Skip to main content

 

Libertus Machinus

 


งานวิจัยธนาคารกลางยุโรปชี้ภาวะโลกร้อน จะทำให้อาหารแพงขึ้น 1-3% ต่อปีภายใน 10 ปีข้างหน้า และไทยอยู่ในเขตที่จะได้รับผลกระทบมากสุด

ก่อนหน้านี้ "ภาวะโลกร้อน" หรือ "โลกรวน" อาจไม่ทำให้ผู้คนในโลกรู้สึกอะไรเท่าไร แต่ปัจจุบันนี้ อย่างน้อยๆ คนในเขตร้อนที่มีภาระหน้าที่จ่ายค่าไฟฟ้า ก็น่าจะรู้สึกว่าทุกหน้าร้อน ค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายมันสูงขึ้นทุกปีๆ ซึ่งถ้าคุณคิดแบบนั้น คุณไม่ได้คิดไปเอง เพราะจริงๆ อุณหภูมิมันก็สูงขึ้นทุกปีแบบเป็นข่าวกันจนเบื่อแล้ว และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เครื่องปรับอากาศก็ย่อมต้องทำงานหนักขึ้น และค่าไฟฟ้าก็ย่อมสูงขึ้น นี่เป็นสิ่งที่อธิบายเชิงประจักษ์ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ "คิดไปเอง" แต่อย่างใด

การที่โลกร้อนจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะต้นทุนด้านพลังงานในการ "ปรับอากาศ" จะสูงขึ้น เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน แต่โดยรวมๆ แล้วนี่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะมันก็ตรงไปตรงมา อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนมีนาคม 2024 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของธนาคารกลางยุโรปเปิดเผยออกมาซึ่งมีสิ่งที่เกินความคาดหมายของหลายฝ่ายแน่ๆ

นั่นคืองานวิจัยเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารที่เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน


ภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน

 

งานนี้ทำการศึกษาวิจัยราคาสินค้ากว่า 27,000 ชนิดทั่วโลกอย่างเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบนโลก และพบว่าสินค้าในหมวดอาหารจะค่อยๆ แพงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น โดยเค้าประเมินว่า นับแต่ปัจจุบันไปถึงปี 2035 ราคาวัตถุดิบอาหารจะขึ้นประมาณ 1-3% ต่อปี โดยแต่ละโซนของโลกราคาก็จะขึ้นต่างกัน

ที่น่ากลัวคือ ไทยเราคือโซนที่เค้าประเมินว่า “ราคาอาหารจะขึ้นต่อเนื่องสูงสุด”  เช่นเดียวกับบริเวณโซนแอฟริกาเหนือ และคาบสมุทรอาหรับ

ทำไมภาวะโลกร้อนจะทำให้ราคาอาหารขึ้น? 

เอาจริงๆ งานนี้ไม่ได้อธิบายเรื่องนี้ตรงๆ เพราะเค้าศึกษาราคาสินค้าทั่วโลกที่เปลี่ยนไปโดยสัมพันธ์กับอุณหภูมิ แต่คำอธิบายเบื้องต้นก็คือ พวกประเทศเขตร้อนมีแนวโน้มที่จะอากาศร้อนขึ้นจนทำให้ฤดูกาลด้านการเกษตรต่างๆ รวนไปหมด ทำให้ฤดูเพาะปลูกพืชมีระยะสั้นลงกว่าที่เป็น และได้ผลผลิตน้อยลง ซึ่งสิ่งใดที่มีการผลผลิตน้อยลง ขณะที่ความต้องการไม่ได้น้อยลงตาม ราคามันก็ย่อมเพิ่มขึ้นตาม "กลไกตลาด" ตามปกติ

ปัญหานี้ อธิบายภาษาชาวบ้านกว่านั้นก็คือ อากาศบางช่วงของปีมันจะร้อนจนเราทำการเพาะปลูกไม่ได้ และทำให้ผลผลิตทั้งปีลดลง

อะไรพวกนี้ แน่นอนว่าสำหรับคนยุโรปผู้ห่วงใยความเหลื่อมล้ำก็จะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะเค้าจะมองว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างในแอฟริกาจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้ มีบทบาทในการก่อภาวะโลกร้อนน้อยมากถ้าเทียบกับเหล่าบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว

แต่สำหรับชาวไทยอย่างเรา หากผลวิจัยนี้เป็นการทำนายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง เรากำลังประสบปัญหาใหญ่แน่ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่รายได้น้อย

โครงสร้างค่าใช้จ่ายของคนที่รายได้น้อย รายจ่ายส่วนใหญ่จะเป็นค่าเดินทางและค่าอาหารอยู่แล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายหมวดแรก คือ ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรงมานานแบบรู้กันอยู่แล้ว แต่งานวิจัยชิ้นนี้มายืนยันว่าค่าใช้จ่ายส่วนหลังจะขยายตัวไปตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นด้วย และเราก็เป็นพื้นที่ที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะขยายตัวเร็วที่สุดในโลก ถ้าว่ากันตามงานวิจัย


จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าค่าใช้จ่ายด้านอาหารของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง?

 

คำตอบเร็วๆ คือในระยะยาว "ความเหลื่อมล้ำ" ภายในประเทศเราจะหนักขึ้น เพราะคนยิ่ง "มีเงิน" และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานน้อย ก็จะได้รับผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายจากภาวะโลกร้อนน้อยตามไปด้วย

ส่วนคนรายได้น้อย ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดต่อเดือน ก็ย่อมจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากโลกร้อนเต็มๆ

ที่หนักก็คือ นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอาจทำอะไรไม่ได้และก็คงไม่ทำอะไรที่ทำได้ด้วย เพราะรัฐบาลไทยลดอุณหภูมิโลกไม่ได้แน่ๆ และการวางมาตรการเพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อทั้งเกษตรกรและคนรายได้น้อยนั้น แม้ว่าจะเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงกว่ารัฐบาลจะเริ่มขยับทำอะไร ปัญหาก็น่าจะลุกลามจนแก้ยากแล้ว

ดังนั้น นี่เลยเป็นปัญหาที่เรียกได้ว่าค่อยๆ คืบคลานมายังประเทศไทยแน่ๆ แต่นี่เป็นเรื่องที่แม้แต่ประชากรที่ตื่นตัวทางการเมืองก็อาจไม่สนใจเท่าไร เพราะในไทย ยังมีปัญหาอีกสารพัดที่ "ควรจะแก้ก่อน" ที่พอกพูนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบสิ้นอยู่แล้ว และนี่ทำให้เทียบกันแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนก็ดูจะเป็นสิ่งที่รอได้

แต่ปัญหาคือ ถ้าเราเชื่อตามงานวิจัยนี้ ราคาอาหารจะไม่หยุดขึ้นที่ปีละ 3% ที่ปี 2035 เท่านั้น แต่จะขึ้นในอัตราที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้าพูดแบบนักนิเวศวิทยา เค้าจะยกตัวอย่างว่า มันเหมือนเรามีบ่อน้ำแล้วมีแหนขึ้นหย่อมเล็กๆ แล้วเราไม่ยอมทำอะไร เพราะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ซึ่งแหนมันจะขยายตัวเป็นเท่าตัวทุกปี และมันจะใช้เวลาเป็นหลายสิบปีกว่ามันจะคลุมผิวน้ำไป 50% และเราจะเห็นว่ามันเป็นปัญหา ซึ่งตอนนั้นมันสายเกินแก้แล้ว เพราะในเวลาปีเดียวมันจะขึ้นปกคลุมเต็มผิวน้ำ และเราทำอะไรไม่ทันแล้ว

ในทำนองเดียวกัน ราคาอาหารขึ้นปีละ 3% อาจไม่ใช่ปัญหา 5% ก็อาจยังไม่ใช่ปัญหา แต่มันอาจเป็นปัญหาเมื่อมันขึ้นปีละ 20% ซึ่งจะแก้ตอนนั้นก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่มีวิธีการใดแน่ๆ ที่จะลดการขึ้นของราคาให้ลดลงเหลือแค่ 3-5% ในระยะเวลาอันสั้น  ถ้าต้นเหตุของราคาที่ขึ้นมันเกิดจากการผลิตที่ติดขัดในภาวะโลกร้อน

หรือพูดอีกแบบก็คือ จริงๆ แล้วภาวะโลกร้อนอาจเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าที่คนไทยคิด และตราบที่คนไทยไม่ตระหนักว่ามันคือเรื่องใหญ่จริงๆ ก็น่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นนโยบายและแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที ก่อนจะลุกลามไปใหญ่โต

ต้องย้ำอีกรอบว่า ข้อมูลหลายๆ ชุดก็ดูจะชี้ตรงกันว่า ประเทศไทยเป็น "แนวหน้า" ที่จะรับผลกระทบภาวะโลกร้อนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับน้ำทะเล เรื่องต้นทุนด้านพลังงาน ไปจนถึงเรื่องต้นทุนในการดำรงชีวิต ซึ่งความหนักหนาของปัญหาก็ดูจะสวนทางกับความใส่ใจในประเด็นนี้ของชาวไทย


อ้างอิง

Food prices will climb everywhere as temperatures rise due to climate change – new research
Higher temperatures mean higher food and other prices. A new study links climate shocks to inflation
Global warming and heat extremes to enhance inflationary pressures
Lily Pads and Exponential Thinking
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน