Skip to main content

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับมิเรียม อ๊ตโตะ (Mrs. Miriam Otti) หัวหน้าแผนกเศรษฐกิจและการเมือง สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย โบแยน สแลต (Mr. Boyan Slat) ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup และสตีเวน พาล์นแมน (Mr. Steven Paalman) ผู้อำนวยการด้านแม่น้ำในทวีปเอเชีย องค์กร The Ocean Cleanup เพื่อแจ้งความก้าวหน้าการดำเนินโครงการการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพมหานครโดยใช้นวัตกรรมเครื่อง Interceptor เป้าหมายการดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องอัมรินทร์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร 

มิเรียม กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ให้โอกาสเข้าพบในวันนี้ ด้านโบแยนฯ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่นวัตกรรมเครื่อง Interceptor ซึ่งเป็นเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ในแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเลและมหาสมุทรจะได้นำมาใช้ในประเทศไทย โดยขยะที่เก็บได้จะนำมาคัดแยกและนำไปรีไซเคิล ทั้งนี้ได้ติดตั้งเครื่อง Interceptor ในแม่น้ำจำนวน 10 สายในทวีปเอเชีย และความท้าทายคือ การเร่งติดตั้งเครื่อง Interceptor ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสตีเวน กล่าวว่า หลังประกอบเรือเก็บขยะ Interceptor จะดำเนินโครงการในระยะแรก คือ การเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจะนำไปจอดบริเวณหน้าสวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 9 และขอความอนุเคราะห์จากกรุงเทพมหานครใช้พื้นที่และอำนวยความสะดวกในการนำขยะขึ้นที่จุดขนขยะที่คลังสินค้าราษฎร์บูรณะ และนำขยะไปจัดการอย่างเหมาะสม และในระยะที่สองจะติดตั้งเรือเก็บขยะตามคลองสายย่อยต่าง ๆ 

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินโครงการวิจัยกำจัดขยะพลาสติกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี (ปี 2564- 2567) โดยได้ติดตั้งกล้องสำรวจตามลำน้ำสาขาและบนสะพานข้ามแม่น้ำ รวมถึงติดตั้งกล้องบันทึกภาพ (The River Monitoring System) และพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ตรวจติดตามปริมาณขยะลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน  8 ชุด บนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานอรุณอมรินทร์ และสะพานภูมิพล เพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะของแม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าเพื่อติดตั้งนวัตกรรมเครื่อง Interceptor บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 9 เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอการอนุญาตจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยามีปัญหาขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกและผักตบชวา การติดตั้งเครื่อง Interceptor ในกรุงเทพมหานครถือเป็นการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนและหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ควรขยายการดำเนินการไปยังคลองสายย่อยซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะ เริ่มจากขยะเศษอาหาร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะนำประเด็นการติดตั้งเครื่อง Interceptor เข้าหารือที่กระทรวงคมนาคมในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) พิจารณาการขออนุญาตจอดเครื่อง Interceptor บริเวณที่กำหนด 

สำหรับองค์กร The Ocean Cleanup (TOC) คือ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ดำเนินการด้านการจัดการขยะในทะเลจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และเป็นผู้คิดค้นเครื่อง  Interceptor ในการดักขยะในแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเล เครื่อง Interceptor ประกอบด้วย แผงทุ่นลอยน้ำที่โยงติดกับโรงเก็บขยะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแพเรือที่ทอดสมออยู่ในแม่น้ำ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาเซลล์และทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการควบคุม 

ผู้ร่วมหารือวันนี้มี พันทิภา สุทธปัญญา เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ แห่งสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม