Skip to main content

Libertus Machinus

 

 

สำหรับคนจำนวนมากไทยไม่ใช่สวรรค์ของ LGBTQ+ เท่าไรโดยเฉพาะกลุ่ม "ทรานส์" เพราะอย่างน้อยๆ ในขณะที่กฎหมายไทยจะ "สมรสเท่าเทียม" กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคู่รักต่างเพศหรือเพศเดียวกันแล้ว ณ ปี 2024 โดยเป็นกฎหมายที่ทางสภาอนุมัติแบบ "แลนด์สไลด์" แต่ร่างกฎหมายที่จะให้คนสามารถ "เปลี่ยนเพศ" ไปจากเพศกำเนิดได้ในเอกสารราชการต่างๆ กลับล้มเหลวล้มเหลวไม่เป็นท่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2024

ความล้มเหลวนี้ อาจทำให้หลายฝ่ายมองว่าไทยยังล้าหลังมากในการปฏิบัติกับคนข้ามเพศ เพราะในหลายๆ ชาติไม่ใช่แค่เค้าอนุญาตให้ "เปลี่ยนคำนำหน้า" ได้อย่างอิสระ แต่ระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของเค้ายังให้คนสามารถไป "แปลงเพศ" ได้ฟรีๆ ผ่านเงินภาษีประชาชน และนี่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปได้แค่ในชาติตะวันตก แต่ปัจจุบัน แม้แต่บางรัฐในอินเดียก็มีสวัสดิการด้านสุขภาพแบบนี้ให้กับคนข้ามเพศ

แน่นอน คนไทยได้ยินเรื่องนี้อาจอ้าปากค้าง และก็อาจงงด้วย เพราะจริงๆ หลายๆ คนก็รู้ว่าคนต่างชาติที่ประเทศตัวเองสามารถ "แปลงเพศฟรี ด้วยภาษีประชาชน" ได้ เค้าก็กลับยังเลือกบินมาแปลงเพศที่เมืองไทย ราวกับเค้าไม่สามารถใช้สิทธิด้าน "สวัสดิการ" ตรงนี้ได้

เออ ทำไมกัน? แต่ก่อนจะเข้าใจประเด็นนี้ เราต้องเข้าใจพัฒนาการสิทธิของคนข้ามเพศก่อน

คนข้ามเพศมีมาตั้งแต่อดีตกาล แต่ในอดีตคนข้ามเพศก็คือคนข้ามเพศ เต็มที่ก็เป็นคนแต่งกายผิดไปจากเพศกำเนิด กฎหมายไม่ยอมรับ

ชาติแรกในโลกที่อนุมัติการ "ข้ามเพศ" ในระดับกฎหมาย หรือให้เปลี่ยน "คำนำหน้า" ได้คือสวีเดน โดยเค้าให้ทำได้ตั้งแต่ปี 1972 และพวกชาติยุโรปอื่นๆ ก็เริ่มให้สิทธินี้กับคนข้ามเพศตามมา

อย่างไรก็ดี ในอดีต ปกติเงื่อนไขของการ "เปลี่ยนคำนำหน้า" มันต้องทำการ "แปลงเพศ" มาให้เสร็จก่อน ซึ่งไอเดียพวกนี้ พอเกิดขึ้นภายใต้ระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล มันก็มีคำถามว่าหรือจริงๆ รัฐควรจะออกเงินให้คนเหล่านี้ "แปลงเพศ"  ดี?

ประเด็นพวกนี้คือข้อถกเถียงทางปัญญาช่วงทศวรรษ 2000 และผลสุดท้ายปี 2012 อาร์เจนตินาเป็นชาติแรกที่อนุมัติให้การแปลงเพศเป็นการผ่าตัดที่ทำใด้ในระบบประกันสุขภาพของรัฐ ซึ่งกรอบความคิดแบบนี้คือมองภาวะข้ามเพศเป็นโรคอย่างหนึ่งที่ต้อง "รักษาด้วยการผ่าตัด" ให้คนมีเพศทางกายภาพที่ตรงตามสำนึกทางเพศของตน

สองปีต่อมา ในปี 2014 เดนมาร์กก็มาเหนือมาก โดยการเป็นชาติแรกในโลกที่ให้สิทธิ์คนข้ามเพศ "เปลี่ยนคำนำหน้า" ได้ตามเจตจำนงค์ของตนเองเลย แบบไม่ต้องทำการผ่าตัดใดๆ

หลังจากนั้น ชาติยุโรปต่างๆ ก็เริ่มขยับตาม โดยมีทั้งแนวทางแบบอาร์เจนตินาที่ให้สวัสดิการการแปลงเพศเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ เพื่อให้คนที่แปลงเพศแล้วใช้สิทธิ์เปลี่ยนคำนำหน้าในท้ายที่สุด ซึ่งกระบวนการใช้สวัสดิการนี้ก็จะมีตั้งแต่การให้เทคฮอร์โมนแต่ตอนอายุน้อย และพอถึงวัยที่กำหนดก็จะให้แปลงเพศได้ แต่อีกหลายๆ ประเทศก็เลือกใช้อีกแนวทางหนึ่งก็คือแบบเดนมาร์ก ที่ให้คนสามารถเลือกคำนำหน้าตัวเองได้ตามใจเลยโดยไม่ต้องแปลงเพศ

ประเด็นพวกนี้ค่อนข้างยุ่ง แต่หลักๆ คือมันมีการเถียงกันระหว่างสองแนวคิด แนวคิดหนึ่งเชื่อว่า รัฐต้องยอมรับว่าคนเป็นเพศอะไรก็ได้ตามที่เค้าเรียกร้อง โดยไม่ต้องมีเอกสารแปลงเพศใดๆ แต่อีกแนวคิดจะเชื่อว่ารัฐต้องช่วยให้คน "ข้ามเพศ" ได้เพราะมันเป็น "ปัญหาสุขภาพ" ที่อยู่ในกรอบการคุ้มครองสุขภาพในระบบประกันสุขภาพ

อธิบายสั้นๆ ก็คือ แนวคิดแรกค่อนข้างได้รับการยอมรับน้อย แต่แนวคิดที่สองได้รับการยอมรับมากกว่า และนี่คือเหตุผลว่าทำไมหลายๆ ชาติถึงเอาเงินภาษีประชาชนไปให้คนทำการ "แปลงเพศ" ฟรีๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือจะมี "เงินอุดหนุน" ให้

…แต่ประเด็นที่จะเล่าต่อคือ ถึงสวัสดิการแบบนี้จะมีจริงๆ แต่มันไม่ได้ราบรื่นนัก

การจะใช้สิทธิ์แบบนี้ไม่ได้ใช้กันง่ายๆ แบบเดินไปขอแปลงเพศแล้วจะทำได้เลย ต้องผ่านการประเมินด้านจิตวิทยา ต้องผ่านการเทคฮอร์โมน แล้วก็ประเมินซ้ำแล้วซ้ำอีก ก่อนจะไปจบที่การรอคิวผ่าตัดที่ยาวเฟื้อย เพราะนอกจากเค้าไม่ได้ถือเป็น "เรื่องเร่งด่วน" ในระบบประกันสุขภาพแล้ว ตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถในการผ่าตัดแปลงเพศในระบบสาธารณสุข ก็ยังมีจำกัดมากๆ

กระบวนการทั้งหมดนี้ มันอาจกินเวลาหลายปี แต่สำหรับคนข้ามเพศที่รู้แล้วว่าตัวเองเพศอะไร เค้าก็ไม่อยากรอนานขนาดนั้น และทางเลือกอีกทางที่จะทำให้ "ข้ามเพศ" ได้เร็วขึ้นคือไปใช้บริการแปลงเพศที่โรงพยาบาลเอกชน

หลายคนก็คงรู้ว่าค่าบริหารโรงพยาบาลเอกชนในชาติตะวันตกมันโหดมากๆ และเวลาเราพูดถึงการ "แปลงเพศ" มันไม่ใช่การผ่าตัดครั้งเดียว มันคือผ่าตัดหลายครั้ง แปลงกันทีละอวัยวะ (เช่นการเปลี่ยนอวัยวะเพศ กับการเปลี่ยนหน้าอก ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำพร้อมกันในการผ่าตัดเดียว) ดังนั้นทั้งค่าผ่าตัดและค่าพักฟื้นรวมๆ แล้วมันบานปลายมหาศาลมาก

นี่คือเหตุผลที่คนข้ามเพศจำนวนมาก เลือกที่จะมา "แปลงเพศ" ในเมืองไทย เพราะถ้าจะแปลงเพศในโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ค่าบริการของไทยถูกกว่ามาก ซึ่งถ้าจะให้ประเมินง่ายๆ การแปลงเพศแบบเดี่ยวกันเป๊ะ ในโรงพยาบาลเอกชนอเมริกาจะแพงกว่าไทยประมาณ 3 เท่าตัว และในโรงพยาบาลเอกชนในชาติยุโรปก็น่าจะไม่ต่างกันกับอเมริกาสักเท่าไร

คำถามคือ ถ้ามันแพง แล้วทำไมไม่ใช้สิทธิตามสวัสดิการสาธารณสุขที่จะทำให้แปลงเพศได้ฟรี? ก็กลับไปประเด็นด้านบน คือจะใช้สิทธิ์นี้ได้ มันต้องผ่านกระบวนการยาวมากๆ ซึ่งในความเป็นจริง สำหรับคนข้ามเพศการต้องไปผ่านกระบวนการแบบนี้เค้าก็จะรู้สึกกดดันมากหรือกระทั่งรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม เพราะมันเหมือนต้องพิสูจน์ตัวเองว่าตนคู่ควรกับการแปลงเพศก่อน ถึงจะใช้สิทธิ์นี้ได้

แต่เหนือกว่านั้น การแปลงเพศตามสิทธิ์สวัสดิการสาธารณสุข มันก็จะแปลงได้แบบเทคนิคพื้นๆ เช่น ถ้าการแปลงจากชายเป็นหญิงเค้าก็จะแปลงด้วยเทคนิคเก่าแก่ที่เรียกว่า การ "กลับหนังองคชาต" (Penile Inversion) ซึ่งคือการเอาหนังองคชาตยัดกลับเข้าร่างกายเพื่อทำเป็นช่องคลอด

พื้นที่ตรงนี้คงไม่เหมาะที่จะพูดถึงเทคนิคแปลงเพศโดยละเอียด แต่ปัญหาของเทคนิคเก่าแก่นี้คือ มันทำแล้วช่องคลอดจะตื้นและสามารถตันได้ สาวข้ามเพศจำนวนมากไม่ปลื้ม และนี่ทำให้ภายหลังมันมีการพัฒนาเทคนิคแปลงสำไส้ให้เป็นช่องคลอด และการแปลงช่องท้องให้เป็นช่องคลอด เป็นต้น ซึ่งผลรวมๆ ของการแปลงเพศแบบนี้ก็คือมันจะสร้างช่องคลอดที่ "เหมือนผู้หญิงจริง" ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความลึกหรือการมีสารหล่อลื่นตามธรรมชาติ

เทคนิคใหม่ๆ พวกนี้ คือถ้าใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพของรัฐก็แทบไม่มีสิทธิ์ใช้ หรือพูดง่ายๆ คือทำฟรีมันก็ "เลือกมากไม่ได้" และให้ตรงคือ หลายๆ ประเทศไม่มีบุคคลากรทางการแพทย์จะผ่าตัดแปลงเพศด้วยเทคนิคใหม่ๆพวกนี้ด้วยซ้ำ

นี่เลยกลับมาที่เมืองไทยที่เต็มไปด้วยบุคคลากรด้านการแปลงเพศ และให้ตรงก็คือ เค้าก็ว่ากันว่าเทคนิคการแปลงเพศให้ "สมจริง" มากขึ้นพวกนี้ มันถูกพัฒนามาโดยอุตสาหกรรมการแปลงเพศในไทยด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้เอง ทำให้สวัสดิการการแปลงเพศภาพใต้ระบบประกันสุขภาพที่แม้ว่าจะมีในหลายประเทศ แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่สิ่งที่ "ใช้งานได้จริง" เท่าไร ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับสิทธิการ "เปลี่ยนคำนำหน้า"  ก็ยังเรียกร้อง "เอกสารยืนยันการแปลงเพศ" อยู่ก่อนจะให้ "เปลี่ยนคำนำหน้า" ได้ และสำหรับคนตะวันตกจำนวนมากหนทางที่ "ถูกและดี" ที่สุดในการได้เปลี่ยน "คำนำหน้า" ก็คือการบินมาแปลงเพศที่ไทยแล้วเอาเอกสารกลับไปโชว์นั่นเอง

สุดท้าย เอาจริงๆ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ช่วงหลังๆ หลายๆ ชาติเริ่ม "ถอย" ในการให้สิทธิ์การแปลงเพศรวมอยู่ใน "ระบบประกันสุขภาพ" แล้ว เพราะแม้แต่สวีเดน โปรแกรมการให้ฮอร์โมนกับเด็กวัยรุ่นข้ามเพศก็ถูกยกเลิกไปในปี 2022 เพราะช่วงหลังๆ มีเด็กถูกวินิจฉัยว่า "เพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิดมากขึ้น" และก็ได้ฮอร์โมนไป มากขึ้นอย่างมหาศาล (ตัวเลขสวีเดนคือเพิ่มขึ้น 15 เท่าระหว่างปี 2008-2018)  เลยทำให้เค้าพบว่าเด็กที่รับฮอร์โมนไปที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงร้ายแรงก็ไม่น้อย

ทั้งหมดเลยนำประเด็นกลับไปตามที่เค้ารณรงค์ว่าคนข้ามเพศควรจะได้สิทธิ์ "เปลี่ยนคำนำหน้า" ได้โดยไม่ต้องแปลงเพศ โดยนั่นหมายถึงรัฐทำการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่ปัจเจกเลือกอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งนั่นจะทั้งทำให้รัฐประหยัดเงินภาษีที่ต้องไปอุดหนุนการแปลงเพศ และทำให้คนข้ามเพศไม่ "จำเป็น" ต้องเสี่ยง "แปลงเพศ" ก่อนจะ "ข้ามเพศ" ได้ เพราะพวกนักกิจกรรมก็จะยืนยันเสมอว่า "ไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนจะอยากแปลงเพศ"

ว่ากันตรงๆ อะไรพวกนี้ก็ "สมประโยชน์" กันทั้งรัฐและคนข้ามเพศ เพราะรัฐสวัสดิการที่งบน้อยลงเรื่อยๆ ในสังคมผู้สูงอายุนั้นถ้าเค้าตัดงบอะไรได้เค้าก็อยากตัดอยู่แล้ว ส่วนคนข้ามเพศ การที่รัฐให้สิทธิเปลี่ยนคำนำหน้าได้โดยไม่ต้องแปลงเพศก่อนก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าการบังคับแปลงเพศก่อนเปลี่ยนคำนำหน้าอยู่ดี แม้แต่สำหรับคนที่ตั้งใจจะแปลงเพศอยู่แล้ว


Sources:

สภาฯ คว่ำร่างกฎหมาย "เปลี่ยนคำนำหน้านาม"

Why trans women opt for gender confirmation surgery in Thailand whatever the cost, when procedures can be much cheaper, or free, at home

 ‘They just go to Thailand’: the long and costly wait for gender-affirming surgery in Australia

As Spain advances trans rights, Sweden backtracks on gender-affirming treatments for teens

Bodies that don't fit: Access barriers to gender affirmative services in Tamil Nadu, India

Legal status of gender-affirming healthcare


อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน

รู้มั้ยทุกวันนี้ ‘คนมาเก๊า’ ได้เงินจากรัฐปีละกว่าสี่หมื่นบาท