(6 มิ.ย. 65) เวลา 09.00 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2565 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมและวางแผน (War Room) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
โดยในวันนี้ มีระเบียบวาระการประชุม 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ความคืบหน้าการบริหารจัดการสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2. สถานะการเงินการคลัง และการงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 3. การเชื่อมโยงนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร และ 4. ความก้าวหน้าการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทางในคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวภายหลังจากการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนัดแรก ประกอบด้วยวาระการประชุม 4 เรื่อง ในเรื่องแรกเป็นสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลง มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้น อัตราการฉีดวัคซีน อัตราการเสี่ยงก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อีกไม่นานก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนการถอดหน้ากากจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ศบค.กทม. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ใกล้แล้วที่จะถอดหน้ากากในที่สาธารณะ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไป รวมถึงการพูดคุยเรื่องฝีดาษลิง ดูจากตัวเลขแล้วยังไม่พบการติดต่อของโรค ซึ่งการติดต่อจะเป็นคนละลักษณะกับโควิด-19 เรื่องที่ 2 คือ งบประมาณปี 66 ก็ต้องรีบทำให้เสร็จภายในอาทิตย์หน้า แล้วส่งให้สภากทม.พิจารณา ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการแล้ว เราก็มาดูว่าเข้ากับยุทธศาสตร์ของเราอย่างไร
“ในส่วนงบประมาณเราไม่ได้กังวล ไม่ได้ใช้เงินในช่วงนี้ เราไม่ได้ตั้งใจเข้ามาใช้เงินเป็นจำนวนมาก” ชัชชาติ กล่าวย้ำ
เรื่องที่ 3 คือเรื่องยุทธศาสตร์ แผน 214 ข้อ ที่เราได้ทำไปบ้างแล้ว ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล วิเคราะห์แล้ว แผนเราค่อนข้างสอดคล้องกับนโยบายที่เดินอยู่ของ กทม. ดำเนินการอยู่ เราก็มาดึงให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่ได้มีความกังวลใด ๆ ส่วนใหญ่สามารถทำได้เลย หน่วยงานใดที่มีงบประมาณส่วนนี้อยู่แล้ว ก็สามารถเอามาใช้ได้เลย มีหลายโครงการที่สอดคล้องกันอยู่ ส่วนโครงการที่ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ อาจจะต้องบรรจุไว้ในปี 66 แต่ว่าบางอย่างก็สามารถเริ่มได้เลย วันนี้เรามีนโยบายเรื่องทำ Zero-Based Budgeting คือ การทำงบประมาณจากฐานศูนย์ พยายามดูประสิทธิภาพในการทำงบประมาณ วันนี้ได้เชิญ ผศ. ดร.วิลาสินี วงศ์แก้ว คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอธิบายเพื่อให้ผู้บริหารมีความเข้าใจตรงกัน ถือว่าเป็นการเริ่มหนึ่งในนโยบายที่เราเสนอแล้ว ช่วงอาทิตย์นี้ก็เป็นเรื่องความเข้มข้นและการเตรียมงบประมาณปี 66
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องการเตรียมเรื่องการบำบัดน้ำเสียที่จะลงคลองว่าปัจจุบันมีชุมชนที่อยู่ริมคลองจำนวนมาก แล้วก็หลายชุมชนก็ปล่อยน้ำเสียหรือว่าไขมันลงที่คลองเลย ซึ่งเป็นต้นเหตุอย่างหนึ่งของการเกิดน้ำเสีย ก็มีแนวคิดว่าเราจะเริ่มจะทำตัวการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนให้มากขึ้น ทางสำนักงบประมาณก็เสนอโครงการมาเริ่มทำโครงการนำร่องบางจุดแล้วให้เห็นในภาพรวม เพราะว่าคงไปรอบำบัดน้ำเสียรวมให้เสร็จภายใน 11 ปียาก ต้องทำ on-site เพิ่มเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำทั้งในคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองแสนแสบก่อน
ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมาคือ เรื่องเกี่ยวกับเรื่องต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน บ่ายนี้หลังจากประชุมสภากทม. เสร็จ ผู้บริหารจะไปเยี่ยมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีข้อสั่งการให้ผู้บริหารสำนักทุกสำนัก สำนักงานเขตทุกเขต ไปสำรวจจุดอ่อนช่องโหว่ภายในหน่วยงาน เสนอวิธีแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมา ว่ามีแนวคิดอย่างไร ที่ผ่านมามีช่องโหว่ตรงไหน การจัดซื้อจัดจ้าง นำมารวมกันกับเราทำเป็นแผนรวมดำเนินการแก้ไข เพื่อทำให้หน่วยงานมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไร
“หน่วยงานต้องยอมรับในตัวเองก่อน จะได้รู้ว่ามีปัญหาตรงไหน แล้วเรามาช่วยกันแก้ไข ฝากไว้เป็นการบ้านให้ทุกคนได้ช่วยกัน ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญให้เวลาอาทิตย์หนึ่ง” ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย