ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง แนวทางการฝึกงานเพื่อสร้างประสบการณ์ในกรุงเทพมหานคร พร้อมบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนิสิต นักศึกษา ในประเด็นการพัฒนารูปแบบและระบบการฝึกงานใหม่ โดยมี ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ณัฐพงศ์ ดิษยบุตร หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ก. นิสิต นักศึกษาที่ฝึกงานในหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 264 คน จาก 42 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
กรุงเทพมหานครได้มีการรับนิสิต นักศึกษาฝึกงาน เข้ามาร่วมทำงานเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตการทำงานที่แท้จริง สามารถนำประสบการณ์ที่จะได้รับจากการฝึกงานไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคต พร้อมปรับตัวได้ทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการฝึกงานในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะได้รับการประสานจากสถาบันการศึกษาโดยตรง และบางส่วนก็จะมาติดต่อฝึกงานด้วยตนเองกับหน่วยงานที่ต้องการ การดำเนินโครงการฝึกงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร (Internship in BMA) มีการดำเนินการอย่างจริงจังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาไม่ได้มีการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาอื่น ๆ จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้นิสิต นักศึกษาฝึกงานได้รับฟังการบรรยายแนวทางในการฝึกงานกับกรุงเทพมหานครจากผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำไปพัฒนาการฝึกงานของกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การฝึกงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เพราะนิสิต นักศึกษาที่มาฝึกงานล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีทักษะที่สามารถช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลให้การทำงานเกิดความคล่องตัว ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนิสิต นักศึกษาฝึกงานก็จะได้รับการพัฒนาความรู้ เสริมทักษะ จากการเผชิญสถานการณ์จริง และนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายกับสถาบันทางการศึกษา และเป็นส่วนร่วมในการจัดการงานภาครัฐ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นิสิต นักศึกษาฝึกงาน อันต่อยอดไปสู่การจ้างงานและการประกอบอาชีพในอนาคต
“มีคำกล่าวหนึ่งของ Steve Jobs อัจฉริยะผู้พลิกโลกแห่งวงการไอที ได้กล่าวไว้ว่า คุณไม่สามารถเชื่อมต่อจุดด้วยการมองไปข้างหน้า คุณสามารถเชื่อมต่อมันก็ต่อเมื่อมองย้อนกลับไปเท่านั้น เพราะฉะนั้นคุณต้องเชื่อมั่นว่าจุดนั้นจะเชื่อมต่อคุณในอนาคต ซึ่งเปรียบชีวิตเหมือนการต่อจุดที่คุณจะสามารถนำจุดในอดีตมาต่อได้ แต่ไม่สามารถนำจุดในอนาคตมาต่อได้ คือ คุณไม่สามารถนำความรู้หรือประสบการณ์ที่คุณยังไม่มีมาใช้สร้างคำตอบให้กับชีวิตในปัจจุบันนี้ได้ แต่คุณจะต้องใช้สิ่งที่คุณมีอยู่แล้วในการต่อจุดของชีวิต ซึ่งการฝึกงานเป็นการเริ่มจุดในชีวิต คุณอาจจะยังไม่รู้ว่าการฝึกงานในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะได้เรียนรู้อะไร แต่นี่จะเป็นจุดที่คุณตุนไว้ และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง จุดเหล่านี้จะสามารถมาต่อกันเป็นคำตอบให้กับชีวิตได้ หากเรามีจุดเพียงสองจุด เราก็จะลากคำตอบให้ชีวิตได้เพียงเส้นตรง แต่หากเราสะสมจุดจำนวนเยอะ เราจะสามารถต่อจุดเป็นอะไรก็ได้อีกมากมาย หากเรามีความคิดสร้างสรรค์ด้วย ก็จะสามารถสร้างจุดเหล่านี้ให้มีมูลค่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในนโยบายของเรา นั่นคือการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์ หน้าที่ของนิสิต นักศึกษา จึงเป็นการ Collect และ Connect คือสะสมจุด (Collect) ให้มาก คุยกับคนให้เยอะ ถามให้เยอะ การถามไม่ผิด เพราะเป็นวิธีในการสะสมจุด พอเรามีจุด มีความรู้ มีประสบการณ์ จะต้องรู้จักเชื่อมโยงจุด (Connect) ให้เป็น เพื่อให้เกิดคำตอบแก่ชีวิต
เพราะฉะนั้น ในการฝึกงาน เราควรถามตัวเองว่าวันนี้เราได้อะไร มีความรู้อะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งในการสะสมจุดไว้ใช้ในอนาคต เราจะต้องประกอบไปด้วย Curiosity ความอยากรู้อยากเห็น Discipline ระเบียบวินัย และ Perseverance ความอดทนและความขยัน ในส่วนของการสร้างสรรค์นั้น Adam Grant นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้เสนอว่าจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในโลก คือ Curiosity ความอยากรู้อยากเห็น มีความสงสัย รู้สึก “เอ๊ะ” เอะใจ เพื่อให้เกิดการตั้งคำถาม Not accepting the default อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น Balancing risk portfolio มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และ Combination of broad and deep experience มีประสบการณ์ทั้งด้านกว้างและด้านลึก หรือความรู้เป็นรูปตัว T ซึ่งจะทำให้เราสามารถมองได้รอบด้านมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในการบรรยาย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้บรรยายต่อไปว่า การอ่านหนังสือก็เป็นอีกวิธีในการสะสมจุดเช่นกัน โดย Naval Ravikant ผู้ประกอบการและนักลงทุนชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เคยกล่าวไว้ว่า “อ่านในสิ่งที่คุณรัก จนคุณรู้สึกรักการอ่าน” โดยตนก็เริ่มจากการอ่านหนังสือการ์ตูนเช่นกัน อ่านบ่อย ๆ จนทำให้ชอบอ่านและติดการอ่านหนังสือ นำไปสู่การอ่านหนังสือวิชาการมากขึ้น ทำให้มีองค์ความรู้ที่มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
“ต่อจากนี้การเรียนรู้ Learning จะมีความสำคัญมากกว่าการศึกษา Education เพราะการศึกษา คือการเรียนในสิ่งที่ผู้อื่นวางแนวทางไว้ให้ แต่การเรียนรู้ คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากตนเอง จากความชอบและความสนใจของตัวเอง ซึ่งความรู้นอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาที่รอให้เราได้เรียนรู้นั้นมีอีกเยอะมาก และการอ่านถือเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ นำไปสู่การขยายจุดในชีวิต” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้บรรยายถึงการมีวินัยในชีวิต ดังคำกล่าวของ Eliud Kipchoke นักวิ่งชาวเคนย่า วึ่งได้กล่าวไว้ว่า “คนที่มีวินัยในตัวเอง เท่านั้นถึงจะมีอิสระในชีวิต” และให้โอวาทแก่นิสิต นักศึกษาฝึกงาน ให้มีวินัยในตนเอง จัดสรรเวลาในชีวิตให้ดี วางแผนการเดินทาง การทำงาน การส่งงานให้ตรงเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความไว้วางใจจากพี่ ๆ ที่ทำงานได้ จากนั้นได้บรรยายถึงเรื่องโถแห่งชีวิต (jar of life) ชีวิตของคนเราเหมือนโถแก้ว 1 ใบ ที่จะต้องใส่ของสามสิ่ง ในเวลา 24 ชั่วโมง ได้แก่ หินก้อนใหญ่ แทนสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต กรวด แทนสิ่งที่สำคัญรองลงมา และทราย แทนสิ่งที่ไม่สำคัญในชีวิต ถ้าเราใส่ทรายลงไปในโถแก้วก่อน เช่น เล่นเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ แล้วค่อยใส่กรวดและหิน เราอาจไม่มีที่ว่างเหลือสำหรับหิน คืออาจไม่มีเวลาในการดูแลสุขภาพ การอ่านหนังสือ การหาความรู้เพิ่มเติม แต่ถ้าเราใส่หินก่อน ตามด้วยกรวดและทราย กรวดจะแทรกตามช่องว่างของหินและทรายแทรกลงในช่องว่างที่เหลือ ดังนั้น เราต้องกำหนดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต และจัดลำดับความสำคัญให้ดี
“เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง Mindset ผมเชื่อว่าความฉลาดไม่สำคัญเท่ากับความขยันและความพยายาม ซึ่งผมเองไม่ใช่คนฉลาด แต่ผมเป็นคนขยันและมีความพยายาม ผมเคยอ่านหนังสือของ Carol S. Dweck ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า mindset (กรอบความคิด) ประกอบด้วย fixed mindset และ growth mindset โดย fixed mindset คือความเชื่อว่าคนเราเก่งมาแต่กำเนิด คนกลุ่มนี้มักเชื่อว่าความฉลาดเป็นเรื่องพรสวรรค์ ปรับปรุงไม่ได้ จึงไม่กล้าทำงานที่ท้าทาย เพราะกลัวเจอความรู้สึกว่าเราไม่ฉลาด ไม่เก่งเหมือนที่คาดไว้ และคิดว่าเป็นความล้มเหลว ในขณะที่ growth mindset จะไม่กลัวความผิดพลาด คนเหล่านี้จะยอมอยู่กับพื้นที่ที่พร้อมให้ความคิดเห็นเพราะเชื่อว่าทุกอย่างความสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ ดังนั้น พวกเราควรที่จะมี growth mindset เชื่อในความพยายาม ซึ่งจะมีความสำคัญในระยะยาวและมีผลกับความสำเร็จในชีวิต อย่าคิดว่าโชคชะตากำหนดชะตาชีวิต เพราะเราจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเอง ทั้งนี้ การฝึกงานนั้นเป็นเพียงบทหนึ่งของการสะสมจุด ขอให้เราสะสมจุดในชีวิตให้เพิ่มขึ้นและหลากหลาย และจุดในชีวิตนี้ เมื่อประกอบกับโอกาส จะกลายเป็นความโชคดีของเราต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในช่วงท้ายของการบรรยาย