Skip to main content

ธนาคารโลก เปิดรายงานระบุ การฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเผชิญความเสี่ยงจากสงครามยูเครน การเข้มงวดทางการเงินของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของจีน การปฏิรูปการคลังและการค้าจะช่วยให้การฟื้นตัวมีความแข็งแกร่ง พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็นเติบโต 2.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9%

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงานประจำปี ชี้ว่าสงครามในยูเครนจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารโลกแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สงครามครั้งนี้ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ การเข้มงวดทางการเงินในสหรัฐฯ และการกลับมาแพร่ระบาดในจีนทั้งที่มีนโยบายปลอดโควิด ผลสะเทือนจากสงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียกำลังทำให้อุปทานสินค้าสะดุด เพิ่มภาวะตึงเครียดทางการเงิน และฉุดรั้งการเติบโตทั่วทั้งโลก ธนาคารโลกระบุใน รายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก: ฝ่าพ้นพายุ ประเทศในภูมิภาคที่เป็นผู้นำเข้าเชื้อเพลิงรายใหญ่ เช่น มองโกเลียและไทย และนำเข้าอาหาร เช่น ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก กำลังประสบภาวะถดถอยของรายได้ที่แท้จริง (real incomes) ส่วนประเทศที่มีหนี้สูง เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและมองโกเลีย และพึ่งพาการส่งออกสูง เช่น มาเลเซียและเวียดนาม มีความอ่อนไหวเปราะบางเป็นพิเศษต่อภาวะสะดุดทางการเงินและการเติบโตของทั้งโลก 

“ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังฟื้นตัวจากภาวะช็อคที่เป็นผลจากการแพร่ระบาด สงครามในยูเครนก็มาฉุดดึงการเติบโตที่กำลังเดินหน้า” รองประธานธนาคารโลกสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มานูเอลา วี. เฟอโร กล่าว “พื้นฐานที่เข้มแข็งและการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมในภูมิภาคจะทำให้เศรษฐกิจสามารถฝ่าฟันพ้นพายุคราวนี้ไปได้” 

ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์และประเทศที่ดำเนินนโยบายการคลังอย่างระมัดระวังและรอบคอบอาจมีความพร้อมมากกว่าที่จะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ โดยผลสะเทือนจากเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะฉุดรั้งการเติบโตของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอลงเป็นร้อยละ 5 ในปี 2565 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคมร้อยละ 0.4 หากสภาพการณ์ทั้งโลกแย่ลงไปกว่าที่ประเมินไว้และประเทศต่างๆ ใช้นโยบายที่ไม่เหมาะสมในการรับมือกับสถานการณ์ อาจทำให้การเติบโตลดลงไปเป็นร้อยละ 4 ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 86 ของทั้งภูมิภาค คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5 ในกรณีฐานและร้อยละ 4 ในกรณีเลวร้าย ผลผลิตของส่วนที่เหลือในภูมิภาคคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 ในกรณีฐานและร้อยละ 4.2 ในกรณีเลวร้าย ซึ่งในกรณีเลวร้ายคาดว่าจำนวนผู้ที่ตกอยู่ในความยากจนในภูมิภาคปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านคน ณ เส้นความยากจนที่ 5.50 เหรียญสหรัฐฯ/วัน 

สงคราม การเข้มงวดทางการเงิน และการชะลอตัวของจีนมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจหลังยุคโควิดเผชิญกับอุปสรรคที่มากขึ้นจากเดิม โดยกิจการในภูมิภาคที่รายงานว่ามีหนี้ค้างชำระในปี 2564 คิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของกิจการทั้งหมด จะได้รับผลกระทบจากภาวะชะงักงันของอุปทานและอุปสงค์ครั้งใหม่ ครัวเรือนต่างๆ จำนวนมากที่กลับไปอยู่ในความยากจนในช่วงการแพร่ระบาด จะประสบกับการหดตัวของรายได้ที่แท้จริงหนักยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ประเทศที่มีฐานะเป็นลูกหนี้และมีสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 นับตั้งแต่ปี 2562 จะประสบกับความยากลำบากในการดำเนินนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่าคาดอย่างน้อยที่ร้อยละ 1 จากราคาน้ำมันเพียงปัจจัยเดียว จะลดขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

“ภาวะช็อคที่โถมเข้ามาอย่างต่อเนื่องหมายความว่าประชาชนที่ต้องกลืนเลือดในทางเศรษฐกิจหนักขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลของตัวเองจะมีศักยภาพทางการคลังลดด้อยถอยลงไปอีก” อาดิตยา แมตทูหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “การปฏิรูปทางการคลัง การเงิน และการค้าจะลดความเสี่ยง ฟื้นการเติบโต และลดความยากจนได้”

รายงานนี้เสนอแนะการดำเนินนโยบายสี่แบบ แทนที่จะใช้มาตรการควบคุมราคาและการให้ความช่วยเหลืออย่างไม่มีการแยกแยะ การให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนและกิจการอย่างมีเป้าหมายจะจำกัดความเจ็บปวดจากภาวะช็อคและสร้างพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายด้านการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ การจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤติ หรือ Stress Test ในสถาบันการเงินจะช่วยประเมินความเสี่ยงที่ซุกซ่อนอยู่ จากผลของนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้และการผ่อนปรนหลักเกณฑ์สำหรับสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตโควิด-19 การปฏิรูปนโยบายเกี่ยวกับการค้าและภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการที่ยังได้รับการคุ้มครองในระดับสูง จะทำให้ประเทศต่างๆ ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงในการค้าโลก การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งเสริมศักยภาพและสร้างแรงจูงใจให้มีการรับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ

ทั้งนี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุ จากรายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดือนเมษายน 2565 เวิลด์แบงก์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็นเติบโต 2.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% โดยความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศกรณีสงครามยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งต่อไปสู่ภาคครัวเรือนทำให้กระทบต่อการบริโภคโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงเกือบ 50% ของรายได้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากผลกระทบเดียวกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นตามราคาพลังงาน แต่ยังมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวที่เกิดจากฝั่งอุปทาน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นหรือมาตรการของภาครัฐส่งผลต่อการใช้จ่ายได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารโลกมองกรณีแย่จีดีพีเติบโตที่ 2.6%