Skip to main content

 

‘ธนาคารเวลา’ ส่งเสริมให้ผู้คนได้สะสมชั่วโมงการทำงานเพื่อสังคม โดยที่สามารถเบิกเวลาที่สะสมไว้ ออกมาใช้ได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการเบิกเวลามาใช้เมื่อยามแก่ชรา

เคยลองคิดเล่นๆ ไหมว่าโลกใบนี้จะเป็นอย่างไร หากเราสามารถฝาก “เวลา” ไว้กับ “ธนาคาร” และสามารถ “ถอนเวลา” ออกมาใช้ได้เมื่อเราต้องการ TimeBank องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา มีคำตอบให้กับคำถามนั้น

TimeBank คือ ธนาคารเวลา ที่ดำเนินการเหมือนกับธนาคารทั่วไป ที่มีทั้งการรับฝาก-ถอน รวมทั้งการจัดเก็บ “เวลา” ทุกชั่วโมงที่ถูกใช้ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและการช่วยเหลือชุมชน  โดยธนาคารเวลารูปแบบนี้ กระจายตัวอยู่มากกว่า 37 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เซเนกัล อาร์เจนตินา บราซิล และในยุโรป มีสมาชิกหลายแสนคน และมีการฝาก-ถอนเวลาไปแล้วมากกว่า 3.2 ล้านครั้ง

เดวิด กิลล์ สมาชิกรายหนึ่งของธนาคารเวลาในเมืองเซบาสโตโพล รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทด้านการดูแลสุขภาพ มีเวลาฝากอยู่ในธนาคารเวลามากถึง 480 ชั่วโมง โดยที่ยังไม่รวมเวลาที่เขาจะได้รับจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในปี 2023 ด้วยซ้ำ

กิลล์มักใช้ความเชี่ยวชาญของเขาช่วยเหลือชุมชน เช่น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการวางแผนทางการเงิน และเปลี่ยนให้เป็นเวลาที่สามารถฝากไว้ในธนาคารเวลา ทั้งนี้ กิลล์มักจะถอนเวลาที่เขาฝากไว้มาใช้ เมื่อเขาต้องการคนขับรถไปส่งที่สนามบิน หรือต้องการคนช่วยขนเฟอร์นิเจอร์หนักๆ เป็นต้น

หากกิลล์เรียกใช้บริการรถแท็กซี่หรือช่างซ่อม เขาคงต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อบริการเหล่านั้น ดังนั้น การใช้บริการธนาคารเวลาจึงช่วยให้กิลล์ประหยัดเงินได้ ขณะเดียวกัน ก็สร้างทุนทางสังคมให้กับเขา เพราะเขาได้รู้จักกับคนอื่นๆ ในชุมชน ที่ต่อมากลายเป็นเพื่อนของเขา

“ผมได้เจอเพื่อนที่แสนดี ที่หากไม่มีธนาคารเวลาผมคงไม่ได้เจอพวกเขา และตอนนี้พวกเราต่างก็เชื้อเชิญกันและกันไปร่วมงานปาร์ตี้ในสวนของเรา เรียกว่า มันคือการสร้างชุมชนและสร้างการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถประเมินเป็นราคาได้” กิลล์ กล่าว

ธนาคารเวลาหลายแห่งเป็นโครงการอาสาสมัครเพื่อชุมชน แต่ธนาคารเวลาในเมืองเซบาสโตโพลแห่งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น และดำเนินการภายใต้สถานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของศูนย์วัฒนธรรมชุมชน ซึ่ง คริสต้า วัตต์ ผู้อำนวยการธนาคารเวลา TimeBank กล่าวว่า “เมืองจะประหยัดเงินได้หลายพันดอลลาร์ เมื่อประชาชนหลายร้อยคนออกมาให้บริการชุมชนของตัวเองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”

ทั้งนี้ ธนาคารเวลาของเมืองเซบาสโตโพลมีเวลาที่รับฝากเอาไว้มากกว่า 8,000 ชั่วโมง นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2016 ซึ่งสมาชิกอาจมีการใช้เงินเพื่อจ่ายให้กันในบางกรณี เช่น ค่าน้ำมัน หรือค่าวัสดุต่างๆ แต่ค่าการบริการและค่าการเป็นสมาชิกนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

หลายเมืองทั่วโลกก็ใช้ธนาคารเวลาเพื่อเป็นต้นแบบของโครงการสนับสนุนประชากรสูงวัย เช่น ที่เมืองเซนต์กาลเลิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ธนาคารเวลาถูกนำมาใช้เพื่อช่วยผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ทั้งการซื้อของ ออกไปทำธุระ การไปพบแพทย์ หรือการหาคนมาเป็นเพื่อนคุย ซึ่งช่วยจัดการปัญหาความเหงาและความโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ

 

อ้างอิง
Banking the Most Valuable Currency: Time
เว็บไซต์ TimeBank
เว็บไซต์ Sebastopol Time Bank