Skip to main content

การเล่าเรื่องซ้ำๆ ของ ‘ผู้สูงอายุ’ อาจไม่ใช่การส่งสัญญาณถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือเป็นการถดถอยลงของความรู้ความเข้าใจเสมอไป แต่เป็นการถ่ายทอด ‘ความทรงจำ’ และ ‘ส่งต่อคุณค่า’ บางอย่างให้กับคนรุ่นใหม่

เคยไหม เวลาไปเจอญาติผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุทีไร พวกเขาก็มักจะเล่าเรื่องราวเดิมๆ ซ้ำๆ หลายคนอาจนึกสงสัยว่า นี่เป็นเพราะอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่ก็เพราะความจำที่ถดถอยลงของผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า  หรือเป็นไปได้ว่ามีอาการภาวะสมองเสื่อมหรือเปล่า แต่การเล่าเรื่องซ้ำๆ ของผู้สูงอายุในบ้านอาจไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรือสัญญาณที่บ่งบอกอันตรายเสมอไป…

มหาวิทยาลัยควีนส์ ในแคนาดา ทำการวิจัยเรื่องการเล่าเรื่องซ้ำๆ ของผู้สูงอายุ โดยสัมภาษณ์ผู้ใหญ่วัยกลางคน จำนวน 20 คน ที่ระบุว่า พวกเขาเคยได้ยินเรื่องเล่าซ้ำๆ เดิมๆ จากพ่อแม่ที่แก่ชราของตัวเอง

นักวิจัยได้ทำการบันทึกเสียงและถอดความบทสนทนาเหล่านั้น จากนั้นจึงใช้วิธีวิทยาแบบการเล่าเรื่องเพื่อค้นหาคำตอบ และพบว่าการเล่าเรื่องซ้ำๆ เป็นวิธีการสำคัญสำหรับผู้สูงอายุในการสื่อสารสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่ามีความสำคัญต่อลูกหลาน

นักวิจัยยังค้นพบวิธีที่ผู้คนสร้างความหมายในชีวิตของตัวเอง โดยวิเคราะห์จากเรื่องราวที่รวบรวมไว้เกือบ 200 เรื่อง พบว่า มีประมาณ 10 เรื่องที่พ่อแม่วัยชรามักจะเล่าให้ลูกๆ ฟังซ้ำๆ และร้อยละ 87 มักเป็นเรื่องราวเมื่อตอนพ่อแม่ยังเป็นวัยรุ่นหรืออยู่ในช่วงวัย 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องตัดสินใจหลายอย่างที่ส่งผลต่อชีวิตต่อมาของพวกเขา หรือเป็นช่วงเวลาที่ก่อเกิดเป็นตัวตนและคุณค่าในชีวิตของแต่ละคน

เรื่องราวที่พ่อแม่วัยชราเล่าซ้ำๆ สิ่งสำคัญของไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นบทเรียนที่พวกเขาได้รับ เช่น ความซื่อสัตย์ต่อเพื่อน การคิดถึงครอบครัวเป็นอันดับแรก การมีอารมณ์ขันแม้ในยามยากลำบาก การได้รับการศึกษา การลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรม และการทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เรื่องที่ผู้สูงอายุเลือกมาเล่านั้นมักแตกต่างกัน ขึ้่นอยู่กับว่าคนฟังคือใคร หากเล่าให้ลูกฟังก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือเล่าให้เพื่อนฝูงฟังก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แม้บางครั้งการฟังเรื่องราวซ้ำๆ ของผู้สูงอายุอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่นักวิจัยแนะนำว่า ให้โฟกัสกับเรื่องเล่าเพียง 10 เรื่องเล่าของพวกท่านเท่านั้น และให้พยายามสังเกตบทบาทของคนเล่าในเรื่องที่กำลังเล่า เนื่องจากสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการสื่อสารจะซ่อนอยู่ในบทบาทนั้นๆ และให้จำไว้ว่า เรื่องราวที่กำลังรับฟัง คือสิ่งที่ผู้เล่าต้องการจะบอกให้เรารู้เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนของขวัญจากคนรักที่เวลาของพวกเขาในชีวิตกำลังค่อยๆ หมดลง

การเล่าเรื่องเป็นกระบวนการที่สำคัญของมนุษย์ และเป็นประสบการณ์สากลที่เกี่ยวกับการอายุที่เพิ่มขึ้น นักประสาทวิทยาชี้ว่า การเล่าเรื่องส่งผลดีกับผู้เล่า คนรอบข้าง รวมถึงสังคม เพราะถือเป็นการบำบัดเพื่อเอาชนะภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ ทั้งนี้ การเล่าเรื่องมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อผู้คนตระหนักถึงความตายของตัวเอง ในภาวะที่พวกเขากำลังป่วย ทนทุกข์ หรือเผชิญหน้ากับความตาย

อาจกล่าวได้ว่า การที่ผู้สูงอายุเล่าเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่จำเป็นว่าเกิดจากการที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือสูญเสียการทำงานของสมอง แต่เป็นเพราะว่าเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นมีความสำคัญ และผู้สูงอายุรู้สึกว่าลูกหลานควรรู้จักพวกเขาให้ดีขึ้น และอยากให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานรู้ว่าพวกเขาคือใคร ผ่านเหตุการณ์อะไรในชีวิตมาบ้าง จึงต้องการแบ่งปันบทเรียนสำคัญให้กับลูกหลานของตัวเอง


อ้างอิง:
เว็บไซต์ The Ten Stories 
Storytelling allows elders to transfer values and meaning to younger generation