Skip to main content

รายงานที่จัดทำโดย ธนาคารโลก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตรุนแรงทางด้าน “ทักษะพื้นฐานที่สำคัญ” สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 โดยประชากรผู้ใหญ่และเยาวชนมี “ทักษะการอ่าน” และ “ทักษะดิจิทัล” ต่ำกว่าเกณฑ์มาก รวมถึงมีทักษะทางอารมณ์และสังคมต่ำกว่าเกณฑ์ มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และไม่เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ

รายงานการส่งเสริมทักษะพื้นฐานในประเทศไทย เผยว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ในเขตเมืองร้อยละ 58.0 มีทักษะการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ในเขตชนบทสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 70.3 ส่วนทักษะดิจิทัลของเยาวชนและผู้ใหญ่ในเขตเมือง พบว่า ร้อยละ 68.7 มีทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ ในขณะที่ในเขตชนบทมีสัดส่วนที่สูงกว่าถึงร้อยละ 78.7 ส่วนทักษะทางสังคมอารมณ์ระหว่าง ไม่พบความแตกต่างที่สำคัญทางสถิติระหว่างเขตชนบทและเขตเมือง

รายงานระบุว่า วิกฤติทักษะมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และในกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 40 ปีที่ไม่จบการศึกษาระดับสูง โดยในภาคเหนือและภาคใต้ มีผู้ที่ทักษะพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเป็นสัดส่วนสูงมาก ในภาคเหนือ มีผู้ที่อ่านหนังสือไม่คล่องสูงที่สุดถึงร้อยละ 89 ขณะที่ภาคใต้ มีสัดส่วนผู้ที่ทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์มากที่สุดที่ ถึงร้อยละ 83.7

รายงานเผยว่า ผู้สูงอายุของไทยมากกว่าร้อยละ 80 มีทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์, ร้อยละ 60 ของคนหนุ่มสาวที่ไม่จบการศึกษาระดับสูง มีทักษะการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ และพบว่าร้อยละ 40 ของคนหนุ่มสาวที่มีวุฒิการศึกษาระดับสูง มีทักษะการอ่านที่ต่ำกว่าเกณฑ์

ขณะที่ร้อยละ 33 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ในชนบท ไม่แสดงแนวโน้มในการเปิดรับความคิดใหม่ๆ เมื่อเทียบกับเยาวชนและผู้ใหญ่ในเขตเมือง สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 27.1

“สัดส่วนของผู้ที่มีความบกพร่องทางทักษะรุนแรงดังกล่าว เป็นการเตือนถึงความน่าเป็นห่วงของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งต่างพึ่งพาประชาชนที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่ต้องอาศัยทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานและความสามารถด้านดิจิทัลเป็นอย่างมาก” รายงานระบุ

 

ประชากรวัยผู้ใหญ่ในเขตเมืองร้อยละ 58.0 มีทักษะการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ในเขตชนบทสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 70.3 ส่วนทักษะดิจิทัลของเยาวชนและผู้ใหญ่ในเขตเมือง พบว่า ร้อยละ 68.7 มีทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ ในขณะที่ในเขตชนบทมีสัดส่วนที่สูงกว่าถึงร้อยละ 78.7 

 

รายงานเผยด้วยว่า 
-    ร้อยละ 64.7 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ไทย แทบจะอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นไม่ได้ เช่น การปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ 
-    ร้อยละ 74.1 มีทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีความยากลำบากในการใช้เมาส์และคีย์บอร์ดบนแล็ปท็อป และไม่สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้น เช่น ค้นหาราคาสินค้าบนเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์
-    ร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ของไทย มีทักษะทางอารมณ์และสังคมขั้นพื้นฐานในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งหมายถึงว่า จะไม่แสดงแนวโน้มในการริเริ่มกิจกรรมทางสังคม หรือแสดงความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ หรือมีจินตนาการสร้างสรรค์

“ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น เยาวชนและผู้ใหญ่ชาวไทยร้อยละ 18.7 มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งทักษะการอ่าน ทักษะดิจิทัล และทักษะทางสังคมอารมณ์ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาเหล่านี้ขาดความสามารถทางด้านความคิดและสังคมอารมณ์ที่หลากหลายในการรับมือกับความท้าทายและโอกาสต่างๆ ในศตวรรษที่ 21”

 

ทักษะต่ำกว่าเกณฑ์: การขาดโอกาสทางรายได้และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ

 

รายงานระบุถึงการที่เยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทยมีระดับทักษะพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ว่า ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถเข้าร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสทำงานในภาคส่วนที่เป็นทางการน้อย

รายงานระบุว่า ทักษะด้านการอ่าน ทักษะดิจิทัล และทักษะทางสังคมอารมณ์ สัมพันธ์อย่างมากกับรายได้ ผู้ที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 15,692 บาท ในขณะที่ผู้ที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์มีรายได้อยู่ที่ 22,016 บาท ซึ่งส่วนต่างของรายได้ 6,324 บาท ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก เมื่อเทียบกับรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนของไทยซึ่งอยู่ที่ 27,352 บาท

รายงานชี้ว่า ผู้ที่มีทักษะพื้นฐานทั้งสามด้านต่ำกว่าเกณฑ์  รายได้เฉลี่ยต่อเดือนจะลดลงไปอยู่ที่ 12,503 บาท  ขณะที่ผู้ที่มีทักษะพื้นฐานอย่างน้อยหนึ่งด้านที่สูงกว่าเกณฑ์ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ 19,203 บาท

ในรายงานยังระบุถึง ผลกระทบต่อการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมจากการที่ประชากรมีทักษะการอ่านและทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์นั้น อยู่ที่ราว 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของ GDP ในปี 2565  โดยที่การสูญเสียรายได้จากปัจจัยนี้จะยังคงเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไป และขนาดของการสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจมีจำนวนมาก

 

“ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น เยาวชนและผู้ใหญ่ชาวไทยร้อยละ 18.7 มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งทักษะการอ่าน ทักษะดิจิทัล และทักษะทางสังคมอารมณ์ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาเหล่านี้ขาดความสามารถทางด้านความคิดและสังคมอารมณ์ที่หลากหลายในการรับมือกับความท้าทายและโอกาสต่างๆ ในศตวรรษที่ 21”


ทักษะพื้นฐาน: เครื่องมือรับมือความท้าทายของศตวรรษที่ 21

 

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ เป็นการประเมินทักษะผู้ใหญ่ขนาดใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อวัดระดับทักษะพื้นฐานของประชากรวัย 15-64 ปี โดยครอบคลุมทักษะความรู้ด้านการอ่าน การเขียน ทักษะดิจิทัล และทักษะด้านอารมณ์และสังคม การประเมินทักษะผู้ใหญ่ในประเทศไทย (ASAT) ได้รับการพัฒนาโดยธนาคารโลกและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในรายงานกล่าวถึงความสำคัญของ “ทักษะพื้นฐาน” (Foundational skills) ซึ่งประกอบด้วย ทักษะด้านการอ่านเขียน ทักษะดิจิทัล และทักษะทางสังคมและอารมณ์ ว่า

“จะช่วยให้ผู้คนสามารถรับมือกับความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น ประชากรสูงวัย ภาวะความยากจนที่เพิ่มขึ้น และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชนบทอย่างไม่สมดุล”

รายงานกล่าวว่าเป้าหมายของการนำเสนอนี้ “ต้องการสื่อสารไปยังผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษาในประเทศไทยถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเยาวชนและผู้ใหญ่จำนวนมากที่ยังขาดทักษะพื้นฐานในการเผชิญความท้าทายและการคว้าโอกาสในศตวรรษที่ 21 โดยทักษะพื้นฐานเหล่านี้ รวมถึงความรู้ด้านการอ่าน การเขียน ทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคม เป็นความสามารถที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต”

ที่มา worldbank.org