นักวิจัยจากเวอร์จิเนียเทค ไขปริศนาพฤติกรรมความอยากกินอาหารโปรดเพื่อเยียวยาจิตใจหลังเผชิญความเครียด เกิดจากโมเลกุล “โพรเอนเคฟาลิน” ในสมองส่วนหน้า ซึ่งถูกกระตุ้นจากภาวะ “ความเครียด” และทำให้เกิดพฤติกรรม ‘กินมากกว่าปกติ’ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
การกินตามภาวะอารมณ์หลังเกิดความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวนักวิทยาศาสตร์เอง เมื่อเราเผชิญกับความเครียด และผ่านช่วงเวลาแห่งความเครียดไปหลาย ชม. เราอาจรู้สึกว่าอยากจะกิน ‘คอมฟอร์ตฟู้ด’ หรืออาหาร ‘ฮีลใจ’ เพื่อปลอบประโลมจิตใจจากความรู้สึกเครียดหรือเศร้า โดยเป็นกระบวนการทางสมองที่ทำให้เกิดความอยากอาหารที่มีไขมันสูง ทั้งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่สามารถบรรเทาความเครียดได้
โซรา ชิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่สถาบันวิจัยชีววิทยาการแพทย์ฟราลิน สถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายว่า โมเลกุล ‘โพรเอนเคฟาลิน’ ที่พบในสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากกินอาหารที่ชอบในปริมาณที่มากกว่าปกติ หลังเผชิญกับความเครียด
โซรากล่าวว่า เราไม่ได้อยากกินเพราะความหิวเสมอไป และเมื่อเกิดความเครียดหรือรู้สึกถูกปฏิบัติบางอย่าง มันจะไปกระตุ้นโมเลกุลโพรเอนเคฟาลินในสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้เกิดแรงจูงใจในการอยากอาหาร
โซราและทีมเริ่มวิจัยโมเลกุลโพรเอนเคฟาลิน ซึ่งพบในหลายส่วนของสมอง การวิจัยพบว่ามันมีบทบาทกับสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส ซึ่งโซราคาดว่าเกี่ยวข้องกับความเครียดและการกิน เพราะไฮโปธาลามัสทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการกินของเรา
ในการทดลองให้หนูเผชิญหน้ากับแมวซึ่งเป็นนักล่าโดยธรรมชาติ หลังผ่านไป 24 ชม. หนูแสดงออกถึงภาวะอารมณ์เชิงลบ และเกิดพฤติกรรมการกินที่มากเกินกว่าปกติ โดยที่ประสาทและสมองมีความไวต่ออาหารที่มีไขมันสูง การสังเกตการตอบสนองของหนูทดลอง ทีมวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่าโมเลกุลดังกล่าวไปกระตุ้นเซลล์ประสาทให้เกิดความอยากกินอาหารที่มีไขมันสูง
เมื่อนักวิจัยลองให้หนูสัมผัสกับกลิ่นแมวอีกครั้ง โดยลดปฏิกิริยาของเซลล์ประสาทที่ถูกกระตุ้นจากโมเลกุลโพรเอนเคฟาลิน พบว่า หนูไม่แสดงถึงอารมณ์เชิงลบ และไม่มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เกินกว่าปกติ
การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่เสนอความเข้าใจต่อกลไกที่กระตุ้นให้เกิดความอยากกินอาหารเพื่อเยียวยาจิตใจ แต่ยังเสนอความเป็นไปได้ที่จะบำบัดอาการ “การกินมากกว่าปกติ” อันเนื่องจากความเครียด แม้จะยังไม่ทราบถึงวิธีที่รับมือกับสัญญาณที่ส่งไปยังสมอง ที่ทำให้เกิดความอยากทาน ‘คอมฟอร์ตฟู้ด’
โซรากล่าวว่า ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโมเลกุลโพรเอนเคฟาลินอีกมาก แต่การพบว่ามันอยู่ตรงไหนของสมอง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี