บรรดาประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งมีรายได้สูง ระบบสาธารณสุขในหลายประเทศกำลังพบ “แรงกดดันทางด้านการเงิน”
รายงานล่าสุดของ OECD ระบุว่า ระบบสาธารณสุขของกลุ่มประเทศรายได้สูงกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางการเงินครั้งมหึมา
รายงานของ OECD ปี 2023 พบว่า ประเทศพัฒนาแล้วใช้งบประมาณไปกับการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนไปราวร้อยละ 9.2 ของจีดีพี ซึ่งลดลงจากปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.7 สะท้อนถึงการที่ยังคงต้องใช้เงินในการดูแลประชาชนภาวะหลังโควิดและบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อ
มาธิอัส คอร์มานน์ เลขาธิการใหญ่ของ OECD แถลงว่า การเพิ่มขึ้นของความต้องการบริการด้านสุขภาพ เป็นผลจากประชากรที่สูงวัยซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้น และรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนที่ไม่ดีกับสุขภาพ เขากล่าวว่า ระบบสาธารณสุขจำเป็นต้องจัดเตรียมความพร้อมและการเข้าถึงแต่เนิ่นๆ ในการรองรับกับผลกระทบทางกายภาพและทางด้านจิตใจจากภาวะหลังโควิด รวมถึงต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านระบบสาธารณสุขไปสู่การเป็นดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ
รายงานเผยว่า สหรัฐอเมริกา เป็นอันดับ 1 ในการใช้จ่ายงบประมาณทางด้านสาธารณสุข ราวร้อยละ 16.6 ของจีดีพี ตามมาด้วยเยอรมนี ร้อยละ 12.7 ของจีดีพี ฝรั่งเศส ร้อยละ 12.1 ของจีดีพี
สหรัฐยังจ่ายเงินต่อหัวในการดูแลสุขภาพประชาชนสูงเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศ OECD อีกด้วย จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า ในปี 2020 สหรัฐจ่ายเงินดูแลสุขภาพประชาชนต่อหัวอยู่ที่ 11,702 ดอลลาร์ หรือประมาณ 4.16 แสนบาทต่อคน ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ที่ 10,309 ดอลลาร์ หรือราว 3.67 แสนบาทต่อคน และนอรเวย์ 9,020 ดอลลาร์ หรือราว 3.2 แสนบาทต่อคน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากธนาคารโลกเผยว่า มีการจ่ายจ่ายเงินต่อหัวในการดูแลสุขภาพประชาชนอยู่ที่ราว 300 ดอลลาร์ต่อหัวประชากรต่อปี หรือราว 10,700 บาท
ขณะที่จำนวนแพทย์ของกลุ่มประเทศ OECD เพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านคนในปี 2011 เป็น 4.3 ล้านคนในปี 2021 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของแพทย์ในอัตราที่เร็วกว่าขนาดประชากร รายงานของ OECD ชี้ว่า เนื่องจากความกังวลระยะยาวเกี่ยวกับการขาดแคลนหมอและบุคลากรการแพทย์ จึงมีการเตรียมพร้อมด้านการแพทย์เพื่อรับมือกับผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก