Skip to main content

‘ฟิลิปปินส์’ อยู่ใน 3 อันดับแรกของ “แรงงานทักษะสูง” ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รองจากญี่ปุ่น และจีน ขณะที่อันดับสี่ เป็นแรงงานทักษะจากอินเดีย

‘แรงงานฟิลิปปินส์’ ที่เข้ามาทำงานในไทย มีการศึกษาสูงและมีทักษะความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จึงมักเข้ามาประกอบอาชีพด้านการสอน โดยเป็นครูในโรงเรียนสอนภาษา หรือครูในโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติ หรือทำงานในภาคบริการ เช่น โรงแรมและภัตตาคาร โดยจำนวนของครูชาวฟิลิปปินส์ในไทยเพิ่มขึ้นทุกปีนับจากปี 2555 เป็นต้นมา

ข้อมูลล่าสุดเดือน ม.ค.2567 ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยว่า มีแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทยรวมทั้งสิ้น 19,510 คน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคการศึกษา โดยประกอบอาชีพด้านการสอนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 75 หรือ 14,645 คน รองลงมา คือ ทำงานในบริษัทเอกชน 1,855 คน และอันดับสาม ทำงานในโรงแรมและภัตตาคาร 1,060 คน


แรงจูงใจของการออกนอกประเทศ

 

ฟิลิปปินส์ มีจำนวนประชากรมากกว่า 119 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย เมื่อเทียบกับบรรดากลุ่มสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ประชากรส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์ยังมีฐานะยากจน กว่า 1 ใน 4 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

ข้อมูลจากการสำรวจโดย Occupational Wage Survey (OWS) ในปี 2022 พบว่า เงินเดือนเฉลี่ยของชาวฟิลิปปินส์อยู่ที่ 330 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,800 บาท ซึ่งไม่เพียงพอการเลี้ยงดูครอบครัวซึ่งมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 คน

ฟิลิปปินส์ นับเป็นประเทศที่ประชากรวัยแรงงานมีคุณภาพการศึกษาสูง จึงมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือชาติอื่นๆ ในภูมิภาค ประกอบกับรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองออกไปทำงานต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการเดินทางไปทำงานนอกประเทศ โดยที่มีประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง

 

‘ครูสอนภาษา’  อาชีพยอดนิยมของแรงงานทักษะฟิลิปปินส์ในไทย

 

เนื่องจาก ประเทศไทยมีการจ่ายค่าจ้างให้แรงงานวิชาชีพครูต่างชาติ ในอัตราที่สูงกว่าที่ครูฟิลิปปินส์เคยได้รับจากการเป็นครูในประเทศ ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การคมนาคมเดินทางที่สะดวกสบายกว่า การไม่ถูกกีดกันหรือตั้งข้อรังเกียจจากคนไทย ทําให้แรงงานครูชาวฟิลิปปินส์พอใจที่จะทํางานในประเทศไทยมากกว่า ซึ่งนอกจากจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถมีเงินส่งกลับไปให้ครอบครัวที่ฟิลิปปินส์ได้อีกด้วย

มีการศึกษาเกี่ยวกับรายได้ของครูชาวฟิลิปปินส์ที่สอนภาษาในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ราว 25,000-40,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มากกว่าค่าเฉลี่ยเงินเดือนในฟิลิปปินส์มากกว่า 2 เท่าขึ้นไป

รายงานของ ILO ระบุว่า แรงงานส่งออกของฟิลิปปินส์มีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2022 แรงงานฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับเข้าประเทศคิดเป็นร้อยละ 8.9 ของจีดีพี ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศบ้านเกิด


‘ไทย’ จุดหมายปลายทางของแรงงานครูฟิลิปปินส์

 

สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้แรงงานทักษะจากฟิลิปปินส์มุ่งหน้ามาทำงานที่ไทย เกิดจากข้อตกลงการเปิดเสรีอาเซียน เมื่อปี 2558 ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการของไทย มีนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน นำไปสู่การจ้างครูต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษให้เข้ามาสอนภาษาในโรงเรียนไทย

ครูชาวฟิลิปปินส์ จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทย ซึ่งความได้เปรียบของแรงงานทักษะฟิลิปปินส์ที่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ คือ ค่าแรงที่ถูกกว่าชาวยุโรป ชาวอเมริกัน หรือชาวออสเตรเลีย ทำให้สถานศึกษาประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้มาก

ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยว่า ม.ค.ที่ผ่านมา มีแรงงานทักษะชาวฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานอยู่ในภาคการศึกษาของไทย รวมทั้งสิ้น 15,112 คน โดยที่ 14,645 คน ประกอบอาชีพด้านการเรียนการสอน


แรงงานไทยจะอยู่ตรงไหน?

 

ขณะที่ แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งแรงงานทักษะสูงจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไต้หวัน และอื่นๆ รวมถึงฟิลิปปินส์ อีกด้านหนึ่ง แรงงานที่ใช้แรงกายแบบเข้มข้นในประเภทงานที่คนไทยไม่นิยมทำกันแล้ว เช่น งานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร การประมง งานก่อสร้าง อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเลและเนื้อสัตว์ การตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลูกจ้างร้านค้าหรือร้านอาหาร ต้องอาศัยแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเป็นกำลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี คือ ตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานไทยในปัจจุบันและอนาคตจะอยู่ตรงไหนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลรายงานล่าสุดของธนาคารโลก ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตรุนแรงทางด้าน “ทักษะพื้นฐานที่สำคัญ” สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 

 

แหล่งข้อมูล

  1. แรงงานข้ามชาติครูชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทย
  2. สามชาติเด่นแรงงาน ทักษะข้ามชาติในประเทศไท
  3. กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
  4. กระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานครูฟิลิปปินส์ในประเทศไทย
  5. ‘นโยบายส่งออกแรงงาน’ ฟิลิปปินส์
  6. เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 2 แรงงานทักษะสูง