Skip to main content

Libertus Machinus

 

'มาเก๊า' เป็นเขตปกครองพิเศษของจีนที่ในอดีตเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมายาวนาน ก่อนจะค่อยๆ กลายเป็น "ลาสเวกัสแห่งตะวันออก" ที่ทำรายได้จากการพนันต่อปีได้มากยิ่งกว่าเมืองแห่งการพนันของอเมริกาอย่างลาสเวกัส

แต่วันนี้เราจะไม่พูดถึงทั้งสองเรื่อง เราจะพูดถึงตัวอย่างเชิงรูปธรรมทางนโยบายของสิ่งที่เรียกว่า "ปันผลสังคม" (Social Dividend) ซึ่งในมาเก๊าเค้าจะเรียกว่า "โครงการมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง" (Wealth Partaking Scheme)

โดยผลในทางรูปธรรมคือ ณ ปัจจุบันนี้พลเมืองของมาเก๊าจะได้เงินจากรัฐฟรีๆ (ไม่โอนเข้าบัญชีเลยก็รับเป็นเช็ค) จำนวน 10,000 MOP ทุกปี (แปลงเป็นเงินไทยก็เกือบ 45,000 บาท) ซึ่งสำหรับคนมาเก๊าเอง นี่ก็ไม่ใช่เงินน้อยๆ คือพอจะเอาไปใช้ชีวิตอยู่ได้เป็นเดือนได้เหมือนกัน

พื้นฐานแนวคิด "ปันผลสังคม" คือ มองว่าประชาชนคือ "ผู้ถือหุ้น" ของรัฐ และรัฐไปทำอะไรได้เงินมา ก็ต้องแบ่งประชาชนตามสมควร

แต่ช้าก่อน ก่อนจะเข้าใจว่าเมืองนี้มันร่ำรวยจากการพนันมันก็เอาเงินมาแจกคนได้ เราควรจะเข้าใจแนวคิดเรื่อง "ปันผลสังคม" ก่อน เพราะนี่ไม่ใช่การอยู่ดีๆ ก็แจกเงินให้แบบไม่มีเหตุผลรองรับ และก็ไม่ใช่มาตรการที่ต้องการสร้างอะไรอย่าง "พายุหมุนทางเศรษฐกิจ" ด้วย

 

หลักๆ แล้วไอเดียของปันผลสังคมมันเกิดจากลักษณะพื้นฐานของระบอบสังคมนิยม ซึ่งถ้าจะให้ทบทวนระบอบนี้ มันมีความคิดว่า "ปัจจัยการผลิต" ทางเศรษฐกิจต้องเป็นของสังคมโดยรวม ไม่เป็นของเอกชนรายใดรายหนึ่ง

แต่คำถามคือ "ปัจจัยการผลิต" เป็นของสังคมแล้วไงต่อ? ก็คือ แนวทางหลักที่พวกรัฐคอมมิวนิสต์สมัยก่อนใช้ "เศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลาง" (Planned Economy)  ในการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจทั้งหมดของรัฐ ไม่ว่านั่นจะเป็น ทุน ที่ดิน หรือแรงงาน

อย่างไรก็ดี แนวทางบริหารก็กลายเป็นหายนะ มันสร้างความชะงักงันทางเศรษฐกิจ และความยากจนระดับมโหฬาร หรือมัน "แพ้" ระบบตลาดของทุนนิยมอย่างราบคาบน่ะแหละ และเราก็คงไม่เล่าเรื่องการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ยันการเปลี่ยนไปใช้ "ระบบตลาด" ของจีนในที่นี้

แต่ถามว่ารากฐานแนวคิด "สังคมนิยม" มันตายสนิทมั้ย? คำตอบคือไม่ สุดท้ายมันยังฝังอยู่ในการมอง "ทรัพย์สินของรัฐ" อยู่ และการมองทรัพย์สินของรัฐในมุมแบบสังคมนิยมนั้นจะไม่มองว่า "ทรัพย์สินของรัฐไม่ใช่ของเอกชน" แบบที่โลกทุนนิยมมอง แต่จะมองว่า "ทรัพย์สินของรัฐ ก็คือ ทรัพย์สินของประชาชน"

นั่นหมายความว่า สิ่งที่งอกเงยมาจากทรัพย์สินของรัฐ ก็ย่อมเป็นของประชาชนเช่นกัน

นี่แหละครับ พื้นฐานแนวคิด "ปันผลสังคม" คือ มองว่าประชาชนคือ "ผู้ถือหุ้น" ของรัฐ และรัฐไปทำอะไรได้เงินมา ก็ต้องแบ่งประชาชนตามสมควร

 

ขอย้ำว่านี่เป็นวิธีคิดแบบคนละเรื่องเลย กับ "รัฐสวัสดิการ" เพราะพื้นฐานแนวคิดของรัฐสวัสดิการ คือ รัฐต้องลงไปช่วย "คนที่ไร้ทางไป" จะเอาเงินมาจากไหนก็ได้ แต่ต้องช่วยคนพวกนี้ เพราะ "เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง" คนไร้ทางไปทั้งหลายในอดีต ไม่ว่าจะเป็นคนแก่หรือคนพิการ ถ้าไม่ได้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นช่วยเหลือแล้วก็ต้องหวังไปพึ่งวัด ซึ่งรัฐสมัยใหม่มีอำนาจมาแทนสถาบันทางสังคมเก่าพวกนี้ ก็ต้องรับภาระติดมาด้วย และนี่คือเหตุผลที่แนวคิดรัฐสวัสดิการต้องถือกำเนิดมาในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะยุคนี้ภาระหน้าที่แบบเดิมๆ และโครงสร้างสังคมเก่าฉีกเป็นเสี่ยงๆ คนจำนวนมากไม่มีทางหวังพึ่งสถาบันเก่าๆ รัฐก็เลยต้องลงมาโอบอุ้ม พื้นฐานแนวคิดของรัฐสวัสดิการคือแบบนี้

นี่เป็นวิธีคิดแบบคนละเรื่องเลย กับ "รัฐสวัสดิการ" เพราะพื้นฐานแนวคิดของรัฐสวัสดิการ คือ รัฐต้องลงไปช่วย "คนที่ไร้ทางไป" จะเอาเงินมาจากไหนก็ได้ แต่ต้องช่วยคนพวกนี้ เพราะ "เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง"

กลับกัน "ปันผลสังคม" ไม่ได้มาจากฐานคิดอะไรแบบนี้ แต่มันมาจากฐานความคิดที่ว่า รัฐนั้นมีการเอา "ปัจจัยการผลิต" จากสังคมมาบริหารจัดการและสร้างรายได้งอกเงยออกมา ดังนั้น ประชาชนก็ต้องมีส่วนแบ่งในรายได้พวกนี้ด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงประชาชนไม่ต้องเดือดร้อนอะไร ประชาชนก็มีสิทธิ "ขอส่วนแบ่ง" จากรายได้ที่รัฐหามาจากการเอา "ทรัพยากรสาธารณะ" ไปบริหาร

ทั้งนี้ รายได้ของรัฐที่ก่อให้เกิดโครงการอะไรทำนองนี้ก็ไม่ใช่แค่รายได้จากการพนันในมาเก๊าเท่านั้น แต่พวกรายได้จากการเจอแหล่งน้ำมันไม่ว่าจะเป็นในอลาสกาหรือนอร์เวย์ ก็ทำให้เกิดโครงการภายใต้แนวคิดแบบเดียวกัน ซึ่งหลักการเหมือนกันคือ ได้เงินมา ก็ต้องเอามาแบ่งประชาชนที่เป็นพลเมืองด้วยเป็นอย่างน้อย

และจริงๆ โครงการพวกนี้ก็มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ได้ต่างจาก "รัฐสวัสดิการ" ดังนั้น จะพูดถึงเราก็เลยต้องเลือกมาสักตัวอย่าง และมาเก๊าก็เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดของโครงการแบบนี้ที่ยังดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้มันชัดเจน และต่างจากโครงการ "แจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" ที่หาได้ทั่วไป

มาเก๊าเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2008 โดยบอกว่า ตอนนี้มีวิกฤติเศรษฐกิจโลก เค้ากลัวคนไม่มีเงินใช้ เลยเริ่มโครงการ แต่โครงการก็ดำเนินมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และนั่นหมายความว่าช่วงโควิดที่ไม่มีรายได้ เค้าก็ยัง "แจกเงิน" อยู่ โดยตอนเริ่มในปี 2008 คือแจก 5,000 MOP ต่อปี และขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็น 10,000 MOP ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน

 

ตรงนี้บางคนอาจคิดว่า ก็มาเก๊าเค้ารวยมีคนมาเล่นการพนันเยอะแยะ "เงินมันเหลือ" เลยเอามาแจก

คำตอบ คือ ผิดเลย เพราะในปี 2008 ตอนเค้าเริ่มแจกเงิน เค้ายังมี "หนี้สาธารณะ" อยู่เลย คือมาเก๊าไม่เคย "ปลอดหนี้" การใช้งบดุลแบบ "ขาดดุล" ก็เป็นเรื่องปกติ โดยปกติเฉลี่ยๆ เค้ามีหนี้สาธารณะประมาณ 100% ของ GDP ด้วยซ้ำ (ซึ่งคือมากกว่าไทยอีก)

ตรงนี้จริงๆ ไม่อยากพูดยาว แต่พื้นฐานการคลังก็คือ การ "ปลอดหนี้" ไม่ใช่เรื่องปกติของ "รัฐ" เพราะรัฐก็เหมือนบริษัท การที่บริหารได้มั่นคงมีผลกระกอบการดี ยิ่งทำให้ "เครดิตดี" และสามารถกู้เงินได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง หรือสามารถเสนอดอกเบี้ยต่ำแล้วคนยังให้กู้ ซึ่งภาวะแบบนี้การใช้สิทธิ์ในการกู้เงินมาลงทุนมันสมเหตุสมผลกว่าการ "ปลอดหนี้"

ดังนั้น การ "ปลดหนี้" จึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติ และการที่รัฐจะเริ่ม "แจกเงินประชาชน" ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเริ่มจากการ "ปลอดหนี้" แต่อาจเริ่มจากความเหมาะสมที่รัฐมองว่ารัฐมีรายได้แน่นอนจากทรัพยากรสาธารณะ และสามารถแบ่งให้ประชาชนได้ ไม่ได้ต่างจากบริษัทเอาผลกำไรจากการประกอบการมาแบ่งเป็น "ปันผล" ให้ผู้ถือหุ้น

ซึ่งบริษัทที่ให้ปันผล ไม่ใช่บริษัทที่ไม่เป็นหนี้ มันเป็นหนี้กันทุกบริษัท ปันผลมันเกิดจากการเห็นสมควรว่าปีนี้ผลกระกอบการดี เงินนั้นนอกจากจะเอาไปลงทุนต่อและเอาไปใช้หนี้แล้ว เงินบางส่วนมันควรจะแบ่งมาคืนเป็น "รางวัล" ให้กับผู้ถือหุ้นด้วย

และการเทียบแบบนี้ ก็จะทำให้เราเข้าใจตรรกะของ "ปันผลสังคม" ได้ง่ายขึ้น คือ เปลี่ยนจากแค่บริษัทเป็นรัฐ ผู้ถือหุ้นเป็นประชาชน รัฐไม่ต้องปลอดหนี้ ปีๆ นึงรัฐมีรายได้มากมาย บางส่วนก็ต้องเอาไป บำรุงรักษาสิ่งต่างๆ บางส่วนก็ต้องเอาไปลงทุนพัฒนาต่อ บางส่วนก็เอาไปใช้หนี้ แล้วทำไมบางส่วนจะแบ่งกลับมาให้เหล่า "ประชาชน" ผู้เป็น "ผู้ถือหุ้น" บ้างไม่ได้?

ต้องเน้นว่าที่เล่าให้ฟังทั้งหมด ไม่ได้ต้องการจะสื่อว่ารัฐ "จำเป็น" ต้องให้ปันผลสังคม แต่ประเด็น คือ อยากให้เห็นว่ามันมีเหตุผลอื่นๆ ในการ "แจกเงินประชาชน" นอกเหนือจากที่เราคุ้นเคยในการแจกเพื่อ "กระตุ้นเศรษฐกิจ" หรือแจกเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐสวัสดิการ" เพราะรัฐนั้นก็มีเหตุผลอื่นๆ ที่จะเอารายได้ของรัฐมาจากจ่ายประชาชนได้ โดยเฉพาะถ้ารายได้พวกนั้นมันมาจากผลงอกเงยจาก "ทรัพยากรส่วนรวม" ของสังคมที่รัฐเอาไปบริหารจัดการ และคำถามที่ควรจะถามมากกว่าก็คือถ้ารัฐมีอำนาจผูกขาดในการหาผลประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ แล้วทำไมประชาชนไม่มีสิทธิ์จะได้ "ส่วนแบ่ง" จากอะไรพวกนี้เลย?

 

 

อ้างอิงจาก
https://www.planocp.gov.mo/zh/about/intro  
https://en.wikipedia.org/wiki/Social_dividend