Skip to main content

งานวิจัยหลายชิ้นที่ต้องการรู้ถึงการ "โกหก" ของคนว่าเกิดขึ้นถี่แค่ไหน พบว่าโดยเฉลี่ย คนเราจะพูดโกหกวันละ 1 ครั้ง และมักโกหกร้ายแรงกับคนใกล้ชิด เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทมากกว่าคนแปลกหน้า เพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ ขณะที่มีการโกหกผ่านการสนทนาทางวิดีโอแชทมากกว่าการพูดคุยแบบซึ่งหน้า หรือผ่านตัวหนังสือในอีเมลและโทรศัพท์

บทความของเดวิด มิลเลอร์ ใน Scientific American เขียนถึงการโกหกของคน โดยนำงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้มาแสดงให้เห็นถึง ความถี่ของการพูดโกหกของคนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทั้งการโกหกแบบซึ่งหน้า และการโกหกผ่านรูปแบบการสื่อสารที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ตัวหนังสือในอีเมล หรือข้อความทางโทรศัพท์

เดวิดอ้างอิงถึง งานวิจัยเรื่องความซื่อสัตย์ของเบลลา ดิเปาโล นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ที่ศึกษาถึงความถี่ในการโกหกของคน 2 กลุ่ม คือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย กับอาสาสมัครจากชุมชนโดยรอบ ผลการศึกษาพบว่า สมาชิกชุมชนพูดโกหกเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง ขณะที่กลุ่มนักศึกษามีการพูดโกหกเฉลี่ยวันละ 2 ครั้ง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้กลายเป็นจุดอ้างอิงของการวิจัยต่อมา และนำไปสู่การตั้งสมมติฐานว่า การโกหกนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน

การศึกษาที่มีอิทธิพลอีกชิ้นหนึ่งที่ผู้เขียนบทความอ้างถึง คือ งานวิจัยของคิม เซโรต้าและคณะ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท เมื่อปี 2010 พบว่า คนอเมริกัน 1,000 คนที่เข้าร่วมการวิจัย ร้อยละ 59.9 อ้างว่าพูดโกหกแค่ 1 ครั้งในรอบ 24 ชม. ในกลุ่มคนที่รับว่าพูดโกหก ส่วนใหญ่บอกว่าพูดข้อความไม่จริงน้อยมาก ขณะที่มีจำนวนของการโกหกรวมทั้งสิ้น 1,646 ครั้ง โดยครึ่งหนึ่งมากจากคนเพียงร้อยละ 5.3 ที่เข้าร่วมการวิจัย

ในบทความ มีการตั้งคำถามสำคัญว่า สภาพปัจจัยที่แตกต่างออกไปมีผลต่อการโกหกหรือไม่ หากไม่ใช่การปฏิสัมพันธ์แบบพบกันซึ่งหน้า เช่น การสื่อสารระยะไกลผ่านตัวหนังสือโดยใช้อีเมลหรือโทรศัพท์

เดวิดสรุปว่า ตัวกลางไม่มีผลมากนัก โดยยกการศึกษาของเมดิลีน สมิธและคณะ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ที่พบว่า ร้อยละ 23 ของผู้เข้าร่วมการวิจัยซึ่งถูกขอให้ดูข้อความตัวหนังสือของตัวเอง 30 ข้อความ บอกว่า ไม่มีข้อความใดที่เป็นการโกหก ส่วนที่เหลือบอกว่า มี 1-2 ข้อความของพวกเขาที่มีคำโกหก

ผู้เขียนยกงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ของเดวิด มาร์โกวิทซ์ จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ในการเพิ่มความหนักแน่นให้กับข้อค้นพบจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบอัตราการโกหกผ่านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งการพิมพ์ตัวหนังสือบนโทรศัพท์หรือทางอีเมล การสำรวจข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการวิจัย 205 คนพบว่า โดยเฉลี่ยคนจะโกหก 1.8 ครั้งต่อวัน โดยที่ค่าเฉลี่ยบิดเบือนไปจากการที่มีคนบางส่วนมีปริมาณของการโกหกที่ถี่กว่า

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาที่พบว่า การโกหกผ่านการพูดคุยทางวิดีโอแชท เกิดขึ้นเป็นประจำบ่อยครั้งกว่า การโกหกโดยการพูดคุยแบบเจอกันซึ่งหน้า ขณะที่การโกหกทางอีเมลเกิดขึ้นน้อยที่สุด

เดวิดกล่าวว่า มีปัจจัยที่สามารถควบคุมการโกหกได้ เช่น การบันทึกการสนทนา เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้การโกหกน้อยลงได้ โดยสร้างความกังวลเกี่ยวกับการตรวจจับการโกหก และการโกหกส่วนมากเกิดขึ้นในขณะที่คนอยู่ในอาการร้อนรน แต่เมื่อการสื่อสารถูกทำให้ล่าช้าออกไป เช่น การสื่อสารผ่านทางอีเมล ช่วยให้การโกหกลดลงเช่นกัน

สิ่งที่น่าใจอีกประการหนึ่ง จากงานศึกษาของดิเปาโลพบว่า คนมีแนวโน้มที่จะ “โกหกรายวัน” กับคนแปลกหน้ามากกว่าคนในครอบครัว แต่สถานการณ์จะพลิกกลับ และเกิดการ “โกหกร้ายแรง” เมื่อเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวหรือการบาดเจ็บ โดยร้อยละ 53 ของการโกหกร้ายแรงเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดในบรรดาของผู้เข้าร่วมการวิจัย และสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72.7 ในกลุ่มนักศึกษา

เดวิดอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะคนให้ค่ากับความสัมพันธ์ต่อกันมากกว่าให้ค่ากับการพูดความจริง เช่นเดียวกับที่พบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยพูดโกหกกับเพื่อนและครอบครัว มากกว่าพูดโกหกกับคนแปลกหน้า

เดวิดเสนอว่า ควรมีการทำวิจัยซ้ำกับคนในวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก และยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกนำมาทดสอบร่วมด้วย เช่น อายุ เพศ ศาสนา และปัจจัยทางด้านการเมือง