Skip to main content

โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศไนจีเรีย ค้นพบแนวทางในการจัดการกับสองปัญหาพร้อมๆ กัน คือปัญหาขยะพลาสติก และการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเยาวชน ด้วยการเสนอไอเดีย “เอาขยะมาแลกค่าเทอม”

เมืองลากอส เมืองหลวงของไนจีเรีย สร้างขยะพลาสติกประมาณ 870,000 ตันในแต่ละปี แต่ด้วยระบบรีไซเคิลและการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขยะพลาสติกจำนวนมากลงไปตามถนนหนทาง หลุมฝังกลบ กระทั่งในแหล่งน้ำ และชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์

ไม่ใช่แค่ปัญหาขยะพลาสติกเท่านั้นที่เป็นปัญหาร้ายแรงของไนจีเรีย ยังมีปัญหาเรื่อง การศึกษา โดยเยาวชนไนจีเรียมากกว่า 20.2 ล้านคน หลุดออกจากระบบการศึกษา แม้ว่าการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาจะไม่มีค่าใช้จ่ายและเป็นภาคบังคับของประเทศก็ตาม

African Clean Up Initiative และ WeCyclers ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสังคมจึงได้ริเริ่มโครงการ Recycle Pay Educational Project ขึ้น โดยร่วมมือกับ Morit International School ในเมือง Ajegunle เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ทั้งสองเรื่องของประเทศไปพร้อมกัน โดยการเปิดให้ผู้ปกครองนำขยะพลาสติกมาแปลงเป็นเงินค่าเทอมให้ลูกๆ ของพวกเขา

 

 

 

Ijeoma Obiora รู้เรื่องนี้เพื่อนบ้านและแนะนำโรงเรียนแห่งนี้ให้เมื่อ 3 ปีก่อน โดยบอกว่า เธอสามารถชำระค่าเล่าเรียนลูกด้วยการนำขวดพลาสติกมาแลก เธอพบว่ามันเป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อ และไม่เคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาก่อน แต่ในวันนี้ ลูกสาววัย 13 ปีของเธอมีโอกาสได้ไปโรงเรียนอย่างเต็มภาคภูมิ

“ในด้านวิชาการ โรงเรียนแห่งนี้ยอดเยี่ยมมากสำหรับลูกสาวของฉันค่ะ ส่วนด้านการเงิน โรงเรียนก็ช่วยให้ฉันไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป ทุกวันนี้สิ่งแรกที่ฉันทำเมื่อเห็นขวดพลาสติกที่ถูกทิ้ง คือ ไปหยิบขึ้นมาโดยไม่ลังเล สิ่งเดียวที่อยู่ในใจ คือ ฉันต้องเก็บขยะเพื่อเอาไปแลกค่าเทอมให้ลูก” Ijeoma เล่า

Patrick Mbamarah มองเห็นปัญหาขยะพลาสติกและการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กๆ ในไนจีเรีย ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียน Morit International School ขึ้นในปี 2015 และกำหนดค่าเล่าเรียนให้ต่ำที่สุด โดยกำหนดให้ขวดพลาสติก 1 ขวดมีราคาเท่ากับ 1 ไนร่า และผู้ปกครองสามารถนำขวดพลาสติกจำนวนมากมาชั่งที่โรงเรียนเพื่อหักลบค่าเล่าเรียนของบุตรหลานของพวกเขาได้

“ผมเติบโตในย่านนี้ และนี่คือวิธีการตอบแทนชุมชนของผม ในประเทศไนจีเรียมีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน และมันทำให้ผมเจ็บปวดมากๆ ผมจึงตัดสินใจจัดการศึกษาที่เหมาะสมและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการก้าวผ่านความยากลำบากมากมาย” Patrick กล่าว

ปัจจุบันนี้ ผู้คนในย่านนี้และละแวกใกล้เคียงต่างสมัครใจเก็บรวบรวมขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งตามท้องถนน เพื่อนำมามอบให้กับโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนก็พยายามปรับปรุงหลักสูตรการสอนให้ดีขึ้น พร้อมๆ กับทำโครงการที่จะช่วยจัดการขยะพลาสติก โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมขวดพลาสติกให้ได้ 1 ล้านขวด เพื่อช่วยให้เด็กๆ มากกว่า 1,000 คนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม


อ้างอิง:
This Nigerian school accepts plastic bottles as school fees
This School in Nigeria Is Accepting Empty Plastic Bottles as Payment for School Fees
WHEN SCHOOL FEES ARE PAID WITH PLASTIC WASTE
How plastic bottles are paying for lessons in Nigeria