Skip to main content

สหประชาชาติ ถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทเทค ถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่ปราศจากความโปร่งใส และกำลังทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร

อันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แถลงข่าวเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ “แสดงความรับผิดชอบ” ต่อผลกระทบที่เกิดจากการทำธุรกิจของบริษัท ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสาร

“ออกมาแสดงความรับผิดชอบ และยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ของพวกคุณกำลังส่งผลกระทบกับผู้คนและชุมชนทั้งหลาย” เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แถลงถึงการเริ่มใช้หลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับความมั่นคงด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริม “ระบบข้อมูลข่าวสารที่มีมนุษยธรรม”

กรอบของสหประชาชาติเกี่ยวกับความมั่นคงด้านข้อมูลข่าวสาร ประกอบไปด้วยเสาหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1) ความเชื่อถือต่อสังคมและการคืนความเป็นปรกติ 2) ความเป็นอิสระเสรี และการมีสื่อที่หลากหลาย 3) แรงจูงใจที่ดี 4) ความโปร่งใสและการวิจัย และ 5) การเพิ่มอำนาจให้กับสาธารณะ

หลักการเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้กับประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงสื่อ ภาคธุรกิจเอกชน และการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมีข้อแนะนำ 26 ข้อ สำหรับบริษัทเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ที่ครอบคลุมไปถึงการประเมินและปรับรูปแบบธุรกิจเสียใหม่เพื่อไม่ให้มีความคลุมเครือและซับซ้อน รวมไปถึงระบบการโฆษณาออนไลน์และผลกำไร และคอนเทนต์ที่มีข้อมูลบิดเบือนและเนื้อหาสร้างความเกลียดชังที่สร้างขึ้นจากเอไอ

ยังมีการเรียกร้องอย่างมากให้มีฏิบัติการเกี่ยวกับความโปร่งใสของบริษัทเทคในการลงโฆษณา และเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้งานแฟล็ตฟอร์มของบริษัทเทค รวมถึงเสนอให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมและเลือกได้มากขึ้นถึงการยินยอมให้นำเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์

“ไม่ควรมีใครเห็นอกเห็นใจเจ้าอัลกอรึทึมที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ มันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้คน ซ้ำยังสอดส่องพฤติกรรมเพื่อรวบรวมเอาข้อมูลส่วนบุคคลและขโมยเอาไป” กุแตเรช กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทเทคจากหน่วยงานภายนอก และให้มีการเผยแพร่รายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ ควบคู่ไปกับการจัดทำมาตรการที่จำกัดการคุกคามหรือผลิตข้อมูลเท็จ ซึ่งกรณีล่าสุด ยูทูปและเอ็กซ์ ล้มเหลวในการควบคุมข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ยังตั้งคำถามถึง “การคงไว้ซึ่งเสรีภาพ ความเป็นอิสระ ความอยู่รอด และภูมิทัศน์ของสื่อที่หลากหลาย” โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากผู้สื่อข่าวซึ่งทำงานบนผลประโยชน์ของสาธารณะ ขณะที่ผู้สื่อข่าวเองมีเรียกร้องให้มีการเพิ่มและการบังคับใช้มาตรฐานของบรรณาธิการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเนื้อหาว่า จะอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและความเป็นจริง


ที่มา
UN to tech companies: ‘Take responsibility’ for harms on information access