ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีประชากร 'สูงวัย' ที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 10 และถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อสังคม แรงงาน และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างล้ำลึก
ประชากรญี่ปุ่นจำนวน 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือราว 36.23 ล้านคน และมีผู้ที่อายุครบ 100 ปีในจำนวนมากกว่าที่เคยมีมา
ผลกระทบจาก 'ประชากรสูงวัย' ต่อสังคมญี่ปุ่น
โลกขยับเข้าสู่ภาวะที่มีประชากรสูงวัยมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดทำนโยบายของรัฐบาล และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก โดยญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากสังคมสูงวัยในด้านต่างๆ ดังนี้
1. เศรษฐกิจ
ปี 2020 ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า “สภาพสังคมสูงวัยและการลดฮวบลงของประชากร จะทำให้การคลังของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะตึงตัว จากเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น เงินบำนาญ และค่าใชจ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ฐานการจัดเก็บภาษีกลับหดตัวลงจากลดลงของประชากรวัยแรงงาน”
นายกรัฐมนตรี ฟูมิโกะ คิชิดะ กล่าวว่า "ญี่ปุ่นกำลังยืนอยู่บนขอบเหวของการที่จะยังคงดำรงอยู่ในฐานะของสังคมต่อไปได้หรือไม่" เนื่องจากเผชิญการคุกคามของอัตราการเกิดที่ลดลง และการมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น
2. การผลิต
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยคาดว่าในปี 2024 ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานถึง 11 ล้านคน ทำให้มีการนำมาตรการสำหรับสังคมสูงวัยมาใช้ตั้งแต่ปี 2018 เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุยังคงทำงานและเป็นกำลังแรงงานให้กับญี่ปุ่นต่อไป
รายงานของเวิลด์อิโคโนมิกส์ฟอรั่มระบุว่า ในปี 2022 ราวครึ่งหนึ่งของบริษัทในญี่ปุ่นพึ่งพาคนงานที่อายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไป ขณะที่ทั่วโลกมีเพียงร้อยละ 35 ของบริษัทที่ยังคงให้ตำแหน่งงานกับผู้ที่อายุเกิน 55 ปี
ในบริบทที่เทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสัญญาว่าจะให้งบประมาณเบื้องต้นจำนวน 7.6 พันล้านดอลลาร์ในการฝึกอบรมแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้นสำหรับงานในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญแย้งว่า ด้วยกฎหมายเข้าเมืองของญี่ปุ่นที่เข้มงวด ไม่ยืดหยุ่น การเติมช่องว่างของการขาดแคลนแรงงานจะค่อยๆ ส่งผลกระทบที่รุนแรงอย่างช้าๆ
3. สังคม
ในปี 2022 อัตราการเกิดของญี่ปุ่นต่ำสุดเป็นประวัติการ โดยอัตราการให้กำเนิดบุตรอยู่ที่ 1.25 ต่อคน ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่จะรักษาความมั่นคงทางประชากรอยู่มาก ซึ่งอยู่ที่ 2.07
ขณะที่การระบาดของโควิด ซ้ำเติมให้โครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นย่ำแย่ลงอีก เพราะไม่เพียงแต่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น แต่ยังทำให้การแต่งงาน และการให้กำเนิดทากรกลดลงด้วย
อัตราการเกิดที่ต่ำกว่าอัตราที่จะรักษาเสถียรภาพของประชากร เป็นเสมือนระเบิดเวลาต่อระบบสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญความยากลำบากจากการจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้เกษียณอายุ ขณะที่จำนวนประชากรวัยทำงานที่จะทำงานและจ่ายภาษีลดน้อยลง
4. สาธารณสุข
การที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น บริการด้านสุขภาพจึงเป็นจุดสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการเปลี่ยนจากการรักษาในโรงพยาบาลไปสู่ระบบการดูแลที่บ้าน โดยกระตุ้นให้ผู้ป่วยเลือกรับการดูแลอยู่ที่บ้าน การให้ผู้ป่วยทานยาเพื่อรักษาอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ เอง และการติดตามอาการของผู้ป่วยด้วยระบบเฝ้าระวังจากระยะไกล
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองใช้หุ่นยนต์ผู้ดูแล หรือ Carebots ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุมาเป็นเวลาหลายปี แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถตอบทุกโจทย์ความต้องการของคนญี่ปุ่นได้