Skip to main content

Libertus Machinus

 

ทุกวันนี้ชาวโลกจำนวนมากเข้าใจ "รัฐสวัสดิการนอร์ดิก" ราวกับเป็นสังคมอุดมคติที่คนมีความสุขที่สุด และทำให้เกิดคำอธิบายต่างๆ นานา หาลักษณะร่วมของ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ที่เป็นความลับร่วมกัน ซึ่งคำอธิบายมันก็มีตั้งแต่ความเป็น "ไวกิ้ง" ความนับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเธอรัน ความมีอำนาจทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือกระทั่งการที่มีอากาศหนาวเย็นเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ถ้าใครแก่พอและมีความทรงจำที่ยาวนานพอ ตอนสมัยเด็ก เราไม่เคยจำประเทศแถบนี้เลยว่าเป็น "นอร์ดิก" และแน่นอน สวีเดนดังที่สุด แต่เราน่าจะนึกถึงความเป็นประเทศ ‘ฟรีเซ็กส์’ หรือ ‘IKEA’ มากกว่าประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ เดนมาร์ก เราน่าจะนึกถึงนม ‘ไทย-เดนมาร์ก’ และ ‘เทพนิยายเงือกน้อย’  ไอซ์แลนด์เราน่าจะนึกถึงนักร้อง ‘Bjork’ ที่ก่อเรื่องฉาวที่สนามบินกรุงเทพฯ ในปี 1996 ส่วนนอร์เวย์ เต็มที่คนฟังดนตรีร็อคหนักๆ ก็อาจนึกถึงดนตรีแบล็คเมทัล และฟินแลนด์สมัยก่อนนี้ คนก็คงนึกไม่ออกว่ามันมีอะไร

ซึ่งความเข้าใจแบบนั้นก็ไม่ผิด เพราะความเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการนอร์ดิก เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด เป็นแนวคิดที่มีอายุไม่เกิน 20 ปีเท่านั้นเอง

แต่มันมาได้ยังไง?


‘รัฐสวัสดิการ’ เกิดขึ้นเพราะการต้านคอมมิวนิสต์

 

อยากจะเริ่มก่อนว่า เอาจริงๆ คำว่า “รัฐสวัสดิการ” เองเป็นมโนทัศน์ที่เกิดช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หรือเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ดังนั้น "คำอธิบาย" ว่า รัฐสวัสดิการเกิดตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ล้วนเป็น "คำอธิบายย้อนหลัง"

ถามว่าทำไมถึงเกิด "รัฐสวัสดิการ" ขึ้นช่วงนั้น คำตอบเร็วๆ คือ สงครามเย็นทำให้บรรยากาศของประเทศโลกเสรีเปลี่ยนไป ทุกชาติที่ไม่อยากให้มีการลุกฮือปฏิวัติชนชั้นแรงงานคิดว่า ต้องมีระบบในการดูแลแรงงานบางอย่าง เพื่อให้พวกเค้าไม่ลุกขึ้นมาปฏิวัติแล้วเปลี่ยนสังคมเป็นคอมมิวนิสต์

ดังนั้น ในช่วงพีคๆ ของสงครามเย็นเราก็เลยจะเห็นการเติบโตของรัฐสวัสดิการในระดับที่สูงสูด แม้แต่ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่รังเกียจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด "สังคมนิยม" แบบเข้ากระดูกดำ

แต่ก็แน่นอนตรรกะแบบนี้ หลังช่วงปลายสงครามเย็น หลายๆ ชาติที่เคยมีรัฐสวัสดิการก็เริ่มแงะเอารัฐสวัสดิการออก เพราะมันไม่ได้มีหน้าที่ "ป้องกันคอมมิวนิสต์" อีกแล้ว ดังจะเห็นได้จากแนวคิด "เสรีนิยมใหม่" ที่เริ่มโตมาในทศวรรษ 1980 และมีบทบาทสำคัญในการรื้อถอนรัฐสวัสดิการทั่วโลกหลังจากนั้น


รัฐสวัสดิการแบบ ‘นอร์ดิกโมเดล’

 

อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของเสรีนิยมใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของรัฐสวัสดิการก็ทำให้ลักษณะของรัฐสวัสดิการชัดขึ้น และในปี 1990 งานวิชาการในตำนานของนักสังคมวิทยาชาวเดนมาร์กอย่าง Gøsta Esping-Andersen ก็ถูกผลิตออกมา ในหนังสือชื่อ The Three Worlds of Welfare Capitalism

งานชิ้นนี้เป็นครั้งแรกที่ทำการแบ่ง "รัฐสวัสดิการ" เป็น 3 แบบ คือ แบบสังคมนิยมกลุ่มประเทศนอร์ดิก แบบอนุรักษ์นิยมแบบประเทศยุโรปอื่นๆ และแบบเสรีนิยมอังกฤษและอเมริกา ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ เร็วๆ ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่มีการจับ "กลุ่มประเทศทางเหนือ" (“นอร์ดิก" แปลกตรงๆ ว่า "เหนือ") ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจการเมืองเฉพาะร่วมกัน ซึ่งลักษณะเฉพาะที่ว่า ก็คือ กลุ่มประเทศพวกนี้มีรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดในโลกแล้ว และคำว่า "โมเดลแบบนอร์ดิก" (Nordic Model) ก็เกิดครั้งแรกในงานนี้

ผลงานวิชาการนี้มีอิทธิพลในโลกวิชาการอย่างมาก แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่เรื่องซึ่งโด่งดังในโลกวิชาการจะใช้เวลายาวนานกว่าจะเข้ามาสู่ความเข้าใจของคนทั่วไป เพราะสำหรับคนทั่วไป ไม่ว่างานชิ้นนี้จะบอกยังไง พวกประเทศนอร์ดิกก็คือ "คนกลุ่มน้อย" ประชากรรวมกัน 5 ประเทศไม่ถึง 30 ล้านคน (สวีเดนที่มีประชากรเยอะสุดมีแค่ 10 ล้านคน) น้อยกว่าประชากรในประเทศขนาดกลางๆ อีก มันจึงเป็นเรื่องของคนไม่กี่คนในโลกที่มีชีวิตประหลาดๆ และไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจ

ดังนั้น ในยุค "Y2K” ที่หลายคนโตมา ตอนนั้นก็ยังไม่มีใครพูดถึง "รัฐสวัสดิการนอร์ดิก" และบอกไป คนสมัยนั้นก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าสิ่งนี้คืออะไร

แล้วคนทั่วไปเริ่มเข้าใจ สิ่งที่เรียกว่า "รัฐสวัสดิการนอร์ดิก" ได้ยังไง? คำตอบคือหลังปี 2008


‘รัฐสวัสดิการนอร์ดิก’ เป็นที่รู้จักหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

 

ปี 2008 เกิดวิกฤติการเงินโลกที่บ้างก็เรียกว่า ‘วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์’ บ้างก็เรียกว่า วิกฤติซับไพร์ม ซึ่งวิกฤตินี้ก็แน่นอนว่าสุดท้ายก็จัดการได้ แต่มันเป็นข้อพิสูจน์สำคัญว่านโยบายรัฐในแนว "เสรีนิยมใหม่" หรือโปรทุนนิยมจ๋าที่ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นั้นสร้างหายนะทางเศรษฐกิจได้ นี่เลยทำให้พวกชาติตะวันตกเริ่มหา "โมเดล" ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ทำให้ไม่เกิดปัญหา

โดยรวมก็คือ พวกนักการเมืองก็เริ่มเห็นว่าพวกประเทศนอร์ดิกรับผลกระทบจากวิกฤตินี้น้อยมาก หรือถ้าได้รับผลเยอะก็ฟื้นตัวเร็วกว่าชาวบ้าน เลยทำให้กลุ่มประเทศเล็กๆ หนาวๆ ทางเหนือที่ไม่เคยมีใครสนใจนั้นมีคนสนใจในที่สุด

พอสนใจ เริ่มจับกลุ่ม ทั้งคำอธิบายและอะไรมิต่ออะไรก็โผล่มาเต็มไปหมด พอพูดเยอะๆ คนก็รู้จักมากขึ้น

แต่นั่นยังไม่พอในการตอกย้ำที่จริงจัง คือ สิ่งที่เรียกว่า World Happiness Report ของทางสหประชาชาติที่ออกมาครั้งแรกในปี 2012 ซึ่งไอเดียก็คือ จะเป็นการวัด "ความสุข" ของคนทั่วโลกแบบเป็นระบบและเป็นกลางที่สุด

ผลตั้งแต่เริ่มวัดระดับความสุขมาจนถึงตอนนี้ กลุ่มประเทศนอร์ดิกต่างผลัดกันครองแชมป์ หรือวนเวียนกันใน Top 5 ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกตลอด (สำหรับประเทศกลุ่มนี้ตกจากอันดับ 5 คือแย่แล้ว)

รายงานนี้ออกทุกปี และทำให้สื่อทั่วโลกได้มีการประโคมข่าวคุณภาพชีวิตของคนประเทศนอร์ดิกทุกปี และสร้างภาพความเข้าใจว่า ประเทศกลุ่มนี้ "มีความสุข" แค่ไหนมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งทั่วๆ ไปคนก็จะพยายามอธิบายว่า มันก็เกิดจาก "รัฐสวัสดิการนอร์ดิก" ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมน่ะแหละ

ซึ่งก็แน่นอน พอพูดถึงเยอะๆ บ่อยๆ ความเข้าใจก็เกิด และนี่เราก็ยังไม่ต้องพูดถึงหนังสารคดีดังของ Michael Moore ในปี 2015 อย่าง Where to Invade Next ที่มีการพาไปดูคุกที่นอร์เวย์ และระบบการศึกษาที่ฟินแลนด์ และทำให้สองประเทศนี้เริ่มเป็นที่ถูกจดจำ หลังจากก่อนหน้านั้นคนอาจนึกไม่ออกว่ามีอะไรเด่น

 

นี่แหละครับ ที่มาว่าเราเข้าใจ "รัฐสวัสดิการนอร์ดิก" แบบทุกวันนี้ได้ยังไง สุดท้ายนี่เป็นคอนเซ็ปต์ที่โลกภาษาอังกฤษใช้ซ้ำๆ เพื่อวิจารณ์ระบบเศรษฐกิจการเมืองของตัวเองที่ต่างจากกลุ่มนอร์ดิกแบบสุดขั้ว โดยหลายคนก็หวังว่า ประเทศตัวเองจะเปลี่ยนไปในแนวทางประเทศเหล่านี้

แต่ถามว่าประเทศเหล่านี้ไม่ถูกวิจารณ์เลยเหรอ ก็ไม่ใช่ ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่รู้ทั่วไปว่าประเทศพวกนี้คน "มีปัญหาสุขภาพจิต" เยอะมาก และประเทศสวีเดนก็โดดเด่นมากที่มี "อัตราข่มขืน" สูงสุดในยุโรป ซึ่งนี่ก็เป็น "ปริศนา" ของกลุ่มประเทศที่ดีเยี่ยมที่สุดในโลกกลุ่มนี้

ถ้าสนใจ "ด้านมืด" ของประเทศพวกนี้ หนังสือ The Almost Nearly Perfect People: The Truth About the Nordic Miracle ที่เขียนโดยชาวอังกฤษที่เป็น "เขยนอร์ดิก" (ภรรยาเป็นชาวเดนมาร์ก) ซึ่งปีนี้อายุครบ 10 ปีพอดี ก็เป็นจุดเริ่มที่ดี


อ้างอิง :
Mary Hilson, "The Nordic Welfare Model" in Introduction to Nordic Cultures edited by Annika Lindskog and Jakob Stougaard-Nielsen, (UCL Press, 2020), pp. 70-83

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน