Skip to main content

จากกรณีข่าวเด็กนักเรียนหญิงวัย 14 ปี ที่จังหวัดพัทลุง ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยสาเหตุไม่มีเงินไปจ่ายค่าเทอมสำหรับปีการศึกษานี้ (65) ทำให้สังคมออนไลน์ให้ความสนใจกันอยู่ในขณะนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ไหนว่ารัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ทำไมนักเรียนยังต้องควักเงินอยู่อีก?

ซึ่งปัจจุบันเงินที่แต่ละโรงเรียนเรียกเก็บจากบรรดานักเรียนและผู้ปกครองนั้นจะเรียกว่า 'เงินบำรุงทางการศึกษา' และ 'อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา' ที่จะแยกเก็บตามลักษณะห้องที่นักเรียนได้เข้าเรียน เช่น ถ้าเรียนในชั้นเรียนปกติ จะมีค่าจ้างครูต่างประเทศ, จ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ, ค่าสอนคอมพิวเตอร์ (กรณีที่โรงเรียนจัดคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้), ค่าสาธารณูปโภคสำหรับห้องเรียนปรับอากาศ, ค่าจ้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา, และค่าประกันอุบัติเหตุ รวมแล้ว 3,900 บาท แต่ถ้าเรียนห้องเรียนพิเศษ EP (English Program) จะต้องเสียค่าบำรุงการศึกษห้องเรียนพิเศษและค่าประกันนักเรียน รวม 35,400 บาท (ข้อมูล : ประกาศโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา และอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565)

และแต่ละโรงเรียนก็จะมีห้องพิเศษแบบนี้แยกออกไปอีกตามแต่ละโรงเรียนจะจัดให้มีเพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองเลือกได้ เช่น ห้องเรียนสำหรับภาษาต่างประเทศ, ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์, หรือแม้แต่ห้องเรียนพิเศษ พสวท. สู่ความเป็นเลิศ 

นโยบายเรียนฟรี แต่ทำไม่ได้จริงนี้สร้างปัญหาไม่น้อยให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายบ้านประสบปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าบำรุงการศึกษาที่แต่ละโรงเรียนเรียกเก็บไม่ทันตามกำหนด เพราะพ่อแม่เด็กบางคนรายได้ลดลง มีความไม่แน่นอนในอาชีพสูง 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา (ที่มา : มติชนออนไลน์) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วิจัยพบว่า สิ่งที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่มก่อนเปิดเรียนคือ ค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์ โดยผู้ปกครองต้องเสียเงินเฉลี่ย 4,055-9,042 บาทต่อคนต่อปี และยังมีค่าใช้จ่ายแฝงเพิ่มเติมอีก ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า ที่ผู้ปกครองต้องเสียเงินเฉลี่ย 2,058-6,034 บาทต่อคนต่อปี รวมแล้วก่อนเปิดเทอม นักเรียน 1 คน ต้องใช้เงินเฉลี่ย 6,113-15,076 บาทต่อคนต่อปี 

และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทำไม่ได้จริง ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก บางคนต้องเข้าโรงรับจำนำ เป็นหนี้ เพื่อหาเงินมาซื้อของให้ลูก เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายจริงกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของรัฐบาล ผู้ปกครองได้รับผลประโยชน์เพียง 1 ใน 5 เท่านั้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งปรับค่าใช้จ่ายรายหัวให้ทันก่อนเปิดเทอม และควรจะปรับเพิ่มอย่างน้อย 50% เพื่อช่วยบรรเทา และเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจกับคนยากจน และคนที่ขัดสน ต้องเร่งปรับขึ้นเงินอุดหนุนรายหัวให้ทันก่อนเปิดเทอม

หนังสือจากสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมไว้ว่า โรงเรียนปกตินั้นนักเรียนจะได้รับเงินสนับสนุนรายหัวต่อปี ตั้งแต่ 2,830 - 7,746 บาท ขึ้นอยู่กับฐานะทางบ้านด้วย เงินสนับสนุนที่ว่านี้จำแนกเป็นค่าจัดการเรียนการสอน, ค่าหนังสือเรียน, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ที่ให้แบบขั้นบันไดตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ที่มา : กระทรวงศึกษาธิการ)