ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 8 ลงพื้นที่หาเสียงย่านสำนักงานขนาดใหญ่ สี่แยกสาทร-นราธิวาส ได้รับความสนใจกลุ่มคนวัยทำงานร่วมพูดคุยและถ่ายภาพอย่างคึกคัก ชัชชาติยังได้เดินสำรวจโครงการสวนคลองช่องนนทรี เสนอ กทม. กระจายงบพัฒนาสวนทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ ก่อนเดินข้ามถนนใจกลางเมือง พบปัญหารถจอดทับทางม้าลาย ชัชชาติย้ำนโยบาย “ปลอดภัยดี” ปรับปรุงทางข้ามให้ได้มาตรฐานเป็นวาระเร่งด่วน พร้อมเรียกร้องผู้ขับขี่เคารพกฎจราจรและสิทธิคนเดินถนน
ระหว่างหาเสียงพื้นที่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง สี่แยกสาทร-นราธิวาส ชัชชาติ เบอร์ 8 ได้ทดลองข้ามทางม้าลายบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ พบปัญหารถยนต์และรถจักรยานยนต์จอดพาหนะทับทางม้าลาย บางส่วนขับขี่ด้วยความเร็วสูงโดยไม่สนใจสัญญาณไฟจราจรคนข้ามถนน ชัชชาติ กล่าวว่า กทม. จำเป็นต้องปรับปรุงทางม้าลายให้มีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการเดินเท้าของประชาชนทุกคน ด้วยการทาสีแถบทางข้ามให้ชัดเจน เห็นได้จากระยะไกล กำหนดเขตชะลอและหยุดรถ ติดตั้งแสงสว่าง สัญญาณไฟกะพริบ กล้อง CCTV และป้ายกำหนดความเร็วรถ ส่วนจุดที่มีคนข้ามถนนหนาแน่นควรติดตั้งสัญญาณไฟทางข้ามชนิดปุ่มกด เป็นต้น
“การให้ความสำคัญกับทางม้าลายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องให้สิทธิคนเดินถนนเป็นลำดับแรก ส่วนรถยนต์เป็นสิทธิรองลงมา ทีมเพื่อนชัชชาติเคยทดลองนำธงไปติดตั้งบริเวณทางม้าลายหลายจุด เพื่อให้คนเดินเท้าได้ใช้โบกเป็นสัญญาณข้ามถนน ทั้งนี้ การสร้างความปลอดภัยเป็นเรื่องความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ทั้งภาครัฐที่ต้องปรับปรุงทางม้าลายให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ขณะเดียวกันระเบียบวินัยของผู้ขับรถยนต์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องฝากผู้ขับขี่รถเคารพสิทธิของคนเดินถนนด้วย” ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีทางข้ามประมาณ 4,160 แห่ง โดยทางข้ามกว่า 3,000 แห่ง หรือประมาณ 74% ไม่ได้ติดตั้งสัญญาณไฟ ที่ผ่านมาสำนักจราจรและขนส่ง กทม. (สจส.) มีนโยบายปรับปรุงทางข้าม 700 กว่าแห่งบริเวณโรงเรียนและโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ปรับปรุงเฉพาะสีทางข้ามเท่านั้น ขณะที่ข้อมูลด้านอุบัติเหตุจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนเดินถนนประสบอุบัติเหตุถึง 2,500-2,900 รายต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ หรือเฉลี่ย 900 รายต่อปี
วันนี้ ชัชชาติยังได้เดินสำรวจโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ภายหลังทราบรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ (UDDC) ที่ระบุว่างบประมาณด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของ กทม. กระจุกในพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น โครงการสวนคลองช่องนนทรี และ โครงการปรับปรุงสวนลุมพินี ขณะที่พื้นที่บางเขตยังไม่มีพื้นที่สีเขียว ชัชชาติ กล่าวว่า กทม. จำเป็นต้องกระจายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านใกล้ชุมชน ครอบคลุมทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ ตลอดจนส่งเสริมสิ่งแวดล้อมดีและเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน