Skip to main content

Libertus Machinus

 

ในสังคมที่ค่อนข้างมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม หนึ่งในความกังขาต่อการขยายตัวของการช่วยเหลือสังคมโดยรัฐ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า "รัฐสวัสดิการ" ก็คือ การที่ ‘รัฐสวัสดิการ’ นั้นมีแนวโน้มจะเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ "แทนที่" สถาบันดั้งเดิมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น องค์กรทางศาสนา หรือกระทั่งครอบครัวแบบเดิม

เราจะเห็นว่าในสังคมสมัยใหม่ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และองค์กรทางศาสนา ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ให้มีอำนาจในสังคม อย่างไรก็ดี ครอบครัวน่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่า ณ ทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 21 ยังไม่มีรัฐหัวก้าวหน้าที่ไหนจะบอกว่าสถาบันครอบครัวไม่สำคัญ ต้องทำลายทิ้ง (จริงๆ จะมีก็แต่พวกสังคมคอมมิวนิสต์ที่ล่มไปแล้ว)

ดังนั้น ในแง่นี้เมื่อสถาบันครอบครัวมีความสำคัญ การมีหน้าที่ทับซ้อนกันระหว่างรัฐสวัสดิการกับครอบครัว นำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า “รัฐสวัสดิการจะ ‘บ่อนทำลาย’ สถาบันครอบครัวหรือไม่?” หรือถ้าพูดในภาษา Startup สไตล์ต้นศตวรรษที่ 21 ก็ต้องถามว่า “รัฐสวัสดิการจะมา Disrupt สถาบันครอบครัวหรือไม่?”

ในบริบทนี้ สิ่งที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ก็คือ รัฐสวัสดิการทำให้คนหย่าร้างกันมากขึ้น และตัวอย่างที่เค้ายก ก็คือ ในรัฐที่มีสวัสดิการดีๆ ทั้งหลาย มีอัตราหย่าร้างสูงกว่ารัฐที่ไม่มีสวัสดิการมากๆ

เรียกว่า จิ้มไปที่ประเทศยุโรปเหนือตัวท็อปของรัฐสวัสดิการประเทศไหนก็ได้ แล้วไปจิ้มประเทศอื่นนอกโซนนี้ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่า ประเทศที่จิ้มไปจะมีอัตราหย่าร้างต่ำกว่าพวกประเทศตัวท็อปของรัฐสวัสดิการ

 

การมีหน้าที่ทับซ้อนกันระหว่างรัฐสวัสดิการกับครอบครัว นำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า “รัฐสวัสดิการจะ ‘บ่อนทำลาย’ สถาบันครอบครัวหรือไม่?” 

รัฐสวัสดิการทำให้คนหย่าร้างเยอะขึ้นจริงเหรอ? คำตอบสั้นๆ คือ ใช่ แต่ถ้าจะตอบจริงจัง เราต้องคุยกันยาว

 

ฝ่ายที่พยายามปกป้องรัฐสวัสดิการก็จะดีเฟนด์ทันทีว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะผู้หญิงมีอำนาจต่อรองมาก  ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่ประเทศเหล่านี้ความเท่าเทียมระหว่างเพศสูงในทุกด้าน ซึ่งในแง่นี้อัตราหย่าร้างที่สูงก็ดูจะเป็นผลพวงรวมๆ ของการเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศในสังคมรัฐสวัสดิการเหล่านี้ และทั้งหมดเหมือนเป็น "ราคาที่ต้องจ่าย" เพราะปัจจุบันก็คงไม่มีใครกล้าเถียงว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่ดี

...แต่มันเป็นแบบนั้นจริงเหรอ รัฐสวัสดิการทำให้คนหย่าร้างเยอะขึ้นจริงเหรอ?
คำตอบสั้นๆ คือ ใช่ แต่ถ้าจะตอบจริงจัง เราต้องคุยกันยาว

ประการแรก ถ้าคุยกันในเชิงนโยบาย เวลาเราบอกว่ารัฐสวัสดิการทำให้คนหย่าร้างมากขึ้น จริงๆ เรากำลังคุยกันถึงผลจากนโยบายของรัฐในการสนับสนุนและสร้างหลักประกันในชีวิตครอบครัวรวมๆ ซึ่งมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่การสนับสนุนการแต่งงาน สวัสดิการคลอดบุตรและเลี้ยงดูทารกหลังคลอด การสนับสนุนบริการเลี้ยงดูเด็กเล็กในเวลากลางวัน ไปจนถึงสวัสดิการแม่เลี้ยงเดี่ยวต่างๆ

เรากำลังบอกว่า  "ผลรวมๆ" ของนโยบายและงบพวกนี้ ซึ่งรวมเรียกว่า "นโยบายครอบครัว" ทำให้คนหย่าร้างมากขึ้น และนัยของคนที่มักจะพูดแบบนี้ก็คือ นโยบายพวกนี้อย่างเลวสุด คือ ใช้เงินสูญเปล่าไปพร้อมๆ กับทำลายสถาบันครอบครัว อย่างดีก็คือ มันทำลายครอบครัวก็จริง แต่ก็สร้างความมั่นคงให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมาก ทำให้ไม่เกิดปัญหาสังคมภายหลัง ซึ่งก็ต้องเข้าใจอีกว่าในหลายสังคม ถ้าดูเรื่องภูมิหลังของอาชญากร จะพบว่า มาจาก 'ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว' ในสัดส่วนที่มากอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น เค้าเลยจะมีนโยบายไปสนับสนุนครอบครัวในรูปแบบแม่เลี้ยงเดี่ยวมากๆ เพื่อให้ลูกในครอบครัวแบบนี้ไม่โตมาเป็น "ภัยสังคม" ในอนาคต

ตรงนี้บางคนก็จะบอกว่า ผลรวมๆ ของการพยายามมีนโยบายช่วยแม่เลี้ยงเดี่ยว เลยทำให้ผู้หญิงตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะหย่า ซึ่งนี่ก็เป็นการพูดราวกับว่าการหย่าร้างเป็นการตัดสินใจทางเศรษฐกิจเพียวๆ ที่พอมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจปุ๊บ คนก็หย่ามากขึ้นเลย

...เอาจริงๆ ที่ว่ามาทั้งหมด พูดกันแบบซีเรียสไม่ได้เลย เพราะปกติเวลาเราจะพูดถึงว่า "นโยบายครอบครัว" ทำให้คนหย่ากันมากขึ้นหรือไม่ เราจะว่ากันเป็นนโยบายๆ ไป ซึ่งทำในประเทศหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งในแง่นี้มันก็จะเอาไปเทียบกับประเทศอื่นก็ไม่ได้

กล่าวอีกแบบก็คือ ถ้าจะเทียบอัตราหย่าร้าง จะทำได้ก่อนและหลังนโยบาย "ในสังคมหนึ่งๆ เท่านั้น" ซึ่งเอาแค่ตรงนี้็มีข้อถกเถียงเพียบแล้ว เพราะสังคมไม่ได้หยุดนิ่งในตอนนโยบายทำงาน หรือพูดอีกแบบก็คือ ถ้าจะถกเถียงกันจริงๆ ยากที่จะสรุปได้ว่า การที่คนหย่าร้างกัน เป็นเพราะนโยบายหรือเพราะสังคมเปลี่ยน ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าทุกชาติที่พัฒนารัฐสวัสดิการมาแบบซับซ้อน ทำควบคู่กับระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นของผู้หญิงทั้งนั้น และในภาวะทั่วไป เมื่อผู้หญิงมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แนวโน้มการหย่าร้างในสังคมก็จะสูงขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิหย่าร้าง คือ ผู้หญิงในสังคมที่ไม่อนุญาตให้พวกเธอทำงานเลี้ยงดูตัวเอง

พูดง่ายๆ ในกรอบแบบนี้ คือ คนอาจจะหย่ากันมากขึ้นเพราะผู้หญิงมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็ได้ ซึ่งนั่นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนโยบายครอบครัวหรือกระทั่งรัฐสวัสดิการอะไรเลย

ดังนั้น ในแง่นี้ ถ้าจะเอาซีเรียส เวลาเค้าจะเทียบแบบจริงจังว่า "รัฐสวัสดิการ" ทำให้คนหย่าร้างขึ้นหรือไม่ ปกติ จะเทียบกันในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น เพราะโดยทั่วไป ประเทศกำลังพัฒนาที่กีดกันผู้หญิงออกจากตลาดแรงงาน ยังไงอัตราหย่าร้างก็ย่อมน้อยกว่า เพราะในสังคมแบบนั้น ถ้าผู้หญิงหย่า ก็คือ ไม่มีข้าวกิน เพราะสังคมไม่อนุญาตให้พวกเธอทำงาน

 

ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าทุกชาติที่พัฒนารัฐสวัสดิการมาแบบซับซ้อน ทำควบคู่กับระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นของผู้หญิงทั้งนั้น และในภาวะทั่วไป เมื่อผู้หญิงมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แนวโน้มการหย่าร้างในสังคมก็จะสูงขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิหย่าร้าง คือ ผู้หญิงในสังคมที่ไม่อนุญาตให้พวกเธอทำงานเลี้ยงดูตัวเอง

 

อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อน คือ เวลาเค้าเทียบผลในการหย่าร้างของนโยบายรัฐสวัสดิการ เค้าจะเทียบ "ในหมู่รัฐสวัสดิการด้วยกัน" เสมอ เพราะประเทศนอกเหนือจากนี้ จะมองว่ามีปัจจัยอื่นที่ทำให้อัตราหย่าร้างต่างออกไปเยอะ และโดยทั่วไปเนื่องจากนโยบายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน  เค้าจึงเทียบเชิงปริมาณแบบเอางบนโยบายครอบครัวมาเทียบกันดิบๆ เลย (แน่นอนว่าก็มีการปรับอัตราส่วนต่อประชากรและค่าครองชีพกันไปก่อนจะเอามาเทียบกัน) แล้วก็วัดว่ามันมีผลให้แต่ละประเทศมีอัตราหย่าร้างต่างกันอย่างไร

หลังจากเกริ่นมาถึงตรงนี้ เราก็จะขอยกผลงานวิจัยขึ้นมา และบอกว่า 
 

จริงครับ รัฐสวัสดิการทำให้คนหย่าร้างเยอะขึ้นจริงๆ และมีตัวเลขชัดเจนเลยว่า ยิ่งมีเงินสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับครอบครัวเยอะ คนยิ่งหย่ากันเยอะ โดยเปรียบเทียบในหมู่ประเทศรัฐสวัสดิการด้วยกัน ผลก็เป็นแบบนั้น

ประเด็นคือ แต่นั่นไม่ใช่ภาพทั้งหมด เพราะเค้าเห็นเช่นกันว่าประเทศไหนมีงบนโยบายครอบครัวเยอะ คนมันก็จะ "แต่งงาน" เยอะด้วย ไม่ใช่แค่ "หย่าร้าง"

ไปๆ มาๆ สิ่งที่เค้าพบก็คือ จริงๆ แล้ว ผลของนโยบายพวกนี้ กลับทำให้คนแต่งงานกันเยอะขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าคนหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป

พูดอีกแบบ ไอ้คำอธิบายที่ว่า รัฐสวัสดิการทำให้คนหย่าเยอะๆ มันถูกต้องหมดเลย แต่สิ่งที่ไม่พูดกันก็คือ นโยบายเดียวกันนี้จะทำให้ผู้หญิงหย่าร้างไปแล้วเลี้ยงลูกคนเดียวได้ แล้วก็ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจแต่งงานง่ายขึ้นด้วย และเค้าประเมินแล้วว่า ผลของการทำให้คนแต่งงานเพิ่มขึ้น มีมากกว่าผลที่ทำให้คนหย่ากันเพิ่มขึ้น

นี่่ก็คือการที่ผมพยายามให้ความเป็นธรรมกับรัฐสวัสดิการครับว่า มันไม่ได้ทำให้คนหย่ากันเยอะขึ้นอย่างเดียว มันทำให้คนแต่งงานกันเยอะขึ้นด้วย และส่วนหนึ่งที่มีอัตราหย่าร้างเยอะ ก็เพราะว่ามันทำให้คนแต่งงานกันแต่แรกนี่แหละ

ทั้งนี้ ที่ว่ามาทั้งหมด คือ แค่เรื่องแต่งงานกับหย่าร้างนะครับ เราไม่ได้พูดถึงผลของรัฐสวัสดิการต่อการ "มีลูก" นะ เพราะนั่นก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องว่ากันต่างหาก เพราะก็มีสถิติชัดเจนเช่นกันว่า รัฐสวัสดิการมันทำให้จำนวน "ลูกนอกสมรส" ในสังคมมีเยอะขึ้นจริงๆ

 

ที่มา
Increased divorce rates are linked to the welfare state
Does the Welfare State Destroy the Family?
 

อ่านบทความอื่นของผู้เขียน

ประเทศที่มี ‘สวัสดิการแปลงเพศฟรี’ แต่ทำไมคนกลับหนีมาทำที่ไทย?

รู้มั้ยทุกวันนี้ ‘คนมาเก๊า’ ได้เงินจากรัฐปีละกว่าสี่หมื่นบาท