Skip to main content

รูปแบบชีวิตที่รวดเร็วในปัจจุบันส่งผลดีหลายประการ แต่กับคนบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้สูงอายุอาจปรับตัวตามไม่ทันกับสปีดระดับนี้ และถูกปล่อยทิ้งไว้อยู่ข้างหลังอย่างอย่างโดดเดี่ยว ซูเปอร์มาร์เก็ตในเนเธอร์แลนด์จึงเกิดความคิดในการทำให้บางจังหวะชีวิต “ช้าลง” เพื่อบรรเทาทุกข์ “ความเหงา” และความเดียวดายให้กับผู้สูงอายุ ด้วยการเปิดช่องคิดเงินแบบพิเศษที่ลูกค้าสูงวัยสามารถใช้เวลาพูดคุยอย่างผ่อนคลายกับแคชเชียร์ได้ เพื่อช่วยลดความเหงาจากการอยู่ตัวคนเดียว

"จัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ต"  (Jumbo Supermarket) บริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ร่วมต่อสู้ปัญหาความเหงาในหมู่ "ผู้สูงอายุ" ด้วยการเปิดช่องจ่ายเงินสุดพิเศษให้ลูกค้าได้พูดคุยกับแคชเชียร์

เนเธอร์แลนด์มีประชากรสูงวัยที่อายุมากกว่า 75 ปี อยู่ราว 1.3 ล้านคน และ 33% ของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ระบุว่า พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว  ซึ่งการเปิดบริการช่องจ่ายเงินพิเศษนี้ช่วยให้ผู้สูงอายุไม่ต้องใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างเหงาเศร้าจนเกินไป โดยผู้สูงอายุสามารถใช้เวลาพูดคุยกับแคชเชียร์ แม้แต่กับเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ปัญหาหลักประการหนึ่งที่ผู้สูงอายุทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ คือ “ความเหงา” โดยเฉพาะผู้สงอายุในเขตเมืองที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบ วุ่นวาย ทั้งยังเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักตามไม่ค่อยทัน ทว่า ในโลกที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ได้แปลว่าจะหมายถึงความรวดเร็วและเร่งรีบเพียงอย่างเดียว แต่ “การทำให้ช้าลง” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้เช่นกัน

เมื่อมองเห็นปัญหาความเหงาในหมู่ผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ต จึงปิ๊งไอเดียในการเปิดช่องจ่ายเงินสุดพิเศษ ที่เรียกว่า Kletskassa หรือ Chat Checkout ซึ่งเป็นช่องจ่ายเงินสำหรับลูกค้าที่ไม่เร่งรีบและต้องการพูดคุยกับแคชเชียร์ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม

บริการช่องจ่ายเงิน Kletskassa ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘One Against Loneliness’ ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เปิดตัวครั้งแรก ณ จัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมือง Vlijmen ช่วงฤดูร้อนปี 2019 โดยที่กระแสตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดี จนจัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ตตัดสินใจขยายบริการนี้ไปทั่วประเทศ และเปิดช่องจ่ายเงินสุดพิเศษแบบนี้แล้วมากกว่า 200 ช่องกระจายตัวอยู่ในจัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 700 สาขาทั่วเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังเพิ่ม “มุมพูดคุย” ให้คนในพื้นที่สามารถมารวมตัวกันเพื่อดื่มกาแฟ และแลกเปลี่ยนสนทนากันในหัวข้อต่างๆ

ปรัชญาของจัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ต คือ การเป็นมากกว่าสถานที่ที่ลูกค้าเข้ามาจับจ่ายซื้อของ พวกเขาจึงริเริ่มโครงการในท้องถิ่นเพื่อส่งสัญญาณถึงความเหงาในหมู่ลูกค้า โดย Colette Cloosterman-van Eerd ผู้บริหารจัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ต ระบุว่า “หลายครั้งที่คนรู้สึกเหงา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เราในฐานะธุรกิจครอบครัวและบริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตจึงถือเป็นหัวใจของสังคมด้วยเช่นกัน”

บริการช่องจ่ายเงินพิเศษนี้ไม่เพียงส่งผลดีกับลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลดีกับลูกค้าในวัยอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องการการมีปฏิสัมพันธ์และบทสนทนากับคนอื่น แต่คนทุกกลุ่มอายุก็ต้องการความเชื่อมโยงกับสังคมด้วยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น บริการดังกล่าวยังส่งผลดีกับพนักงานแคชเชียร์อีกด้วย เนื่องจากช่วยเพิ่มความพึงพอในในงานให้กับพนักงานของซูเปอร์มาร์เก็ตได้ โดยมีรายงานว่าพนักงานของจัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมากอยากมาทำงานที่ช่องจ่ายเงินพิเศษนี้

บริการช่องจ่ายเงินพิเศษของจัมโบ้ซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับการชื่นชมอย่างมากจากสื่อต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้มีซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าอีกหลายแห่งนอกเนเธอร์แลนด์ที่หันมาให้บริการในลักษณะเดียวกัน เช่น คาร์ฟู (Carrefour) ในประเทศฝรั่งเศส ที่มีบริการที่คล้ายๆ กัน เรียกว่า ‘Blablabla Caisses’ ขณะที่ประเทศแคนาดาก็มีช่องจ่ายเงินพิเศษที่คล้ายๆ กันในโซเบยส์ (Sobeys)

 

อ้างอิง
ทวิตเตอร์ Jumbo Supermarkten
Amazing CX: Jumbo creates slow checkout lanes
Aisles Abroad: Dutch grocer Jumbo embraces a slower checkout option
Dutch Supermarket Starts ‘Slow Checkout Lane’ For Elderly Who Want To Chat