มายาคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุ “แก่-ถดถอย-เรียนรู้สิ่งใหม่ไม่ได้” ถูกโต้โดยงานวิจัยสมัยใหม่ที่ชี้ว่า หลังวัย 50 ปี สมองมีพัฒนาการไปสู่ขั้นใหม่ที่ชาญฉลาดและลึกซึ้งมากขึ้น ประมวลผลดีขึ้น ผลการศึกษาพบนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนวัย 80 มีสภาพร่างกายจิตใจเทียบเท่าคนอายุ 35 ปี
สตีเวน คอทเลอร์ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยและอบรม Flow Research Collective ซึ่งทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังสมรรถภาพของมนุษย์ วิจารณ์มายาคติดั้งเดิมเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เชื่อกันมากระทั่งปัจจุบันว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ “ร่างกาย” และ “จิตใจ” เสื่อมถอยลงโดยไม่มีสิ่งใดหยุดได้ รวมถึงเป็นวัยที่ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อีก
มายาคติว่าด้วย 'คนสูงวัยความคิด-จิตใจถดถอย'
สตีเวนกล่าวว่า มายาคตินี้กำเนิดมาจาก “ซิกมุนด์ ฟรอยด์” นักจิตวิเคราะห์ลือนามเมื่อปี 1907 หรือเมื่อ 116 ปีที่แล้ว ในช่วงที่เขาล่วงเข้าวัย 50 ปีโดยเขียนในหนังสือว่า เมื่อคนเข้าสู่วัย 50 ปี ความยืดหยุ่นของกระบวนการทางความคิดจะลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อีกต่อไป
สตีเวนกล่าวว่า ฟรอยด์เชื่อว่า คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นเหมือนสินค้าใกล้หมดอายุที่ไม่มีทางเก็บรักษาเอาไว้ได้ มุมมองนี้เป็นที่มาของทฤษฎีเรื่อง ความเสื่อมถอยแบบช้าๆ ที่ยาวนาน นอกจากนี้ เขายังวิจารณ์ว่า ถ้อยแถลงของฟรอยด์เต็มไปด้วยความจริงบางส่วนและการพูดจาวกวน
สตีเวนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อทักษะด้านจิตใจและร่างกายถดถอยลงตามเวลา ทำให้คนวัยเกิน 50 สูญเสียทักษะเหล่านั้น ในทางกลับกัน เขาตั้งคำถามว่า ถ้าหากเราไม่เคยหยุดใช้ทักษะเหล่านี้เลย เราจะคงยังรักษามันไว้ได้ใช่หรือไม่
งานวิจัยพบ นักวิ่งมาราธอนวัย 80 ร่างกาย-จิตใจเทียบเท่าคนอายุ 35
เขากล่าวว่า เป็นเวลาหลายปีที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามนุษย์ทำอะไรไม่ได้แล้วในวัยนั้น แต่เมื่อพบว่ามีนักไตรกีฬาและนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนวัย 60 ปี 70 ปี และ 80 ปี นักวิจัยจึงเริ่มที่จะพิจารณาลึกลงไปถึงนักกีฬาสูงวัยเหล่านั้น และพบว่า การฝึกที่เหมาะสมสามารถขจัดความถดถอยในช่วงวัย 50 ปีได้ นักกีฬาในวัย 80 ปี จึงมีสุขภาพและทักษะร่างกายเทียบเท่ากับคนอายุ 35 ปีได้
ธีโอดอร์ ซานโตและอดัม กัซซาเลย์ นักประสาทวิทยา อธิบายว่า วิธีเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับทักษะการจดจำของคนสูงวัยด้วยเช่นกัน การคงความสามารถในการควบคุมการจดจำ ซึ่งเป็นการจัดเก็บความจำที่เกี่ยวกับการทำงาน ทักษะการเปลี่ยนโหมดแบบทันที การทำงานแบบมัลติทากส์ และความสามารถที่จะการต่อต้านสิ่งรบกวน
หลัง 50 สมองพัฒนาไปอีกขั้น ชาญฉลาดและลึกซึ้งขึ้น
งานวิจัยปัจจุบันเผยว่า ช่วงบั้นปลายของชีวิตสมองมีการพัฒนาไปสู่ขั้นใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและเป็นไปในทางบวกเข้ามาแทนที่ในสมอง 3 ประการ
ประการแรก ยีนบางชนิดจะทำงานก็ต่อเมื่อได้รับประสบการณ์ การสะสมประสบการณ์ชีวิตเพิ่มมากขึ้น สมองจะปรับโครงสร้างตัวเองตลอดเวลา ทำให้บุคลิกภาพของเรามีความลึกซึ้งและชาญฉลาดขึ้น
ประการที่สอง สมองจะเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากบริเวณที่ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ในช่วงวัยก่อนหน้า ซึ่งสิ่งนี้อาจช่วยชดเชยความเสื่อมถอยทางสติปัญญาที่เกิดขึ้นตามอายุได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อเรายังเด็ก ซีกสมองข้างใดข้างหนึ่งอาจทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลทั้งหมด แต่เมื่ออายุมากขึ้น สมองจะดึงเอาบริเวณซีกสมองอีกข้างหนึ่งมาใช้งาน เป็นการสำรองข้อมูลสำรองทางประสาทที่สามารถชดเชยความเสื่อมถอยที่เกี่ยวข้องกับอายุได้
ประการสุดท้าย ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของสมองจะหนาแน่นและสูงสุดระหว่างอายุ 60 บถึง 80 ปี ซึ่งทำให้ซีกสมองทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ดีกว่าช่วงวัยก่อนหน้า
สตีเวนกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านชีววิทยาของระบบประสาท ยังช่วยปลดล็อกความคิดใน 3 ลักษณะ ซึ่งก่อนอายุ 50มักจะเข้าไม่ถึง คือ
การคิดแบบสัมพัทธนิยม: คือ การยอมรับว่า ความจริงอาจแตกต่างกันไปตามมุมมองหรือบริบทที่แตกต่างกัน ผู้ใหญ่ที่พัฒนาความสามารถในการคิดแบบสัมพัทธนิยมจะมีความยืดหยุ่นในการคิด และสามารถยอมรับมุมมองที่แตกต่างไปจากของตนเองได้
การคิดแบบอทวิลักษณ์: คือ การมองสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่หลากหลาย ไม่ตัดสินว่าสิ่งใดถูกต้องหรือผิดแบบขาวกับดำ ผู้ใหญ่ที่พัฒนาความสามารถในการคิดแบบอทวิลักษณ์จะมีความเห็นอกเห็นใจ และสามารถเข้าใจมุมมองของผู้อื่นได้
การคิดเชิงระบบ: คือ การคิดแบบภาพรวมและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ผู้ใหญ่ที่พัฒนาความสามารถในการคิดเชิงระบบจะสามารถมองให้เห็นปัญหาและหาแนวทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สตีเวนกล่าวว่า การพัฒนาความสามารถในการคิดแบบใหม่เหล่านี้ ช่วยให้เราสามารถเข้าใจโลกรอบตัวได้ดีขึ้น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เข้าใจผู้อื่น และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีในโลกปัจจุบัน
อคติต่อคนสูงวัย ส่งผลกระทบเชิงลบต่อร่างกาย-จิตใจผู้สูงอายุ
สตีเวนกล่าวว่า หากเราปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ รวมถึงตัวเราเองว่าแก่ชรา เชื่องช้า และไร้ความสามารถ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อสุขภาพกายและจิตของพวกเขา
เบ็คกา เลวี นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล พบว่าผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของอคติเชิงลบเกี่ยวกับความชราในช่วงอายุ 20, 30 และ 40 ปี เมื่อถึงวัย 60 ปี พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีอาการความจำเสื่อมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30
สตีเวนกล่าวว่า การที่เราปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในแง่ลบ จะเป็นการตอกย้ำ “อคติเชิงลบเกี่ยวกับความชรา” ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุได้