Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ในอดีต การพูดถึง "วัยเกษียณ" ความหมายในทางวัฒนธรรมมัน คือ วัยที่จะต้อง "หยุดทำงาน" อย่างสมบูรณ์ ซึ่งคนรุ่น Baby Boomers ขึ้นไปก็มักมีความคาดหวังในชีวิตแบบนี้ อย่างไรดีการสำรวจ WTW 2024 Global Benefits Attitudes Survey ในช่วงต้นปี 2024 ที่ทำการสำรวจคนอเมริกันในวัยทำงานช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่า มีถึง 15% ที่ไม่ได้วางแผนจะเกษียณ แต่วางแผนแค่จะ "ลดการทำงาน" และ "ลดภาระหน้าที่" และมีอีก 19% ที่มีแผนจะทำแบบดังกล่าว ซึ่งนั่นหมายถึง คนอเมริกันในวัยเกษียณตอนต้นและวัยก่อนเกษียณในปัจจุบันราว 1 ใน 3 ไม่ได้คิดจะ "เกษียณ" ในวัยเกษียณ

นี่เป็นสิ่งใหม่ในทางสถิติ แต่หลายๆ คนที่มีคนรอบตัวในวัยดังกล่าว ก็อาจมองเห็นภาพแบบเดียวกันแม้แต่ในประเทศอีกซีกโลกอย่างไทย

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมความคิดคนเกี่ยวกับ "วัยเกษียณ" ถึงเปลี่ยน ถ้าจะอธิบายง่ายๆ เรื่องทั้งหมดมาจากอายุขัยเฉลี่ยของผู้คนที่มากขึ้น แต่ก่อนอื่นเราอาจต้องเข้าใจระบบจ้างงานของอเมริกาก่อน


วัยเกษียณ และบำนาญของอเมริกัน

 

ในอเมริกา ไม่มีคอนเซ็ปต์อายุเกษียณ 60 ปีแบบบ้านเรา และถ้าจะเทียบกันแล้วปัจจุบัน คนอเมริกันจะมีสิ่งที่เรียกว่า "อายุเริ่มเกษียณ" ที่ 62 ปี และ "อายุเกษียณสมบูรณ์" ที่ 67 ปี

ความต่างกันของสองอย่างนี้ก็คือ "อายุเริ่มเกษียณ" คือ อายุน้อยที่สุดที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่าย "บำนาญ" ให้คุณ แต่ถ้าคุณเลือกจะยังไม่รับบำนาญทันทีและส่งเงินให้ประกันสังคมต่อ  จำนวนเงินบำนาญต่อเดือนจะได้มากขึ้นๆ ตามอายุ โดยจะไปสุดที่ "อายุเกษียณสมบูรณ์" ที่หลังจากนี้ ถึงจะทำงานแล้วส่งเงินให้ประกันสังคมต่อไป บำนาญต่อเดือนก็จะไม่เพิ่มขึ้น นี่เลยเป็นอายุสูงสุดที่คนจะเริ่ม "เกษียณ" ในแง่การรับบำนาญจากระบบประกันสังคม

ประเด็นคือ ในอดีตคนอเมริกันมักจะทำงานไม่ถึงอายุเกษียณสมบูรณ์ ก็เริ่มรับบำนาญแล้ว และปกติจะเกษียณกันตอน "อายุเริ่มเกษียณ" กันเลย ซึ่งนับตั้งแต่มีการแก้กฎหมายปรับ "อายุเริ่มเกษียณ" ลงจาก 65 ปีเป็น 62 ปีในปี 1961 โดยทั่วไปคนอเมริกันก็จะทำงานเกินอายุเริ่มเกษียณไปเพียงปีสองปีแล้วก็เกษียณแล้ว โดยในช่วงทศวรรษ 1970-1990 อายุเฉลี่ยๆ ที่คนอเมริกันเกษียณจะอยู่ประมาณ 63-64 ปี

ถ้าย้อนไปปี 1975 ตอนนั้นอายุขัยเฉลี่ยของคนในอเมริกาอยู่ที่ราวๆ 70 ปี ในแง่หนึ่ง สมัยโน้นคือเกษียณไปแล้ว ก็คาดว่าตัวเองจะมีอายุเหลือไม่น่าเกิน 10 ปี ดังนั้น คนเลยรีบเกษียณ เพราะคิดว่าถ้าไม่รีบเกษียณก็จะตายเสียก่อน

ตัดมาปัจจุบัน คนอเมริกันอายุเฉลี่ยขึ้นไปอยู่ที่ 79 ปี ในแง่นี้ ถึงจะทำงานไปจนสุดที่ "อายุเกษียณสมบูรณ์" ที่ 67 ปีแบบในปัจจุบัน ก็ยังมีเวลาจะ "ใช้ชีวิตวัยเกษียณ" เฉลี่ยแล้วนานถึง 12 ปี เลยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้อง "รีบเกษียณ"

แต่อีกด้าน อายุที่ยืนยาวขึ้นก็นำมาสู่ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในวัยชรา และสังคมอเมริกันที่เรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นสวัสดิการของรัฐ การต้องมี "เงินเก็บเพื่อเกษียณ" แบบเป็นเงินก้อนไว้ใช้ยามฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งที่คนพยายามจะมีเอาไว้กันเหนียว และจริงๆ ถ้าว่าด้วยสถิติเราจะเห็นแพทเทิร์นเลยว่า ย้อนไปปี 1975 คนอเมริกันที่อยู่ในแผนการประกันบำนาญรายเดือนของเอกชนมีถึง 27.2 ล้านคน แต่ในปี 2020 คนที่อยู่ในแผนพวกนี้เหลือแค่ 12 ล้านคน

อย่างไรก็ดี กลับกันในช่วงเวลาเดียวกันคนที่เข้าร่วมแผนการลงทุนลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณ (อเมริกาจะเรียกว่า 401k) ที่จะทำให้ได้เงินก้อนใหญ่ตอนเกษียณ นั้นกลับเพิ่มจาก 1.2 ล้านคนในปี 1975 มาเป็น 85.5 ล้านคนในปี 2019

แพทเทิร์นในการลงทุนเพื่อการเกษียณของคนอเมริกันเปลี่ยนชัดมาก เพราะคนอเมริกันดูจะต้องการเงินลงทุนก้อนใหญ่สไตล์ "บำเหน็จ" มากขึ้น แต่ "บำเหน็จ" ก้อนนี้เป็นสิ่งที่คนอเมริกันจะต้องสะสมเอง โดยรัฐ "ช่วย" ผ่านการ "ลดหย่อนภาษี" และรัฐจะให้สิทธิ์นี้ในวัยทำงานเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะใช้สิทธิสะสมเงินทุนเกษียณโดยไม่ต้องเสียภาษี ก็ต้องทำในช่วงวัยทำงาน เกษียณไปทำไม่ได้แล้ว

มีการสำรวจพบว่า คนอเมริกันวัย 50 ปีขึ้นไป มีประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มองว่าตัวเองอยู่ในเส้นทางการเงินที่ "พร้อมเกษียณ" นั่นคืออีกครึ่งหนึ่งคิดว่าตัวเองไม่พร้อม ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือ คนที่ยังไม่พร้อม ส่วนใหญ่ มองว่า ตัวเองยังลงทุนลดหย่อนภาษีที่จะทำให้ได้เงินก้อนใหญ่ในวัยเกษียณไม่พอนั่นเอง

เรื่องทั้งหมดมีความสมเหตุสมผลพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนอเมริกันรุ่นที่กำลังเกษียณนั้นคือคนที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 มาและก็ผ่านการระบาดของโควิด-19 มาและเห็นว่าในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อนั้น เงินบำนาญวัยเกษียณไม่ได้ขยับขึ้นตาม และคนที่เกษียณไปก่อนหน้าก็ล้วนแต่ลำบากมาก

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนกำลังจะเกษียณรุ่นหลังจากนั้นจะพยายามทำงานหรืออย่างน้อยคือ "ชะลอการรับบำนาญ" ไปให้ยาวที่สุดเพื่อจะได้บำนาญที่มากที่สุด พร้อมทั้งรอให้เงินลงทุนลดหย่อนภาษีงอกเงยไปให้มากที่สุดก่อนจะถอนมาใช้ เพราะนั่นเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้แล้วในวัยเกษียณ เนื่องจากรีบเกษียณไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหลือเวลาใช้ชีวิตอีกเป็นสิบปีอยู่ดี


ไม่ได้ทำงานจนถึงวันตาย แต่เกษียณช้าลง 

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจเช่นกันก็คือ โครงสร้างของตลาดแรงงานก็เปลี่ยนไปด้วย ในอดีตคนอเมริกันเกษียณเร็วส่วนหนึ่งเป็นคนทำงานแบบ "ใช้แรงงาน" ที่ทำได้แย่ลงแน่ๆ ในวัยแก่ชรา แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจ "ภาคการบริการ" นั้นขยายตัวไปมากๆ และแรงงานแบบ "ใช้สมอง" ของภาคการบริการเหล่านี้จริงๆ มันไม่ใช่สิ่งที่คนสูงวัยจะทำไม่ได้ แค่คนเหล่านี้อาจ "หักโหม" ทำงานหนักไม่ได้เท่าคนหนุ่มสาว

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการลดภาระงานพร้อมกับรายได้ รวมถึงการจ้างงานแบบพาร์ตไทม์ ซึ่งของพวกนี้เป็นสิ่งที่ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างสูงวัยต้องการพร้อมกัน กล่าวคือ นายจ้างก็ต้องการแรงงานทักษะสูงค่าจ้างถูก ลูกจ้างก็ต้องการลดการทำงานต่อแบบที่ไม่หนักเท่าเดิม

ประเด็นคือ ในเรื่องราวทั้งหมด ถ้าไปถามคนอเมริกัน Gen X ในวัยใกล้เกษียณว่าทำไมถึงคิดจะทำงานต่อ คำตอบที่ได้อาจเป็นเรื่องของ การรู้สึกว่าการทำงานเป็นความหมายของชีวิตอะไรพวกนี้ แต่ความเป็นจริงมันเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ย

ดังนั้น ถ้ามองในแง่นี้ คนปัจจุบันอาจ "เกษียณช้า" กว่าคนในอดีตจริงๆ แต่การจะบอกว่าคนปัจจุบัน "ทำงานจนตาย" อาจไม่ตรงนัก เพราะอย่างน้อยๆ ในอเมริกา แม้ว่าอายุที่คนเกษียณจะเพิ่มขึ้นไปใกล้ 70 ปีขึ้นเรี่อยๆ แต่นี่คือคนรุ่นที่คาดว่าตัวเองจะมีอายุถึงเกือบ 80 ปีกันปกติ เกษียณไปก็ยังมีเวลา "ใช้ชีวิต" อีกเป็น 10 ปี ซึ่งนั่นเป็นคนละโลกกับคนเมื่อ 50 ปีก่อนที่ได้เกษียณเร็วกว่าคนปัจจุบันจริงๆ แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยนั้น ถึงเกษียณเร็วก็คาดหวังว่าตัวเองจะอยู่ไม่ได้ถึง 10 ปีหลังเกษียณด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถ้าคำว่า "ทำงานจนตาย" จะใช้อธิบายอะไร มันเป็นคำอธิบายที่ใกล้กับคนเมื่อ 50 ปีก่อนมากกว่าสมัยนี้แน่ๆ เพราะสุดท้าย มันไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์เลยที่รัฐจะ "ดูแล" คนเกษียณส่วนใหญ่ไปได้ยาวๆ แบบ 20-30 ปี รัฐไม่ได้สร้างระบบดูแลคนแก่มาทำแบบนั้น และสวัสดิการคนวัยเกษียณในอดีตมันถูกสร้างมาบนความคิดว่าคนโดยเฉลี่ยจะอยู่รับสิทธิประโยชน์ได้ไม่ถึง 10 ปีกันทั้งนั้น

พูดอีกแบบคือ คนรุ่น Baby Boomer นี่อาจเป็น "ความผิดปกติทางประวัติศาสตร์" จริงๆ ที่ดันได้เกษียณเร็วในยุคที่วิทยาการทางการแพทย์พัฒนาจนคนอายุยืนขึ้นมากๆ และมีเวลาใช้ชีวิตเกษียณกันนานเป็น 20 ปีกันมากมาย ซึ่งการอายุยืนและมีชีวิตวัยเกษียณที่นานขนาดนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐเยอะมากจนขนาดรัฐสวัสดิการยุโรปยังเป๋

สุดท้ายสิ่งที่คน Gen X อาจกำลังเผชิญก็คือ การแก้ใข "ความผิดปกติทางประวัติศาสตร์" อันนี้ให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งนั่นคือ การที่ช่องว่างระหว่างอายุเกษียณกับอายุขัยจะค่อยๆ หดเล็กลงไปเข้าใกล้ 10 ปีหรือน้อยกว่านั้นนั่นเอง ซึ่งกระบวนการนี้แม้แต่พวกรัฐสวัสดิการก็เริ่มแล้วโดยการขยายอายุเกษียณเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ


อ้างอิง
Boomers and Gen X Want to Retire Differently
Normal Retirement Age
Trends in retirement age by sex, 1950-2005
Fifty Years of Social Security
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน