Skip to main content

สถาบันประสาทวิทยาสิงคโปร์เผย การดื่มกาแฟช่วยลดความเสี่ยงป่วยเป็นพาร์กินสันได้ 4-8 เท่า แม้ในคนที่มียีนพาหะของโรคพาร์คินสัน

งานวิจัยชิ้นใหม่ของสถาบันประสาทวิทยาแห่งชาติ สิงคโปร์ เผยว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการลดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคพาร์กินสันในชาวเอเชีย

งานวิจัยนี้ศึกษาผู้ที่ดิ่มกาแฟหรือชาจำนวน 4,488 คน พบว่า คนที่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นพาร์กินสันน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม 4-8 เท่า โดยการดื่มกาแฟสด 4 แก้ว หรือกาแฟสิงคโปร์ (โกปี้) ซึ่งมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าจำนวน 2 แก้ว และพบว่าการดื่มคาเฟอีนในปริมาณไม่เกิน 200 มก.ต่อวันจะให้ผลดีที่สุด

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มียีนพาหะของโรคพาร์กินสันที่ดื่มชาหรือกาแฟ จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนเลย แม้จะไม่มียีนพาหะของโรคก็ตาม

ศาสตราจารย์ตัน อิงขิง จากแผนกประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยาแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า คาเฟอีนมีศักยภาพในการป้องกันโรคพาร์กินสัน และลดการอักเสบของระบบประสาท แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าคาเฟอีนสามารถตัดความเสี่ยงต่อการเกิดพาร์กินสันได้อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในชาวเอเชีย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคพาร์กินสันสูง

งานวิจัยระบุว่า ชาวเอเชียที่มียีนพาหะของโรคพาร์กินสันมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 1.5-2 เท่าที่จะป่วยด้วยโรคนี้ ซึ่งส่วนเป็นชาวเอเชียตะวันออก โดยที่มีชาวสิงคโปร์มากกว่าร้อยละ 10 ที่มียีนพาหะดังกล่าว

ในสิงคโปร์มีผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันมากกว่า 8,000 คน และมีสัญญาณบ่งชี้ว่ามีประชากรผู้สูงอายุในสิงคโปร์ถึงร้อยละ 26 ที่แสดงอาการของโรคพาร์กินสัน

ศาสตราจารย์ตันกล่าวว่า ชาวเอเชียส่วนใหญ่ดื่มชาและกาแฟอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว การขอให้ดื่มในปริมาณปรกติจึงเป็นเรื่องง่าย และเป็นวิธีที่ทำให้ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงที่จะป่วยจากโรคนี้ และการค้นพบนี้เป็นก้าวต่อไปของการป้องกันสภาวะที่ไม่พึงประสงค์ของการป่วยด้วยโรคพาร์กินสันที่จะเกิด