Skip to main content

คุณครูสอนคณิตศาสตร์ในฮาวายเลือกใช้การสอนแบบ “คณิตศาสตร์ชาติพันธุ์” เพื่อเชื่อมโยงการเรียนเลขที่แสนยากและน่าเบื่อ ให้เข้ากับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของนักเรียนมากขึ้น

ก่อนจะเริ่มเรียนคณิตศาสตร์เรื่องสมการเชิงเส้น ครูซิดนีย์ คีลานาเฮเล ถามนักเรียนชั้นเกรด 8 ที่อาศัยอยู่บนเกาะโอวาฮู เกาะใหญ่อันดับ 3 ของฮาวายว่า ทำไม “คาโล” หรือ “รากเผือก” จึงมีความสำคัญในฮาวาย มีใครรู้จักคาโลบ้างไหม หรือใครเคยมีประสบการณ์เก็บรากเผือกบ้าง นักเรียนชายคนหนึ่งที่ไม่เคยปริปากพูดในชั้นเรียนและไม่เคยสนใจวิชาคณิตศาสตร์ ยกมือและบอกด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “ผมไปเก็บรากเผือกกับคุณย่าครับ คุณย่ามีไร่เผือก”

การพูดคุยแลกเปลี่ยนเริ่มต้นขึ้นในชั้นเรียน เด็กนักเรียนทุกคนรู้จัก poi อาหารเนื้อครีมที่ทำจากเผือกบด ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวฮาวาย ขณะที่เด็กหลายคนสังเกตเห็นว่าไร่เผือกบนเกาะโอวาฮูของพวกเขากำลังลดจำนวนลง นั่นคือตอนที่ครูซิดนีย์เริ่มต้นเขียนบนกระดานไวท์บอร์ด วาดกราฟข้อมูลปริมาณเผือกที่ผลิตได้จากมากไปน้อย และนำไปสู่การวิเคราะห์ว่า ทำไมเกาะโอวาฮูจึงผลิตเผือกได้น้อยลง ก่อนจะกลายเป็นการถกเถียงเรื่องการขาดแคลนแรงงานในไร่

ครูซิดนีย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นเกรด 8 ในโรงเรียน Kamehameha มาได้ 6 ปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เธอเริ่มบทเรียนด้วยการพูดคุยเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากการที่ครูซิดนีย์ไปฝึกอบรมเรื่อง “คณิตศาสตร์ชาติพันธุ์” (ethnomathematics) หรือการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับวัฒนธรรม โดยนำหลักการคณิตศาสตร์ไปฝังไว้ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของนักเรียน

แม้คณิตศาสตร์ชาติพันธุ์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ถูกนำมาใช้ในห้องเรียนอย่างแพร่หลายมากนัก จนกระทั่งมีความพยายามสร้างห้องเรียนคณิตศาสตร์ที่มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะกับนักเรียนผิวดำ ฮิสแปนิก และชนพื้นเมือง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำคะแนนสอบของรัฐบาลกลางได้ต่ำกว่านักเรียนชาวเอเชียและผิวขาว

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า การสอนคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมากเกินไป และตัดขาดจากประสบการณ์ของนักเรียน ทำให้เกิดช่องว่างความสำเร็จระหว่างนักเรียนต่างชาติพันธุ์ ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องมีแนวทางการเรียนคณิตศาสตร์แบบใหม่ออกมา

คณิตศาสตร์ชาติพันธุ์ เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นในปี 1970 โดย อูบีราตัน ดิอัมโบรซิโอ นักคณิตศาสตร์ชาวบราซิล และปรากฏตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว เมื่ออาจารย์ด้านการออกแบบของมหาวิทยาลัยในมิชิแกนได้พัฒนาชุดการสอนที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จากนั้นใช้พีชคณิต เรขาคณิต และตรีโกณมิติเพื่อสร้างการออกแบบ

ความท้าทายของการใช้คณิตศาสตร์ชาติพันธุ์ คือ การหาวิธีใช้เครื่องมือที่เป็นของจริงที่นักเรียนทุกคน ทุกสีผิว และทุกชาติพันธุ์สามารถยอมรับและให้ความเคารพได้ ทั้งนี้ หากใช้การเรียนรูปแบบนี้ได้ถูกต้อง จะยังส่งผลดีกับตัวครูผู้สอนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้คุณครูจากหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ เริ่มให้ความสนใจ และมีการเปิดสอนคณิตศาสตร์ชาติพันธุ์ ในระดับปริญญาโทอีกด้วย


อ้างอิง
เว็บไซต์โปรแกรม
To Engage Students in Math, Educators Try Connecting it to Their Culture