Skip to main content

วิริญจน์ หุตะสังกาศ

 

ฤดูร้อนปี 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ อากาศร้อนระอุ ฝุ่นควันบดบังดอยสุเทพจนเห็นเพียงเงาราง ๆ

สำนักพิมพ์ Mountain Mind (ประเทศไทย) และสำนักพิมพ์ Slowbooks (ประเทศเวียดนาม) ได้จับมือกันจัดนิทรรศการเล็ก ๆ ในห้องสมุดหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567

เมื่อเดินเข้ามาในนิทรรศการ ก็จะได้ชมแกลอรี่ภาพวาดประกอบหนังสือของทั้งสำนักพิมพ์ Mountain Mind และสำนักพิมพ์ Slowbooks ซึ่งเน้นการผลิตหนังสือภาพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความสวยงามของธรรมชาติที่มนุษย์อาจหลงลืมไป
 

 

 

นอกจากนี้ยังมีโต๊ะหนังสือภาพที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมในหลากหลายภาษาและวัฒนธรรม อย่าง ไทย ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม อังกฤษ และอเมริกา

โซนที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ คือ หนังสือภาพไทยยุค 2520-2530 ที่รณรงค์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ เนื้อเรื่องนั้นยังสามารถหยิบมาอ่านได้ใหม่แม้กาลเวลาผ่านไป 30-40 ปีแล้วก็ตาม (นั่นแปลว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นเลย…)

อย่างเรื่อง “บ้านของสีนวล” ที่พูดถึงเรื่องการลักลอบจับสัตว์สงวนมาเป็นสัตว์เลี้ยงในคนในเมือง
“ตะเพียนเข้ากรุง” ที่ชวนผู้อ่านตระหนักถึงแม่น้ำลำคลองที่เต็มไปด้วยขยะและสารเคมี
หรือ “ฉันคือต้นไม้” ที่เล่าเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า และกว่าที่ต้นไม้ต้นหนึ่งจะเติบโตมาได้นั้นต้องใช้เวลามากเพียงใด

จะเห็นว่าเราพูดเรื่อง “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” กันมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ตอนนั้นเราเจาะจงไปที่ปัญหาใดปัญหาหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ยังไม่มีภาพ “โลกทั้งใบ” ที่กำลังป่วยจากปัญหาเรื้อรังที่เราแก้ไขไม่ได้เสียที

 

 

ในปัจจุบัน หนังสือเด็กสอดแทรกแนวคิดเรื่อง “นิเวศวิทยา” ผ่านการกระตุ้นให้ผู้อ่านรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันของสรรพชีวิตบนโลกใบนี้

มุมหนังสือภาพของสำนักพิมพ์ Mountain Mind นั้นสีสันอ่อนโยนก็จริง แต่เนื้อหาสะเทือนใจรุนแรงทีเดียว เช่น
“วันนี้หนูกินอะไรดีนะ” ที่ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายแต่ทรงพลังเตือนใจผู้อ่านว่า "หากเราไม่ดูแลโลก เราจะไม่มีอาหารกิน"

“ในวันที่เรามีอากาศดี ๆ ไว้หายใจ” ที่เป็นกระบอกเสียงของชาวเชียงใหม่และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่สาหัสขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

หรือ “บ้านของเราสวยงามเหลือเกิน” ที่สะกิดผู้อ่านให้เงยหน้ามองดูโลกที่เป็น “บ้านหลังเดียว” ของเรา และชวนให้เราซ่อมแซมรักษาบ้านหลังนี้ไว้ให้ดีที่สุด

 



ส่วน สำนักพิมพ์ Slowbooks นั้นนำทั้งรูปภาพ โปสการ์ด และหนังสือภาพมาจากเวียดนามเพื่อมาจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ

หนังสือภาพชุด “เด็กชายทอม” นำเสนอปัญหาที่เด็กต้องเผชิญในภาวะโลกเดือด ชวนเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และหนทางรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เด็ก ๆ ทำได้ มีเกมให้เด็ก ๆ คิดและเล่นไปพร้อมกับทอม (เช่น ลองดูซิว่าในบ้านมีถุงพลาสติกกี่ใบ) และที่วิเศษที่สุด คือ มีสติ๊กเกอร์ให้แปะด้วย

ในเรื่อง “กองถุงพลาสติก” ทอมดูข่าวเรื่องถุงพลาสติกทำให้ปลาและเต่าเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แม่จึงอธิบายว่าเราลดการใช้พลาสติกและลดขยะได้อย่างไรบ้าง ในตอนท้ายเล่มก็มีคำอธิบายเรื่องการแยกขยะและการรีไซเคิลวัสดุต่าง ๆ

เรื่อง “ฉันลืมอะไรนะ” เล่าปัญหาที่ทอมนอนไม่หลับหลังจากกลับจากบ้านคุณยายที่ชนบท ทอมคิดว่าตัวเองลืมอะไรไว้ที่บ้านคุณยาย ซึ่งมาเฉลยภายหลังว่า ทอมนอนไม่หลับเพราะบ้านในเมืองมีแต่เครื่องปรับอากาศ ไม่มีลมเย็นสบายเหมือนที่บ้านคุณยาย นิทานเรื่องนี้ไม่ได้ต่อต้านเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือชีวิตในเมือง แต่ชวนให้เด็ก ๆ รักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้คงสภาพดีเป็นเวลานาน และชวนประหยัดไฟเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรในระยะยาว
 

 

 

และหนังสือเล่มล่าสุดที่คุณ Nguyễn Hữu Quỳnh Hương หรือ คุณฮู เจ้าของสำนักพิมพ์ Slowbooks ได้แต่งขึ้นพร้อมเพลงกล่อมเด็กคือเรื่อง “Slow Flow” ที่แสดงภาพเส้นทางเดินของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่จนเติบโตเดินเตาะแตะได้ หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราก้าวเดินช้า ๆ มองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และมีธรรมชาติคอยประคองให้มนุษยชาติก้าวเดินได้อย่างมั่นคงเสมอ วาดภาพประกอบโดย Wolf Potato Studio (Instagram : @soi.potato)

 



 


จะเห็นว่าการพูดถึง “สิ่งแวดล้อม” ในวรรณกรรมเด็กไม่ได้เป็นเพียงการให้ความรู้เท่านั้น แต่เป็นการใช้ศิลปะทั้งด้านภาพและภาษาในการร้อยเรียงเรื่องราว ให้ผู้อ่านทุกวัยตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในโลกใบนี้

หนังสือจึงเป็นมากกว่าผู้ส่งสารจากผู้ใหญ่ถึงเด็ก แต่เป็นสื่อที่กระตุ้นให้ผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ “ลงมือทำวันนี้” ไม่ต้องรอวันที่เด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วค่อยแก้ปัญหาที่ผู้ใหญ่วันนี้สร้างขึ้น

ผู้ใหญ่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง และเด็ก ๆ ผู้จำต้องแบกรับภาระดังกล่าว ก็ต้องรู้วิธีบรรเทาให้เบาบางลงในอนาคต ไม่ทำให้ภาระก้อนนี้หนักไปกว่าเดิม

Facebook สำนักพิมพ์ Slowbooks 
เว็บไซต์สำนักพิมพ์ Mountain Mind 

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน