Skip to main content

 

“ถ้าฉันไม่มีนัดกับใคร ฉันจะพยายามไม่ไปกินข้าวนอกบ้าน แต่ถ้ามีนัดสัปดาห์ละสองครั้ง ฉันจะยกธงแดงบอกตัวเองว่า พอแค่นั้น” ชเว เยบิน อายุ 27 ปี บอก

คนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ที่เป็นแบบเดียวกับชเวกำลังเพิ่มมากขึ้น พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย จากเดิมที่ใช้เงินจับจ่ายซื้อหาความสุข มาสู่การประหยัด และใช้เงินกับการลงทุนเพื่ออนาคต

มากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ไลฟ์สไตล์แบบ “YOLO” หรือความคิดที่ว่า ชีวิตมีแค่ครั้งเดียว ต้องใช้ให้คุ้ม (You Only Live Once) ทำให้ชาวเกาหลีให้ความสำคัญกับเรื่องความสุขแบบซื้อหาด้วยเงิน มากกว่าที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อเตรียมรับกับอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน  เทรนด์นี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการที่ชาวเกาหลีใช้ชีวิตแบบโสดเพิ่มมากขึ้น

มาถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าการใช้จ่ายเงินไปกับปาร์ตี้และความสนุกสนานจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อเกิดไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่เรียกว่า “YONO” หรือ การเลือกเฉพาะสิ่งที่ต้องการมาสิ่งเดียว (You Only Need One) เป็นรูปแบบการบริโภคที่ลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย หรือการใช้เงินไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น

ราคาที่อยู่อาศัยและอาหารที่แพงขึ้น การกินข้าวนอกบ้าน คิดแล้วเป็นค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่สูงมาก ทำให้ชเวรู้สึกว่าจ่ายค่าอาหารเย็นที่ร้านแพงมาก

“การที่คนเอ็นจอยกับอาหารญี่ปุ่นแพงๆ อย่าง ร้านโอมากาเสะ ได้เปลี่ยนไปแล้ว คนช่วงวัยยี่สิบเปลี่ยนมาเป็นแบบที่ว่า ฉันอยากจ่ายเงินเพื่ออย่างอื่นมากกว่า มันทำให้ฉันนึกถึงปฏิกริยาของคนรุ่นก่อนๆ ตอนที่เห็นคนหนุ่มสาวเริ่มเอ็นจอยกับวัฒนธรรมการกินอาหาร” ชเวบอก

เงินเฟ้อที่สูงและรายที่ลดลงผลักให้ชาวเกาหลีรุ่นใหม่ ใช้จ่ายเงินเฉพาะกับสิ่งที่พอใจจริงๆ ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติของเกาหลี เผยว่า จากปี 2021 ถึงปี 2023 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.5, 5.1 และ 3.6 ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น รายได้ต่อปีของคนเกาหลีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5, 0.9 และ 1.6 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ข้อมูลจากธนาคาร NongHyup ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าธนาคารตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 ถึง 30 มิถุนายน 2024 พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จำนวนการรูดบัตรจ่ายค่าอาหารมื้อเย็นนอกบ้านในกลุ่มคนหนุ่มสาวช่วงวัย 20 และ 30 ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การซื้ออาหารจากร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 21

จำนวนการจ่ายเงินผ่านบัตรในห้างสรรพสินค้าลดลงร้อยละ 3 และการซื้อกาแฟราคาสูงอย่าง สตาร์บัค และอะทูซัมเพลส ลดร้อยร้อยละ 13 ขณะที่การซื้อรถยนต์นำเข้าลดลงร้อยละ 11 และการซื้อรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34

“เงินเฟ้อ เป็นปัจจัยแรกที่ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นำโดยค่าครองชีพที่สูงขึ้น  ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากต่อไป คนหนุ่มสาวจึงมีความเจ็บปวดจากเศรษฐกิจมากที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาคนช่วงวัยต่างๆ” รายงานการศึกษาของสหพันธ์อุตสาหกรรมเกาหลีเมื่อปี 2022 ระบุ

“เราเป็นคนรุ่นที่ควรได้มีช่วงชีวิตการทำงาน ซึ่งต้องตระเตรียมเงินสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างอิสระ ฉันอยากเตรียมเงินไว้เพื่อการลงทุนมากกว่าที่จะใช้มันอย่างสูญเปล่า” ลี พนักงานออฟฟิศวัย 30 ปี กล่าว

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้จ่ายนี้ ไม่ได้แปลว่าคนรุ่นใหม่เกาหลีจะประหยัดไปเสียทุกเรื่อง พวกเขายังยินดีกับการใช้จ่ายเงินเพื่องานอดิเรก หรือการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ที่มา
Young Koreans say 'No' to YOLO, 'Yes' to