.61

 

 

นอกจากนั้น เป็นเรื่องงานที่ต้องส่งมากเกินไป  การไม่เข้าใจบทเรียน ความกังวลว่าจะไม่ได้เรียนต่อ การเรียนหนักหรือชั่วโมงเรียนมากเกินไป การไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน อุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม และไม่ได้เรียนพิเศษ

ส่วนประเด็นรูปร่าง-หน้าตา ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 41.55) ระบุว่า มีความกังวลเรื่องรูปร่าง-ส่วนสูง เช่น อ้วน-ผอมเกินไป สูง-เตี้ยเกินไป หน้าอกเล็ก-ใหญ่เกินไป ไม่มีกล้าม ตามด้วยเรื่องหน้าตาไม่สวยหล่อตามมาตรฐาน เรื่องสีผิวไม่ขาวกระจ่างใส เรื่องผมหยิก หยักศก ผมบาง และเรื่องกลิ่นตัว กลิ่นปาก หลังค่อม

สำหรับประเด็นครอบครัว พบว่า ร้อยละ 43.90 ระบุว่าปกครองเข้มงวดกดดันมากเกินไป ตามมาด้วยการที่ผู้ปกครองไม่สนับสนุนในสิ่งที่อยากเป็น/อยากทำร้อยละ 9.88, ปัญหาผู้ปกครองทะเลาะตบ-ตีกัน ร้อยละ 9.59, ผู้ปกครองใช้ความรุนแรงกับนักเรียน ร้อยละ 6.98, ผู้ปกครองแยกทางกัน/มีครอบครัวใหม่/นอกใจ ร้อยละ 6.98

นอกจากนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองละเมิดความเป็นส่วนตัว ผู้ปกครองไม่สนใจไม่มีเวลา การมีผู้ปกครองเจ็บป่วยหรือพิการ การถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนในครอบครัว และผู้ปกครองไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศ

ส่วนประเด็นเรื่องครู พบว่า ครูใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ ดุด่า ใช้คำหยาบ เหยียดรูปร่าง-หน้าตา-เพศ-สติปัญญามากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 61.54 ตามมาการถูกครูเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 15.38 ถูกครูลงโทษเกินกว่าเหตุ เช่น ตัดผม สั่งวิ่งรอบสนาม ประจาน และการถูกครูข่มขู่ ใช้ความรุนแรง

ในการสำรวจครั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนซึ่งตอบแบบสอบถาม ตอบว่ามีความคิดอยากฆ่าตัวตายโดยมีปัจจัยจากเรื่องในครอบครัวจำนวน 74 คน มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยลงมือทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น 18 คน และมี 12คนตอบว่า มีความคิดอยากทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น

 

 

ในขณะปัจจัยความเครียดที่ส่งผลกระทบในระดับอารมณ์ของนักเรียน เช่น วิตกกังวล กลัว เศร้า ไม่อยากเข้าสังคม พบว่ามาจากเรื่องการเรียนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.99 ตามมาด้วยเรื่องรูปร่าง หน้าตา บุคลิก ร้อยละ 13.51 และครอบครัว ร้อยละ  12.89

ส่วนความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ เครียดลงกระเพาะ พบว่ามาจากประเด็นเรื่องการเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 62.38 รองลงมา คือ เรื่องการเงินร้อยละ 10.02% และเรื่องครอบครัว ร้อยละ 7.37 

 

ที่มา
ผลสำรวจสุขภาพจิตเด็กไทย : เครียดเรื่องเรียนมากที่สุด แต่ปัญหาครอบครัวทำให้ถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง