Skip to main content

ห้องสมุดประชาชนเมเดยิน ในโคลอมเบีย ชวนคุณปู่คุณย่านำเรื่องราวสนุกสนานจากประสบการณ์ชีวิต และนิทานปรัมปราเก่าแก่มาเล่าให้เด็กๆ ฟัง เพื่อส่งเสริมการอ่าน การเขียน และเป็นการรื้อฟื้นประเพณีการเล่าเรื่องแบบมุขปาฐะ

เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตของ "ผู้สูงอายุ" คือ “บทเรียน” ที่มีประโยชน์สำหรับลูกหลานและเด็กรุ่นใหม่ ห้องสมุดประชาชนในเมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย จึงเกิดไอเดียสุดเจ๋ง ผุดโปรเจ็กต์ “ปู่ย่าตายายเล่าเรื่อง” (Grandparents Storytelling) เชิญชวน “ผู้สูงอายุ” ที่อยากบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้เด็กๆ ในพื้นที่ได้ฟังมาเป็นอาสาสมัคร พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการอ่าน การเขียน และประเพณีมุขปาฐะ หรือการสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ ทั้งความรู้ ศิลปะ แนวคิด และวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ผ่านการเล่าเรื่องราว ร้องเพลง หรือบทสวด  ให้กับกลุ่มเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองในอนาคต

“โปรเจ็กต์ปู่ย่าตายายเล่าเรื่องเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ต้องการส่งเสริมการอ่าน การเขียน และประเพณีมุขปาฐะที่ส่งต่อเรื่องเล่ากันมารุ่นต่อรุ่น ให้เกิดเป็นกลุ่มชุมชนของห้องสมุดประชาชน ณ ที่แห่งนี้ เรายังเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น บ้านเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา และโรงเรียน เพื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การเขียน และการเล่าเรื่องอีกด้วย” อันนา แคโรไลน่า มอนโตย่า เจ้าหน้าที่ของห้องสมุดประชาชนเมเดยินเล่า

“หลายคนโชคดีที่ปู่ย่าตายายยังไม่เสียชีวิต ก็จะเข้าใจดีว่ามันมีความสุขขนาดไหนที่ได้ฟังเล่าเรื่องราวในอดีตหรือนิทานปรัมปราสนุกๆ ที่ปู่ย่าตายายเคยประสบหรือเคยได้ยินมา ความรู้สึกนั้นแหละ คือหัวใจของโปรเจกต์นี้” อันนาบอก 
 

ภาพจากเฟสบุ๊ก Biblioteca Pública Piloto 


อาสาสมัครที่เข้าร่วมโปรเจ็กต์จะได้รับการฝึกอบรบให้สามารถเล่าเรื่องและจัดเวิร์กช็อปเพื่อส่งเสริมการอ่านให้กับกลุ่มคนทุกวัย เช่น เด็กปฐมวัย เด็กโต คนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ เป็นต้น

จูลิโอ ซีซาร์ เซปาโต้ สมาชิกกลุ่มปู่ย่าตายายเล่าเรื่อง เข้ามาเป็นอาสาสมัครของโปรเจ็กต์นี้ หลังจากเกษียณอายุจากการเป็นครู และรู้สึกว่าตัวเองยังสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้

จูลิโอ บอกว่า เขามักเลือกหนังสือวรรณกรรมเยาวชนที่เขียนโดยเยาวชนเอามาเล่าให้เด็กๆ ฟัง และใช้เทคนิคการละครเข้ามาช่วยเพื่อทำให้การเล่าเรื่องของเขาน่าสนใจมากขึ้น

“ผมจะเล่าเรื่องพร้อมกับใช้เสียงดนตรีและการละครมาช่วย ในตอนท้ายผมจะเฉลยว่า เรื่องนี้เขียนโดยเด็กคนหนึ่งเหมือนกับพวกเธอเลย พอเด็กๆ ได้ฟังก็จะรู้สึกว่าอยากเขียนเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของห้องสมุด พวกเราเชื่อว่าเมื่อเด็กๆ เริ่มเขียนเรื่องราวของพวกเขา พวกเขาก็จะกระตือรือร้นในด้านการอ่านด้วย เพราะไม่มีนักเขียนคนไหนที่ไม่เคยอ่านวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมและมีคุณค่า” จูลิโอกล่าว

จูลิโอบอกว่า ประสบการณ์จากการร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการ สำหรับเขาแล้วมันน่าพึงพอใจมาก

 

ภาพจากเฟสบุ๊ก Biblioteca Pública Piloto 

 

เรื่องเล่ามุขปาฐะ คือ รากฐานของการสื่อสารในอดีต เรื่องราวต่างๆ จะถูกส่งต่อกันมาผ่านการบอกเล่าเรื่องราว และนักเล่าเรื่องจะเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง เพื่อเล่าเรื่องราวที่พวกเขาได้พบเจอหรือได้รับฟังมา ซึ่งเป็นการเปิดโลกให้กับผู้คนที่เข้ามารับฟังเรื่องราวของพวกเขา  

โปรเจ็กต์ปู่ย่าตายายเล่าเรื่อง ต้องการที่จะนำเอาประเพณีการเล่าเรื่องแบบนี้กลับมาอีกครั้ง โดยผ่านการเล่าเรื่องของผู้สูงอายุในพื้นที่ เพราะไม่มีอะไรจะสนุกไปกว่าการเล่าเรื่องของปู่ย่าตายายอีกแล้ว

ทั้งนี้ เรื่องราวที่อาสาสมัครจะนำมาเล่า สามารถเป็นได้ทั้งประสบการณ์จริงที่พวกเขาเคยพบเจอมาด้วยตัวเอง เรื่องราวในวรรณกรรมเด็กที่โด่งดัง หรือเป็นเรื่องราวที่อาสาสมัครแต่งขึ้นมาเองก็ได้ ซึ่งอันนาระบุว่า “เราไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นวรรณกรรมเท่านั้น แต่เราเชื่อว่าทุกเรื่องราวที่ดีก็สมควรได้รับการบอกเล่า”


ที่มา

The group of older adults that is dedicated to telling stories throughout Medellín