Skip to main content

ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงเรียนในการเปิดเรียน (On-site) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยม ณ โรงเรียนราชบพิธ เขตพระนคร

กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 โรงเรียน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยกำหนดมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระหว่างเปิดเรียนของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ On-Site ให้ทุกโรงเรียนจัดเตรียม วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อทำความสะอาด อาคารเรียน อาคารบริการ โรงอาหาร ห้องน้ำ อย่างสม่ำเสมอ ให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สนามเด็กเล่น ลานเอนกประสงค์ และบริเวณโดยรอบโรงเรียน ให้สะอาด ปลอดภัย และอยู่ในสภาพพร้อมใช้อยู่เสมอ จัดให้มีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิก่อนเข้าภายในโรงเรียน และจัดให้มีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน 

การรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีที่พบนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน มีอาการเข้าข่ายสงสัยเป็นผู้ติดเชื้อ โรงเรียนทำการประเมินตนเองผ่านระบบ Thai Stop Covid Plus (TSC+) ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนควบคุมดูแลการเดินทาง ไป-กลับ ของนักเรียนให้มีความปลอดภัย มีการเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือเมื่อมีอาการ ให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีการเว้นระยะห่างระหว่างทางเดิน หรือในขณะทำกิจกรรมในโรงเรียน การย้ายห้องเรียน การเหลื่อมเวลาเรียนหรือเวลาพักรับประทานอาหาร

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมโรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 โรงเรียน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2565 แบบ On-Site ทุกระดับชั้น 100% ในช่วงหนึ่งเดือนแรกจะเป็นการปรับความรู้ในฐานของปี 64 เพื่อจัดกลุ่มเด็กแต่ละกลุ่ม และจัดการเรียนการสอนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อมั่นว่าทุกโรงเรียนจะปรับฐานความรู้ของเด็กเป็นฐานเดียวกันและเดินหน้าต่อไป โดยการจัดการเรียนการสอนจะใช้รูปแบบ On-Site หรือการเรียนที่โรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ และใช้การสอนในอีก 4 รูปแบบ ได้แก่ Online, On-Air, On Hand, และ On School LINE มาผสมผสานร่วมกับการสอนแบบ On-Site ด้วย เพื่อยังคงส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบวิถีใหม่ (New Normal) โดยทุกโรงเรียนจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด คือ จัดชั้นเรียนให้โต๊ะเรียนมีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร กำชับดูแลให้นักเรียนสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยงดเว้นการสัมผัสใกล้ชิด เน้นการปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้ม อย่างต่อเนื่อง มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในโรงเรียน ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่นักเรียน ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.

สำหรับแนวปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษา กรณีนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียน On-Site ตามปกติ โดยปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention และประเมิน Thai Save Thai (TST) ส่วนกรณีนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากเป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามแนวทางปัจจุบัน ทั้งผู้มีอาการและไม่มีอาการ แนะนำให้กักกันตัวเป็นเวลา 5 วัน และเฝ้าระวังอาการอีก 5 วัน และหากเป็นผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดส ถ้าไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักกัน ควรพิจารณาให้ไปเรียนได้ หากมีอาการ ตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย ATK โดยให้ตรวจทันที หากไม่มีอาการให้ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ และตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยกำหนดให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม ใน 5 วันแรก ควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ในกรณีนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน ให้ปิดห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข แล้วให้เปิดใช้ห้องเรียนได้ ห้องเรียนอื่นที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเปิดเรียน On-Site ตามปกติ งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกัน โดยเฉพาะระหว่างห้องเรียน

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร มีจำนวน 14,493 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 14,291 คน คิดเป็นร้อยละ 98.61 ยังไม่ได้รับวัคซีน 202 คน คิดเป็นร้อยละ 1.39 นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครระดับชั้นอนุบาล 1 - ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 222,213 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 108,144 คน คิดเป็นร้อยละ 48.67 ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 114,069 คน คิดเป็นร้อยละ 51.33 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 38,947 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 33,180 คน คิดเป็นร้อยละ 85.19 ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 5,767 คน คิดเป็นร้อยละ 14.81 (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ค.65)

ด้านความปลอดภัย กรุงเทพมหานครมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ภายในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตรวจสอบการติดตั้งสายดินของเครื่องทำน้ำเย็น ตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่น เด็กด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด และวัสดุการเรียนการสอน ควบคุมดูแลและกำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนโดยเคร่งครัด เตรียมความพร้อมด้านสุขาภิบาลอาหารก่อนวันเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ควบคุมดูแลการประกอบอาหารของแม่ครัว ความสะอาดของโรงอาหาร ภาชนะ เครื่องใช้ และการจัดเก็บนมโรงเรียน ตลอดจนการจัดเก็บอาหารสด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในอาหาร จนเกิดโรคอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษได้ เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนมาตรการในการเข้ารับวัคซีน ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบสัญญาณไฟกระพริบและทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งประสานงานกับกรมเจ้าท่า ตรวจสอบท่าเทียบเรือเพื่อปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง กำชับผู้ปกครองหรือผู้ประกอบการรถตู้ ที่ใช้รถตู้ในการรับ-ส่งนักเรียน ตรวจสอบภายในรถตู้ทุกครั้งเมื่อส่งนักเรียนที่โรงเรียนแล้ว 

นอกจากนี้ สำนักงานเขตได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลอำนวยความสะดวกจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนให้นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ตามโครงการเทศกิจอาสาพาน้องข้ามถนนและอาสาจราจร รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้าระงับเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เหตุเพลิงไหม้ หรือสาธารณภัยอื่น ๆ ในบริเวณโรงเรียนหรือสถานที่ใกล้เคียง รวมถึงการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน ให้มีการทำความสะอาด วัสดุ อุปกรณ์ อาคารเรียนอาคารบริการ โรงอาหาร ห้องน้ำ เครื่องเล่น และบริเวณโดยรอบโรงเรียน ให้สะอาด ปลอดภัย ปราศจากเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง