Skip to main content

Libertus Machinus

 

ทุกวันนี้โลกกำลัง "หันขวา" แบบหันไปหันมามีแต่ปรากฎการณ์แบบ "ขวา" ตั้งแต่ฝ่ายขวายึดสภายุโรป จลาจลฝ่ายขวาในอังกฤษ หรือกระทั่งแผนการก่อการร้ายของฝ่ายขวาในออสเตรีย จนทำให้คอนเสิร์ตของ Taylor Swift ต้องยกเลิก

ทำไมมันขวากันแบบนี้? มันอธิบายได้หลายมุม แต่โดยพื้นฐานที่สุด คำอธิบายอยู่ที่โครงสร้างประชากร ซึ่งประชากรผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วที่มากขึ้นๆ ทำให้คนเป็น "ขวา" ในสังคมมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า พูดในมาตรฐานสังคมปัจจุบัน บางที่คนเป็น "ซ้าย" เมื่อ 20 ปีก่อนและยืนยันจุดยืนเดิมมาตลอด มารู้ตัวอีกทีตอนเด็กรุ่นใหม่บอกว่า พวกเขาเป็น "ขวา" ไปแล้ว (ไม่ต้องพูดถึงคนที่เป็น "ซ้าย" มานานกว่านั้น)

แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ ในโครงสร้างการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยปัจจุบันที่ใช้ระบบ 1 คน 1 เสียง สังคมผู้สูงอายุยังไงคะแนนเสียงส่วนใหญ่เวลาเลือกตั้งจะมาจากคนแก่ในที่สุด และนี่ก็เป็นคำอธิบายบางส่วนที่มีน้ำหนักว่า ทำไมประเทศพัฒนาแล้วที่มีคนแก่เยอะๆ พรรคขวากลาง หรือกระทั่งขวาจัด มักจะมีที่นั่งในสภามากขึ้นๆ

ถามว่าภาวะนี้เป็น "ปัญหา" มั้ย? คำตอบ คือ เป็นแน่ๆ เพราะถ้าให้ "คนแก่" มาคุมนโยบายของประเทศ รัฐบาลก็จะตอบสนองตามความต้องการของคนแก่ และความเปลี่ยนแปลงในสังคมก็จะเกิดไม่ได้

 

Demeny Voting คืออะไร

 

แล้วจะแก้ยังไง? จริงๆ นักประชากรศาสตร์ชาวฮังการีอย่าง Paul Demeny มองปัญหานี้ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แล้ว และเค้าก็เสนอว่า ทำไมเราถึงไม่เพิ่มคะแนนเสียงให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่จะเป็นอนาคตของชาติ ทำไมเราถึงปล่อยให้มนุษย์ที่เป็นสมาชิกของสังคมไม่สามารถมีคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เป็นเวลา 18 ปีนับแต่เกิด? ซึ่งไอเดียของเค้าไม่ใช่การให้เด็กเล็กเข้าคูหาไปเลือกตั้ง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว 

ไอเดียก็คือ ถ้าเด็กอายุต่ำเกิน คะแนนเสียงของเด็กก็ควรจะถูกใช้แทนโดยพ่อแม่ ซึ่งนั่นไม่ได้ต่างจากสิทธิอื่นๆ ของเด็กที่พ่อแม่มีหน้าที่ดูแล จนกว่าเด็กจะตัดสินใจเองได้ ซึ่งเค้าเชื่อว่าพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ จะเห็นแก่เด็ก เห็นแก่อนาคตของชาติ มากกว่าพวกคนแก่ๆ

ไอเดียนี้เรียกกันว่า Demeny Voting และมันไม่ใช่แนวคิดบ้าๆ บอๆ เพราะหลายประเทศเคยยกมาคุยกันจริงจัง


Demeny Voting เครื่องมือทางการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา

 

ในอดีต คำถามที่ว่า คนอายุเท่าไรควรจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นคำถามตั้งแต่ยุคแรกๆ ของประชาธิปไตย ทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนีช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ล้วนเคยถกเถียงกันว่า เด็กควรจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่พ่อแม่ควรจะให้สิทธิ์นั้นแทน 

อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ก็ตกไป จน Paul Demeny หยิบขึ้นมาใหม่ในทศวรรษ 1980 ในฐานะของข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้ให้สังคมถูกปกครองโดยคนแก่ หรือตกอยู่ในระบอบ "ชราธิปไตย" (Gerontocracy) จนหมดอนาคต

หลังจากนั้น ในศตวรรษที่ 21 หลายประเทศก็หยิบแนวคิดนี้มาคุยกันจริงๆ ด้วยเหตุผลว่า แนวโน้มการเมืองแทบทุกประเทศเหมือนกันหมด คือ คนแก่เต็ม ครม.และสภา  คนที่กังวลเกี่ยวกับอนาคตของประเทศก็เริ่มเห็นจริงๆ ว่า มันมีปัญหา

ญี่ปุ่นที่เป็นสังคมผู้สูงอายุหนักกว่าชาวบ้าน เคยคุยเรื่องนี้กันจริงจัง หรือแม้แต่ฮังการีที่เป็นประเทศต้นไอเดียก็เคยคุยกันจริงกัน ก่อนจะพับไป เพราะการเปลี่ยน "ระบบเลือกตั้ง" มันเป็นเรื่องใหญ่มาก มันต้องการอะไรมากกว่าไอเดียที่ฟังดูเข้าท่าเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบันที่คนพยายามแก้ปัญหาชราธิปไตย โดยการลดอายุคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง (เช่น ล่าสุดเยอรมนี คนอายุ 16 ปีไปเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปได้แล้วตอนพฤษภาคม 2024) ไอเดียเรื่อง Demeny Voting ก็กลับมาถูกยกมาพูดคุยอีก

แต่ "ผล" ของการยกประเด็นมาตอนนี้ รวมๆ น่าจะสรุปได้จากการเสนอไอเดียนี้ในสหรัฐอเมริกาของ J.D. Vance ผู้ท้าชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากฝั่งพรรครีพับลิกัน คู่กับ Donald Trump

Vance เป็นฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมตามจารีต ที่เชื่อในการสร้างครอบครัวและมีลูก ระดมโจมตีผู้ท้าชิงประธานาธิบดีฝั่งเดโมแครตอย่าง Kamala Harris ให้เหล่ากองเชียร์ฟังว่า "พวกคุณจะปล่อยให้ผู้หญิงไม่มีลูกที่เลี้ยงแต่แมว มาปกครองประเทศรึไง?”

แน่นอน การเคลมพวกนี้ทำให้เหล่า "ทาสแมว" โกรธมาก แต่ประเด็นสำคัญคือ Vance เป็นคนที่โจมตี "คนไม่มีลูก" หนักมาก เพราะเค้ามองว่าคนที่ไม่มีลูก ถ้าเป็นนักการเมือง พวกเค้าจะสร้างนโยบายสังคมที่ไม่คำนึงถึงคนรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาในโลก และหนึ่งใน "ทางแก้" ที่เค้าเสนอให้อเมริกา คือ Demeny Voting หรือเสนอให้คนที่มีลูกมีคะแนนเสียงมากว่าคนไม่มีลูกในตอนเลือกตั้ง (โดย Vance ก็เสนอแนวคิดนี้ไม่ได้พูดถึงคอนเซ็ปต์  Demeny Voting แต่อย่างใด)

อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า ในขณะที่แนวคิด Demeny Voting เวลาอยู่ในยุโรป มันเป็นแนวคิด "ก้าวหน้า" ที่เอาไว้ต่อต้านสังคมการเมืองที่จะเป็นอนุรักษ์นิยมขึ้นจากอำนาจทางการเมืองของ "คนแก่" ที่มากขึ้น พอมันมาในอเมริกา มันกลับเป็นแนวคิดของฝั่ง "อนุรักษ์นิยม" ที่ถูกใช้โดยคาดหวังว่าทำให้สังคมเป็นดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีตามแนวของพวก "เสรีนิยม" ฝั่งอเมริกัน

ประเด็นนี้ก็ "น่าคิด" โดยเฉพาะในบริบทของสังคมที่มีประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะการ "เพิ่มคะแนนเสียงให้พ่อแม่" มันน่าจะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร หรือพูดง่ายๆ ก็คือ พวกคนขาวการศึกษาสูงที่โสด หรือครอบครัวคนหน้าที่การงานดีที่แต่งงานช้า ไม่มีลูก ก็คงจะมีคะแนนเสียงเท่าเดิม

แต่กลับกัน กลุ่มผู้อพยพ ผู้มีการศึกษาต่ำ ที่ทั่วๆ ไปครอบครัวมีขนาดใหญ่ เพราะมีลูกมากมายนั้น ก็น่าจะมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมหาศาล ซึ่งถ้าคิดในบริบทอเมริกา นั่นหมายถึงครอบครัวแอฟริกันอเมริกันและลาตินอเมริกันจะมีคะแนนเสียงมากขึ้นจนมีผลทางการเมืองแน่ๆ

ก็น่าสนใจว่า ถ้าครอบครัวแบบดังกล่าวมีคะแนนเสียงมากมันขึ้นมันจะเป็นคุณต่อพรรครีพับลิกันหรือไม่? แต่ก็แน่นอนมันไม่ใช่คนอย่าง Vance ไม่ได้คิด เพราะเค้าเป็นคนขาวอนุรักษ์นิยมที่มีภรรยาเป็นคนอินเดียที่เป็นลูกผู้อพยพแท้ๆ หรือพูดง่ายๆ สำหรับคนอย่าง Vance เค้าไม่ได้มีท่าทีในการเหยียดผู้อพยพแบบ Donald Trump แต่เค้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนุรักษ์นิยมอเมริกันตามจารีต คือ ให้ความสำคัญต่อศาสนาและสถาบันครอบครัวมาก

แต่ก็นั่นเอง แม้ว่า Vance จะเสนอแนวคิดนี้มา สื่อฝั่งซ้ายๆ ของอเมริกาก็ยกมาโจมตีกระจุย จนหลายคนลืมไปว่าไอเดียนี้ในยุโรป จริงๆ มันเป็นไอเดียแบบ "ก้าวหน้า" มาก ซึ่งว่ากันแบบแฟร์ๆ นี่ก็ไม่ใช่แนวคิดแรกจากยุโรปที่พอเข้ามาอเมริกาแล้วก็โดนจับมา "หกคะเมน" เพื่อรับใช้วาระทางการเมืองแบบคนละขั้วจากที่มันรับใช้ในยุโรป


อ้างอิง
Where J.D. Vance’s weirdest idea actually came from
Power to the Parents
Demeny voting
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน