คุณรู้สึกถูกรบกวนจากการสั่นเตือน หรือเสียงติ๊งๆ จากโทรศัพท์มือถือบ้างไหม นั่นทำให้เราไถจอโทรศัพท์ได้นานเป็นชั่วโมงๆ โดยไม่มีเหตุผล นักวิจัยบอกว่า นี่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเรา
การศึกษาของ คอสตาดิน คูสชเลฟ นักพฤติกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในสหรัฐ เผยว่า เสียงและการสั่นเตือนจากโทรศัพท์มือถือส่งผลทำให้สมองของเรายุ่งเหยิงจากการถูกรบกวนบ่อยๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับการรับรู้ของเรา หรือเพิ่มปริมาณข้อมูลที่หน่วยความจำของสมองต้องประมวลผล
การเตือนของมือถือที่ถี่เกินไปยังสามารถทำให้จิตใจของเราอ่อนล้ามากขึ้นจากการถูกรบกวน และสร้างความยุ่งเหยิงให้กับการควบคุมอารมณ์ ทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานย่ำแย่ลงด้วย
โดยเฉลี่ยต่อวัน คนทั่วไปจะมีการเตือนจากโทรศัพท์มือถือราว 60-80 ครั้ง แต่บางคนอาจมากถึง 200 ครั้ง ซึ่งดูเหมือนว่าเสียงติ๊งๆ และการสั่นเตือนนี้ดูจะไม่จบไม่สิ้นนี้จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา มีงานวิจัยที่เชื่อมโยงการเตือนของโทรศัพท์มือถือกับภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล รวมถึงเป็นปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการสมาธิสั้นร่วมด้วย
“คุณจะเหนื่อยล้าเร็วขึ้น และในตอนสิ้นสุดวัน คุณจะมีแนวโน้มที่จะจิตใจยุ่งเหยิงมากขึ้น คุณอาจบอกว่า โอเค ฉันเหนื่อย แต่ฉันก็แค่จะไถโทรศัพท์” คอสตาดินกล่าว
มีการวิจัยที่ มหาวิทยาลัยเบนกูเรียนในอิสราเอล โดย โมซี โรเซนบอย นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เขาให้นักศึกษาปริญญาตรี 188 คน แบ่งเป็นกลุ่ม โดยมีกลุ่มที่ได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือทุกหนึ่งนาที ทุกสามนาที และกลุ่มที่จะไม่ได้รับข้อความเลยเมื่อตอบแบบสอบถามเสร็จ เขาพบว่า นักศึกษาที่ได้รับข้อความบ่อยกว่า จะมีระดับความหุนหันพลันแล่นสูงกว่า มีพฤติกรรมขาดความสนใจ และมีอาการเครียดมากกว่านักศึกษากลุ่มอื่นๆ ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่ตอบแบบสอบถามเป็นตัวหนังสือ พบว่า มีความรอบคอบมากกว่า เช่น ในเหตุการณ์จำลองเกี่ยวกับการเงิน พวกเขาเต็มใจจะจ่ายซื้อลอตเตอรี โดยจะพิจารณาถึงโอกาสที่จะชนะรางวัลว่ามีมากน้อยแค่ไหน
โมซี เล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานภาคสนามในเรื่องนี้ เขาพบว่า การเตือนของโทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดที่มากขึ้นและเกิดพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นไปพร้อมกัน เช่น การซื้อเสื้อผ้าราคาแพงโดยไม่ยั้งคิด เช่นเดียวกับการเกิดความเสี่ยงที่จะไม่ชอบการตัดสินใจระยะยาว
“คุณไม่อยากที่จะตัดสินใจอะไรใดๆ ที่ต้องเจอกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน นั่นเพราะคุณไม่มีความรับรู้มากพอว่า คุณความจำเป็นต้องคิดคำนวณถึงความสำคัญของความเสี่ยงเหล่านี้” โมซีกล่าว
โมซีกล่าวว่า ในขั้นนี้ เราจะมีการรับรู้ที่ถูกต้องแม่นยำลดลง โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วกว่าที่เป็นจริง และยังส่งผลบิดเบือนความนึกคิดทำให้คนมองไม่เห็นถึงผลพวงที่จะตามมา รวมทั้งยังกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การกินมากเกินไป หรือการสูบบุหรี่จัดเกินไป
ในการโต้กลับการเตือนของโทรศัพท์มือถือที่อาจสร้างผลเสียร้ายแรงกับสมอง นักวิทยาศาสตร์เสนอแนะทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ การตั้งให้โทรศัพท์มือถือส่งการเตือนแบ่งเป็นหลายๆ ชุดที่กำหนดเวลาไว้แน่นอนในแต่ละวัน เช่น การเปิดการเตือนเฉพาะตอน 7 โมงเช้า ช่วงเที่ยงถึง 5 โมงเย็น และปิดการเตือนตอนพักทานมื้อเที่ยง และระหว่างเลิกงานกลับบ้าน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบนกูเรียน บอกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทเจ้าของแฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่จะเปลี่ยนแปลงโดย “ลดการเตือน” ที่เป็นการรบกวนลง แต่ทางทีมวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์ผู้ใช้งานของเฟสบุ๊กบอกว่า ทางบริษัทไม่ได้มีการปกป้องผลกระทบจากแอปลิเคชั่นที่มีต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้งาน
“ผมไม่คิดว่า เราจะสามารถเชื่อใจบริษัทเหล่านี้ว่าจะมีมาตรการควบคุมฟีเจอร์เหล่านี้ของตัวเอง” คูสชเลฟ กล่าว
อ้างอิง
A Psychiatrist Explains the Benefits of Turning Off Your Phone for Mental Health
Phone Notifications Are Messing With Your Brain