Skip to main content

Libertus Machinus
 

 


ถ้าคนทั้งโลกจะมีคุณภาพชีวิตแบบสวีเดน เราต้องการโลก 4 ใบ แต่จริงๆ แค่ให้คนทั้งโลกมีคุณภาพชีวิตแบบคนไทยระบบนิเวศของโลกปัจจุบันก็รับไม่ไหวแล้ว

ในอดีตการพูดว่า โลกเรารับพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ไหวอีกแล้ว เป็นเรื่องน่าเบื่อที่มีแต่พวกนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่จะพูด อย่างไรก็ดีเมื่อ "โลกร้อน" เพิ่มระดับความร้อนขึ้นเรื่อยๆ  ทุกปีแบบเห็นๆ คนทั่วโลกก็ดูเหมือนจะเริ่มคิดว่า การพูดว่า "โลกรับไม่ไหว"  ไม่ใช่เรื่องที่พวกนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมโม้ เพราะทุกคนก็น่าจะมีประสบการณ์ตรงกับ "ภาวะโลกรวน" กันแล้ว

ทีนี้สมมติว่า ทุกคนยอมรับว่าการใช้ทรัพยากรของเรามีปัญหาจริงๆ คำถามต่อมาก็คือ ใช้ทรัพยากรแค่ไหนจึงจะไม่มีปัญหา? เราใช้ไฟฟ้ามากไปแค่ไหน? เรากินเนื้อสัตว์มากไปแค่ไหน? เราปล่อยไอเสียรถยนต์มากไปแค่ไหน? เรามีเสื้อผ้าเยอะไปแค่ไหน?

ก่อนที่จะคิดว่า คำถามพวกนี้ไม่มีคำตอบหรอก จริงๆ แล้วพวกนักนิเวศวิทยาเค้าคิดคำนวณกันมาเป็น 20 ปีแล้ว โดยที่มีการพัฒนาหน่วยคำนวณที่ชื่อว่า Global Hectare (gha) ซึ่งไอเดียของการสร้างหน่วยคำนวณนี้ขึ้นก็เพื่อจะเป็นหน่วยกลางในการคำนวณหาสัดส่วนว่า มนุษย์ทำการ "ใช้" โลก มากกว่า "กำลังการผลิต" ของโลกแค่ไหน


Global Hectare - รอยเท้านิเวศ และศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ

 

Global Hectare เป็นหน่วยของอะไร? คำตอบมี 2 อย่าง อย่างแรก คือ การใช้โลกของมนุษย์ที่เค้าเรียกว่า "รอยเท้านิเวศ" (ecological footprint) ของมนุษย์บนโลก อย่างที่สองคือ "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" (biocapacity) ของโลก

ตรงนี้ก็จะเห็นว่า สมการมันก็จะออกมาง่ายๆ เลยว่า เอารอยเท้านิเวศไปหารศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ เราก็จะได้คำตอบเชิงปริมาณว่ามนุษย์นั้นใช้โลก "เกินขีดจำกัดในการรองรับ" แค่ไหน? ซึ่งผลของการเกินขีดจำกัดที่ว่าก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ กองขยะย่อยสลายช้าจะพอกพูนไปเรื่อยๆ บนภูเขาขยะ เรื่อยไปจนถึงสารเคมีบนเปื้อนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น

การคิดคำนวณแบบนี้ทำให้ทั้งระดับประเทศและโลก เอาไปประยุกต์ต่อได้ว่า ถ้าคนทั้งโลกมีมาตรฐานการครองชีพระดับประเทศหนึ่งๆ จะสร้าง "รอยเท้านิเวศ" ในระดับที่ต้องการโลกอีกกี่ใบถึงจะมี "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ที่เพียงพอ

 

ประเทศไทย ก็ต้องการพื้นที่อีก 1.9 เท่าของประเทศในปัจจุบัน "รอยเท้านิเวศ" กับ "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ถึงจะสมดุลกัน

 

ถ้าเข้าใจร่วมกันแล้ว ก็ไปดูตัวเลขเลยครับ ซึ่งตัวเลขอัปเดตล่าสุดคือของปี 2022 ซึ่งใช้ตัวเลขจาก National Footprint and Biocapacity Accounts ที่ทำโดย Global Footprint Network ในปี 2018

จริงๆ เราก็จะเห็นว่ามีหลายประเทศมากที่ "รอยเท้านิเวศ" น้อยกว่า "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ซึ่งก็แน่นอน ประเทศที่พวกพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำเป็นแบบนี้เกือบหมด แต่ที่น่าสนใจคือ พวกประเทศที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงจำนวนไม่น้อย แต่มี "ประชากรไม่หนาแน่น" ก็มี "รอยเท้านิเวศ" น้อยกว่า "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" เช่นกัน และเรากำลังพูดถึงประเทศอย่าง สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ซึ่งจุดที่ประเทศพวกนี้มีร่วมกันคือ การมีขนาดพื้นที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้น จึงมี "ธรรมชาติ" เหลือเฟือจะผลิตและรองรับกิจกรรมของมนุษย์ในประเทศ และว่ากันตรงๆ ประเทศเหล่านี้ใช้ธรรมชาติได้อย่าง "ยั่งยืน" แบบไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มอยู่แล้ว

นี่หมายความว่าประเทศอื่นๆ สร้าง "รอยเท้านิเวศ" มากกว่า "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" หมด ซึ่งการคิดคำนวณเค้าก็จะคิดว่าแต่ละประเทศต้องการพื้นที่อีกเท่าไร ถึงจะรองรับกิจกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไหว เช่น ประเทศไทย ก็ต้องการพื้นที่อีก 1.9 เท่าของประเทศในปัจจุบัน "รอยเท้านิเวศ" กับ "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ถึงจะสมดุลกัน สหรัฐอเมริกาต้องการพื้นที่เป็น 2.4 เท่าของพื้นที่ประเทศปัจจุบัน สเปนต้องการพื้นที่เป็น 2.9 ของพื้นที่ประเทศปัจจุบัน เยอรมนีต้องการพื้นที่เป็น 3.1 เท่าของพื้นที่ประเทศปัจจุบัน จีนต้องการพื้นที่เป็น 4.1 เท่าของพื้นที่ประเทศปัจจุบัน สวีเดน ต้องการพื้นที่เป็น 4 เท่าของพื้นที่ประเทศปัจจุบัน สวิสเซอร์แลนด์ต้องการพื้นที่เป็น 4.4 เท่าของพื้นที่ประเทศปัจจุบัน และสิงคโปร์ต้องการพื้นที่เป็น 104 เท่าของพื้นที่ประเทศปัจจุบัน เป็นต้น

ถ้าคิดแบบทั้งโลก เราก็จะเห็นเลยว่า "รอยเท้านิเวศ" ของมนุษย์สูงกว่า "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ถึง 1.75 เท่าตัว หรือเราต้องการโลกเพิ่มอีก 0.75 ใบเพื่อมารองรับกิจกรรมของเราได้อย่างยั่งยืน


คุณภาพชีวิตแบบประเทศไหนถึงจะ ‘พอดี’ กับ ‘ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ’

 

มาถึงตรงนี้ เราอาจคิดไปว่า เพราะพวกประเทศพัฒนาแล้วมันบริโภคแบบไม่บันยะบันยังหรือเปล่า "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ของโลกเลยไม่ไหว?

คำตอบตรงนี้นำมาสู่การคำนวณที่สนุกอีกอันหนึ่งซึ่งก็คือ เค้าคำนวณว่า ถ้าคนทั้งโลกมีมาตรฐานการครองชีพเท่ากับประเทศต่างๆ เราจะต้องการ "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ของโลกกี่ใบกัน

คำตอบที่ออกมาอาจฟังดูไม่รื่นรมย์แน่ๆ สำหรับคนที่เชื่อว่าคนทั้งโลกควรจะสามารถมี "คุณภาพชีวิตแบบประเทศพัฒนาแล้ว” เพราะถ้าจะเอาคุณภาพชีวิตแบบสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เราต้องการโลก 5.1 ใบ ถึงจะมี "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ที่สูงพอ หรือถ้าจะหันมาหามาตรฐานแบบสวีเดน เราก็ต้องการโลก 4 ใบถึงจะพอ ถ้าเป็นมาตรฐานฝรั่งเศสเราต้องมีโลก 2.8 ใบ ถ้าเป็นมาตรฐานอังกฤษเราก็ต้องมีโลก 2.6 ใบ ถ้าเป็นมาตรฐานจีนก็ต้องมีโลก 2.4 ใบ เป็นต้น

แต่ที่น่าจะช็อคที่สุดคือ เอาแค่มาตรฐานชีวิตแบบคนไทยที่ชนชั้นกลางไทยบ่นกัน เราก็ต้องการโลก 1.5 ใบ หรือต้องการโลกเพิ่มอีกครึ่งใบ เพื่อรองรับแล้วครับ นั่นหมายความว่า แค่จะเอาให้คนทั้งโลกมีมาตรฐานชีวิตแบบคนไทย ระบบนิเวศของโลกก็ยังรับไม่ไหวเลย

แล้วถ้าถามว่า คุณภาพชีวิตแบบประเทศไหนถึงจะ "พอดี" กับ "ศักยภาพในการรองรับเชิงนิเวศ" ของทั้งโลก คำตอบคือ พม่า ศรีลังกา จาไมก้า ไนเจอร์ ครับ

ซึ่งก็ใช่อีกครับ คำตอบที่คนจำนวนมากอาจรับไม่ได้ก็คือ คนทั้งโลกต้องมี "มาตรฐานการครองชีพ" เพียงแค่ระดับพม่านั่นแหละระบบนิเวศปัจจุบันของโลกถึงจะ "รับไหว" แบบ "ยั่งยืน"

แน่นอน หลายๆ คนก็จะบอกว่า ถ้าเทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้น โลกน่าจะรับพฤติกรรมเราไหวขึ้น คำตอบเร็วๆ คือ องค์กรไม่แสวงกำไร Population Matters ของอังกฤษเค้าเคยคำนวณว่า สมมติทั้งโลกใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) กันหมด แล้วมีมาตรฐานการครองชีพแบบชาวยุโรป เราก็น่าจะต้องการโลก 2.8 ใบมารองรับรอยเท้านิเวศของเราอยู่ดี

ใช่แล้วครับ นี่หมายความว่า แม้ว่านักอุดมคติจะมองว่ามนุษย์ทั้งโลกควรจะมีคุณภาพชีวิตแบบชาวยุโรปได้ แต่ถ้าไปถามนักนิเวศวิทยา เค้าก็จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะการยกมาตรฐานคุณภาพชีวิตแบบนั้น จะสร้างรอยเท้าเชิงนิเวศเพิ่มอีกมหาศาลในระดับที่เกินปัจจุบันไปไกล และ "ผล" ของมันก็จะเลวร้ายยิ่งกว่า "ภาวะโลกรวน" ที่เราเจอกันตอนนี้อีก

 

แต่ที่น่าจะช็อคที่สุดคือ เอาแค่มาตรฐานชีวิตแบบคนไทยที่ชนชั้นกลางไทยบ่นกัน เราก็ต้องการโลก 1.5 ใบ หรือต้องการโลกเพิ่มอีกครึ่งใบ เพื่อรองรับแล้วครับ นั่นหมายความว่า แค่จะเอาให้คนทั้งโลกมีมาตรฐานชีวิตแบบคนไทย ระบบนิเวศของโลกก็ยังรับไม่ไหวเลย


แล้วจะทำยังไง? ต้อง ‘หยุดบ้าการเติบโต?’

 

ถ้าอธิบายสั้นๆ จะมีกลุ่มขบวนการทางความคิดใหม่ที่ "ถึงรากถึงโคน" มากๆ ชื่อว่ากลุ่ม "หยุดบ้าการเติบโต" (degrowth) คือ เค้าจะบอกว่า "วิถีชีวิต" มนุษย์ต้องเปลี่ยนทั้งหมด เพื่อให้สมดุลกับศักยภาพการรองรับเชิงนิเวศ และสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การหยุดมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจคือเรื่องปกติที่จำเป็น เพราะในความเป็นจริงการที่เศรษฐกิจหยุดโต หรือโตแบบติดลบอาจเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลกับระบบนิเวศมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แน่นอนว่า อะไรพวกนี้ถ้าพูดเมื่อ 20 ปีก่อน แทบทุกคนน่าจะหัวเราะใส่ แต่ตัดภาพมาปัจจุบันหนังสือ Slow Down: The Degrowth Manifesto ของ Kohei Saito นักปรัชญามาร์กซิสต์ชาวญี่ปุ่น สามารถกลายมาเป็นหนังสือขายดีระดับนานาชาติที่ขายได้เป็นแสนๆ เล่มได้ และปรากฎการณ์นี้ก็น่าจะบอกถึงบรรยากาศทางความคิดที่เปลี่ยนไปอย่างมากในโลก

เพราะถ้ากลับมาในประเด็นแรกสุด "ภาวะโลกร้อน" หรือ "ภาวะโลกรวน" อันเข้มข้นในปัจจุบันมันทำให้ "คนทั่วไป" ทั่วโลกตื่นขึ้นจริงๆ ว่าไม่สามารถหนี "การทวงหนี้ทางนิเวศ" ไปได้อีกแล้ว และถ้าใช้ระบบนิเวศไปอย่างหนักหน่วงกว่านี้ มันก็มี "ราคาที่ต้องจ่าย" ที่น่าจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย

บทความนี้ก็อยากจะให้เราเห็นกันคร่าวๆ ว่าที่เป็นๆ อยู่ในปัจจุบัน มนุษย์เราใช้ "ระบบนิเวศ" ของโลกใบนี้เกินศักยภาพไปแค่ไหนแล้ว


อ้างอิง
How many Earths? How many countries?
How many Earths do we need?
Global hectare
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน