Skip to main content

 

สภาพอากาศที่ร้อนจัดขึ้นและสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งมีสาเหตุจากปัญหาโลกร้อน ทำให้นักวางผังเมืองต้องทบทวนและสรรหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่หนึ่งในวิธีที่องค์กรสิ่งแวดล้อมในสหรัฐทำได้ง่ายๆ โดยเปลี่ยนพื้นคอนกรีตให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว

องค์กรสิ่งแวดล้อม Depave เริ่มต้นขึ้นเมื่อ อารีฟ ข่าน ย้ายไปอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ในปี 2007 และต้องการเปลี่ยนพื้นที่หลังบ้านที่เป็นยางมะตอยให้กลายเป็น “สวน” เขาจึงชักชวนเพื่อนๆ ของเขามาร่วมเปลี่ยนแปลงพื้นที่เล็กๆ หลังบ้านของเขา ก่อนที่จะค่อยๆ ขยายไปสู่โครงการอื่นอีกมากมายตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาน้ำท่วม ทำให้หลายเมืองเริ่มคิดหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ และตัดสินใจเลือกใช้การแก้ไขพื้นผิวถนนที่สามารถดูดซับความร้อนและน้ำสามารถซึมผ่านได้อย่างง่ายดาย แบบที่ Depave เลือกทำ

Depave ได้ทำการเปลี่ยนพื้นยางมะตอยหรือพื้นคอนกรีตร้อนๆ ให้กลายเป็นพื้นสีเขียว และทำสำเร็จแล้วมากกว่า 75 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในโรงเรียน โบสถ์ และพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ในทั่วเมืองพอร์ตแลนด์ และชื่อเสียงของพวกเขาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วสหรัฐฯ และแคนาดาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แมรี่ แพท แมคไกร ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ และผู้ก่อตั้ง Depave Chicago ระบุว่า 

“ชุมชนที่ทำงานเรียกร้องความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมกำลังประสบปัญหาเรื่องการปูพื้นถนน เราจึงพยายามดึงความสนใจไปที่เมือง เพื่อให้เมืองเริ่มตระหนักได้ว่า สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศและความยุติธรรมทางสังคม”

ถนนลาดยางและลานจอดรถกินพื้นที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของเขตเมืองในสหรัฐฯ และลานจอดรถเพียงอย่างเดียวครอบคลุมมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินที่พัฒนาแล้วใน 48 รัฐ ซึ่ง เบรนดอน เชน ผู้อำนวยการด้านสภาพอากาศของ Trust for Public Land (TPL) กล่าวว่า

“เรามีพื้นผิวที่ถูกก่อสร้างแบบผิดธรรมชาติมากจนเกินไป และมีพื้นผิวที่เป็นธรรมชาติน้อยจนเกินไป ซึ่งนั่นทำให้เกิดเกาะความร้อนในเมือง รวมถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ด้วย”

การเปลี่ยนพื้นคอนกรีตหรือพื้นยางมะตอยให้กลายเป็นพื้นสีเขียว ไม่เพียงช่วยเรื่องการลดความร้อนของพื้นผิวในเมือง และลดความเสี่ยงน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านสุขภาพจิตของคนในเมือง พื้นที่สีเขียวช่วยให้ระดับความเครียดลดลง การบาดเจ็บจากการจราจรก็ลดน้อยลง เช่นเดียวกับช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้กับพื้นที่นั้นๆ ได้อีกด้วย

ท่ามกลางปัญหาคลื่นความร้อนและน้ำท่วมที่เป็นผลจากสภาพอากาศ เมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ต่างกำลังเร่งทบทวนและแก้ไขภูมิทัศน์ของตัวเองเสียใหม่ เช่น ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ซึ่งเปลี่ยนพื้นยางมะตอยที่อาจร้อนจัดในช่วงคลื่นความร้อน ด้วยการทาสีพื้นผิวด้วยสีเทาสะท้อนแสง หรือเมืองแนชวิลล์ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมมาก่อน ก็เปลี่ยนตรอกซอกซอยให้กลายเป็นสวนพิรุณ (Rain Garden) และเต็มไปด้วยหมู่มวลผึ้ง อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่ามีกลยุทธ์และแผนรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่การดำเนินการถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ นโยบายของหน่วยงานรัฐ และความร่วมมือของหลายหน่วยงาน

จากข้อมูลขององค์กร Space to Grow ระบุว่า การเปลี่ยนพื้นคอนกรีตหรือพื้นยางมะตอยให้กลายเป็นสนามกีฬา สวนพิรุณ และพื้นผิวที่มีรูพรุนแบบอื่นๆ จะสามารถลดอุณหภูมิพื้นดินลงได้มากถึง 12 องศาเซลเซียส และช่วยกักเก็บน้ำฝนได้มากกว่า 3.5 ล้านแกลลอน ซึ่งช่วยบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่เมืองได้

“มันคือการเปลี่ยนทัศนคติต่อพื้นคอนกรีต เราพลาดโอกาสในการสร้างธรรมชาติให้เกิดขึ้นในเมือง แต่ฉันก็อยากทำให้คนมองโลกรอบตัวของพวกเขาและฝันถึงสิ่งที่แตกต่างออกไปเท่านั้นเอง” แมคไกร กล่าว


อ้างอิง
เว็บไซต์ Depave
From Blacktop to Green: Cities Are Depaving for a Cooler Future