Skip to main content

มหาเศรษฐีไทยยังรวยได้อีก มีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้น 20% จากปีที่แล้ว โดย 5 อันดับแรก 'คงที่' และเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว ส่วน 'ทักษิณ ชินวัตร-สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ-อดีตรอง ผบ.ตร. 'วิระชัย ทรงเมตตา' ติดโผด้วย แต่รายงานธนาคารโลกชี้ การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะทำให้ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง 

นิตยสารฟอร์บส (Forbes) เผยผลจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่่สุดในประเทศไทย ประจำปี 2564 พบว่าตระกูลเศรษฐีไทยมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่ง โดยมีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นอีกราว 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 48 ล้านบาท) หรือราว 20% เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2563 แม้เศรษฐกิจไทยจะประสบภาวะชะลอตัวเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงปีที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจและภาคการส่งออกในปีนี้ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 43 และแม้มหาเศรษฐีบางส่วนรวยน้อยลง แต่มากกว่าครึ่งก็ยังมั่งคั่งเพิ่ม

ฟอร์บส ระบุว่ามหาเศรษฐีผู้ร่ำรวย 5 อันดับแรกของไทยยัง 'คงที่' เหมือนปีก่อน ได้แก่ 

อันดับ 1 'พี่น้องเจียรวนนท์' เจ้าของเครือธุรกิจเจริญโภคภัณฑ์ (CP) มีทรัพย์สินรวม 9.38 แสนล้านบาท
อันดับ 2 เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม เครือกระทิงแดง มีทรัพย์สินรวม 7.69 แสนล้านบาท
อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี ธุรกิจเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์ มีทรัพย์สินรวม 3.98 แสนล้านบาท
อันดับ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจค้าปลีก รวมถึงห้างเครือเซ็นทรัล มีทรัพย์สินรวม 3.64 แสนล้านบาท 
อันดับ 5 สารัชต์ รัตนาวะดี บริษัท กัลฟ์ เอเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ธุรกิจพลังงาน มีทรัพย์สินรวม 2.79 แสนล้านบาท

https://i0.wp.com/forbesthailand.com/wp-content/uploads/2021/07/Thai-richest-Forbes-TH-01-983x1024.jpg

(ภาพจาก Forbes Thailand)

ส่วนอันดับ 6-10 มีทั้งผู้ถูกปรับขึ้น-ลง และคงที่ ได้แก่ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ธุรกิจเครื่องดื่มเครือโอสถสภา ขึ้นจากอันดับ 8 มาสู่อันดับ 6 มีทรัพย์สินรวม 1.09 แสนล้านบาท, อันดับ 7 สมโภชน์ อาหุนัย จากธุรกิจพลังงาน ขึ้นจากอันดับ 18 มีทรัพย์สินรวม 1.03 แสนล้านบาท, อันดับ 8 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ธุรกิจการแพทย์ ขึ้นจากอันดับ 11 มีทรัพย์สินรวม 1.02 แสนล้านบาท, อันดับ 9 ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ธุรกิจสีทาอาคาร ลงจากอันดับ 7 มีทรัพย์สินรวม 1 แสนล้านบาท และอันดับ 10 ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และดาวนภา เพชรอำไพ ธุรกิจการเงิน อันดับคงที่ มีทรัพย์สินรวม 9.42 หมื่นล้านบาท

ขณะที่มหาเศรษฐีในตระกูลธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับแวดวงการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ มี 3 รายชื่อที่คุ้นหู ได้แก่ อันดับ 18 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งลงทุนกับธุรกิจ DNA Nudge มีทรัพย์สินรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท, อันดับ 36 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด มีทรัพย์สินรวมกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท และอันดับ 47 สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเครือธุรกิจไทยซัมมิท มารดาของ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีทรัพย์สินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความยากจนในประเทศมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง เพราะรายงานของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าจะเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลให้ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้น โดยรายงาน Uneven Recovery ระบุว่า ไทย กัมพูชา เมียนมา มองโกเลีย และมาเลเซีย เผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ แต่การควบคุมเชื้อโรคไม่สามารถทำได้อย่างเท่าเทียมกันภายในประเทศ

สถานการณ์แพร่ระบาดส่งผลให้มีคำสั่งปิดกิจการหลายประเภท ซึ่งยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ เพราะการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในหลายประเทศไม่ได้สัดส่วนที่สมดุลกัน และการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกันในประชากรของแต่ละประเทศ มีผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น ซึ่งสภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนยากจนอย่างรุนแรงที่สุด และกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กกับขนาดกลางก็ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีดิจิทัล