Skip to main content

นักวิจัยจากชิลี ทำการศึกษาสมองของ "แฟนบอล" เพื่อทำความเข้าใจถึงการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรม เมื่อทีมโปรดคว้าชัยชนะ หรือพบความพ่ายแพ้ โดยชี้ว่าผลการวิจัยอาจขยายไปสู่ความเข้าใจต่อการแข่งขันในพื้นที่ "การเมือง"

ดร.ฟรานซิสโก ซาโมราโน นักวิจัยจากคลีนิกาอเลมานา ที่ซานดิอาโก ประเทศชิลี ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมภายในสมองที่ถูกกระตุ้น และส่งผลต่อการแสดงออกซึ่งอารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมของแฟนบอลที่สนับสนุนทีมฟุตบอลชั้นนำในชิลี

การศึกษาของ ดร.ฟรานซิสโก มุ่งไปที่การทำความเข้าใจพฤติกรรมและพลวัตของกลุ่มแฟนบอลที่ถูกกระตุ้นโดยการต่อสู้ การแสดงออกถึงความก้าวร้าว และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมภายในและระหว่างกลุ่มของคนที่คลั่งไคล้ในสิ่งเดียวกัน

การศึกษานี้ใช้เครื่องสแกนสมอง หรือ MRI ในการตรวจสอบกิจกรรมทางสมองของแฟนบอลในระหว่างที่ทีมโปรดลงเตะ พบว่า เมื่อนักฟุตบอลทำประตูทีมคู่แข่งได้ ระบบของสมองที่เรียกว่า การให้รางวัล จะตื่นตัว และหากเมื่อทีมเสียประตูหรือแพ้ สมองจะเกิดการคิดทบทวนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

การทดลองนี้ทดสอบกับอาสาสมัครแฟนบอลชายในชิลีที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 43 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 22 คน และกลุ่มที่สอง 21 คน โดยที่ทุกคนผ่านการประเมินสุขภาพจิต

ขณะที่อาสาสมัครดูทีมโปรดลงแข่งขัน จะถูกตรวจวัดกิจกรรมของสมองด้วยเครื่องสแกนคลื่นสมอง พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนโลหิตในสมอง เมื่อทีมของพวกเขาชนะหรือพ่ายแพ้

ดร.ฟรานซิสโกกล่าวว่า เมื่อทีมโปรดของพวกเขาชนะ ระบบให้รางวัลในสมองจะตื่นตัว และหากทีมฟุตบอลของพวกเขาแพ้ เครือข่ายความสามารถในการเข้าใจ ความคิด และความรู้สึกจะถูกกระตุ้น นำไปสู่ภาวะความคิดอย่างลึกซึ้ง ที่อาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดหรือความรู้สึกสูญเสีย

นอกจากนี้ การทดลองยังสังเกตพบว่า เกิดการยับยั้งของศูนย์กลางสมองที่เชื่อมต่อกับระบบลิมบิก ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความโกรธ หรือความกลัว กับสมองส่วนคอร์เท็กซ์ที่บริเวณหน้าผาก และไปขัดขวางกลไกที่ควบคุมการทำงานทางด้านปัญญา ทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดพฤติกรรมก่อกวน หรือพฤติกรรมก้าวร้าว ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง

ดร.ฟรานซิสโกกล่าวว่า การค้นพบนี้เผยถึงความเข้าใจต่ออารมณ์และพฤติกรรมของแฟนบอลที่นอกเหนือไปจากเกมฟุตบอล โดยสามารถทำให้เกิดความเข้าใจต่อกระบวนการตัดสินใจและพลวัตทางสังคม โดยนัยยะของการค้นพบนี้ เขาเสนอว่าควรขยายขอบเขตออกไปจากแค่ความคลั่งไคล้ในกีฬา ไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น ความคลั่งไคล้ทางการเมืองด้วย

ดร.ฟรานซิสโกกล่าวว่า ผลการศึกษานี้อาจช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อพลวัตทางสังคมในด้านต่างๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนมักแสวงหาการเชื่อมต่อทางสังคม โดยการเข้าร่วมชมรมหรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งกิจกรรมทางออนไลน์ ในขณะเดียวกันการเชื่อมต่อทางสังคมเหล่านี้ มักหมุนเวียนอยู่กับการแบ่งปันความเชื่อ ค่านิยม หรือความสนใจของกลุ่มคนที่ยึดถือในสิ่งเดียวกัน ทั้งยังสามารถโน้มน้าวให้เป็นเกิดเป็นลัทธิความเชื่อ หรือ 'การคิดแบบกลุ่ม' ที่อาจนำไปสู่ความเชื่อที่ไร้เหตุผล และเกิดความบาดหมางในสังคม

ดร.ฟรานซิสโกเชื่อว่า ความคลั่งไคล้ที่พบในหมู่แฟนกีฬาบางคน สามารถเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และการเกิดภาวะบกพร่องทางเหตุผล

เขากล่าวว่า การเข้าใจจิตวิทยาของกลุ่มและการแข่งขัน สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจและพลวัตต่างๆ ทางสังคม และช่วยทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าสังคมจะดำเนินไปอย่างไร