Skip to main content

 

ในห้วงเวลาที่โลกพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้คนมากมายกลับถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังอย่างเดียวดาย สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้น คือ หลายคนต้องจากโลกใบนี้ไปโดยไร้คนที่รักอยู่เคียงข้าง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โครงการ No One Dies Alone (NODA) จึงทำงานฝึกอบรมและให้ความรู้แก่อาสาสมัคร ที่สามารถมอบมิตรภาพให้กับผู้คนที่อยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

โครงการ NODA เกิดขึ้นในปี 2001 หลังจาก แซนดรา คลาร์ก พยาบาลในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา มองเห็นความสำคัญของการมีใครสักคนอยู่เคียงข้างผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

คลาร์กรวบรวมอาสาสมัครจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยให้พวกเขาไปนั่งอยู่ข้างๆ ผู้ป่วยที่กำลังจะตายเพียงลำพัง โครงการของเธอได้รับความสนใจในทันที และกลายเป็นการจุดประกายการเคลื่อนไหวว่า ไม่มีใครควรตายเพียงลำพัง ซึ่งกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่กำลังเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลก

อลิสัน บันซ์ พยาบาลชาวสก็อต เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่นำแนวคิดเรื่อง “ไม่มีใครควรตายเพียงลำพัง” ไปใช้ในสหราชอาณาจักร และเธอต่อยอดแนวคิดจากการนั่งเป็นเพื่อนผู้ป่วยที่กำลังจะตาย ไปสู่การเป็นคนที่สามารถช่วยเหลือผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่กำลังเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว ที่กำลังกัดกินหัวใจของพวกเขา

บันซ์ตัดสินใจก่อตั้ง Compassionate Inverclyde (CI) ในปี 2016 โดยเริ่มต้นจากอาสาสมัครจำนวน 20 คน ที่ไปนั่งอยู่ข้างๆ ผู้ป่วยที่กำลังจะตายเพียงลำพัง เริ่มจากในบ้านพักคนชราและโรงพยาบาลท้องถิ่น และขยายออกไปยังบ้านพักส่วนตัว และจนถึงตอนนี้ CI มีอาสาสมัครมากกว่า 100 คนที่พร้อมจะมอบมิตรภาพครั้งสุดท้ายให้กับผู้คนที่ต้องการมัน

“เราเห็นผลลัพธ์เชิงบวก ในกรณีที่ครอบครัวไม่สามารถมาอยู่ตรงนั้นได้ หรือมันอาจจะเจ็บปวดเกินไปสำหรับคนที่ยังต้องมีชีวิตอยู่ ซึ่งดีกับเหล่าพยาบาลที่มีภาระงานมากมาย และไม่สามารถไปนั่งอยู่ตรงนั้นได้ แม้ว่าพวกเขาจะต้องการมากแค่ไหนก็ตาม” บันซ์กล่าว

หลังทำงานนี้มาเป็นเวลานาน บันซ์ตระหนักได้ว่า ไม่ใช่แค่คนที่กำลังจะตายเท่านั้นที่ต้องการมิตรภาพและได้รับการเอาใจใส่

“หลายปีที่ผ่านมา มีคนมาคุยกับฉันเรื่องความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงา ซึ่งทำให้ฉันตระหนักว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะแค่ของคนที่ใกล้ตาย แต่เป็นปัญหาของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เราจึงขยายการช่วยเหลือจากผู้คนในบั้นปลายชีวิต ไปสู่การดูแลพวกเขาตั้งแต่แรกเริ่ม”

บันซ์และอาสาสมัครจึงเริ่มให้บริการดูแลชุมชนในด้านต่างๆ ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และช่วยเหลือผู้คนที่มีช่วงอายุแตกต่างกัน โดยยึดถือหลักของการมีน้ำใจ และความเชื่อว่า คนธรรมดาสามารถสร้างความแตกต่างได้ และถึงตอนนี้ พวกเขาได้ให้ความช่วยเหลือคุณแม่มือใหม่ ส่งมอบสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล ออกเยี่ยมเพื่อนบ้านที่อยู่บ้านเพียงลำพัง หรือให้บริการเครื่องดื่มในร้านกาแฟแห่งการไว้ทุกข์ เป็นต้น

เราจำเป็นต้องมีความกล้าหาญในชุมชนของเรา หากเรานึกถึงเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ เรา เราจะเห็นว่าทุกคนต่างมีทักษะและประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราล้วนมีสิ่งที่สามารถช่วยเหลือและแบ่งปันให้ส่วนรวมได้เสมอ และผู้คนมีน้ำใจโดยธรรมชาติ ดังนั้น เราลองให้โอกาสพวกเขาได้ลองทำสิ่งที่ดีและสร้างความแตกต่างให้สังคมดีไหม” บันซ์กล่าว


อ้างอิง
No One Dies Alone: a movement against isolation and loneliness in the final hours
The bid to ensure that no one dies alone