สรุป
• ส.ส.พรรครัฐบาลยก 'พล.อ.ประยุทธ์' เทียบเท่า 'เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล' อดีตผู้นำสหราชอาณาจักร
• เหตุผลประกอบ คือ 'เชอร์ชิลและประยุทธ์' เป็นคนเข้มแข็งและมีภาวะผู้นำเหมือนกัน
• ในความเป็นจริง 'เชอร์ชิลและประยุทธ์' มีสิ่งที่แตกต่างกันมากกว่าสิ่งที่คล้ายคลึงกัน
ผ่านปีใหม่มาไม่กี่วัน 'รงค์ บุญสวยขวัญ' ส.ส.จังหวัด นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ก็ประกาศผ่านสื่อโซเชียลอย่างเชื่อมั่นว่า 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี จะนำพาให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตปี 2564 ที่ (หลายคนมองว่า) น่าจะหนักหน่วงไปได้ แม้จะมีทั้งโรคโควิด-19 และการชุมนุมทางการเมือง
ทั้งนี้ ส.ส.รงค์ ยกย่อง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเข้มแข็งและมีภาวะผู้นำสูงเทียบเท่า 'วินสตัน เชอร์ชิล' อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยของสหราชอาณาจักร
The Opener ทำเช็กลิสต์คุณสมบัติและผลงานเด่นของบุคคลทั้งสองมาให้ดูกัน ในฐานะที่ 'วินสตัน เชอร์ชิล' เป็นบุคคลดังของโลกจากทั้งผลงานการเมืองและการบริหารประเทศในภาวะสงคราม และเป็นทหารบกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็เป็นทหารบกที่อยู่ในอำนาจทางการเมืองมานานเกือบ 7 ปี และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 สมัย แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว มีต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
10 ข้อเกี่ยวกับ 'วินสตัน เชอร์ชิล
1. พูดไม่ชัดตั้งแต่เด็ก ผลการเรียนไม่ดีช่วงวัยรุ่น บิดาจึงให้ไปเรียนทหารแทนการเรียนชั้นอุดมศึกษา
2. เมื่อเรียนจบโรงเรียนนายร้อย ถูกส่งไปประจำการที่คิวบาและอินเดีย ทั้งยังทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวด้วย
3. ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2442 แต่แพ้ และแก้มืออีกครั้งในปี 2443 จึงชนะแบบฉิวเฉียด
4. นำประเทศเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อต่อสู้นาซีเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และอยู่ฝั่งชนะ
5.ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และเขียนสุนทรพจน์ด้วยตัวเอง ทั้งยังซ้อมพูดก่อนปราศรัยจริงทุกครั้ง
6. ถูกยกย่องเป็น 'รัฐบุรุษ' ของสหราชอาณาจักร และเป็น 'พลเมืองเกียรติยศ' แห่งสหรัฐอเมริกา
7. บารมีเชอร์ชิลไม่ช่วยให้พรรคที่สังกัดชนะเลือกตั้งหลังสงครามฯ เพราะคู่แข่งเสนอนโยบาย "ฟื้นฟูประเทศ"
8. ปูมหลังจากการเป็นนักข่าวและเขียนหนังสือหลายเล่ม ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2496
9. ความสัมพันธ์ของเขากับลูกชายค่อนข้างจะห่างเหิน ลูกสาวคนหนึ่งติดเหล้า ส่วนลูกสาวอีกคนฆ่าตัวตาย
10. ช่วงท้ายของชีวิต เขาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ และซึมเศร้า ก่อนจะเสียชีวิตขณะมีอายุได้ 90 ปี
10 ข้อเกี่ยวกับ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา'
1. เกิดเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2497 ในครอบครัวข้าราชการ บิดาเป็นนายทหารยศพันเอก (พิเศษ) และมารดาเป็นครู
2. โรงเรียนวัดนวลนรดิศยกย่อง 'พล.อ.ประยุทธ์' เป็นศิษย์เก่าดีเด่น และสมัยมัธยมเป็นเด็กเรียนดีคนหนึ่งของรุ่น
3. จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 12, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 23, หลักสูตรนายร้อยรุ่น 51, หลักสูตรนายพัน รุ่น 54
4. รับราชการทหารที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์มาโดยตลอด ซึ่งสื่อสายทหารเรียกหน่วยนี้ว่า "ทหารเสือราชินี"
5. ได้เลื่อนชั้นจาก พล.ต.เป็น พล.ท. และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยคณะรัฐประหาร 19 ก.ย.2549
6. ก่อรัฐประหารเองเมื่อปี 2557 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และมอบอำนาจให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี
7. เป็นผู้แต่งเนื้อเพลง "คืนความสุขให้ประเทศไทย" ความยาว 4 นาที มีท่อนฮุกว่า "เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน" เป็นหนึ่งในเพลงยอดนิยมแห่งปี 2557 เพราะเปิดบ่อยในสถานีวิทยุกองทัพบก
8. ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2562 แต่ได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง เพราะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อเป็นแคนดิเดต
9. เป็นนายกฯ ที่ฝ่ายสนับสนุนเรียกด้วยความรักว่า 'ลุงตู่' แต่ผู้เห็นต่างมองว่าเป็นผู้นำที่เกรี้ยวกราดและขาดวุฒิภาวะ
10. เคยขึ้นปกนิตยสารต่างประเทศอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ Time โปรยภาพหน้าปกว่า "นักประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ" ส่วนอีกฉบับ คือ The Economist นำภาพล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ ผสม 'พินอกคิโอ' ไปขึ้นปก
แม้แต่รัฐบุรุษก็ถูกอดีตไล่ล่าได้
จะเห็นได้ว่า 'เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล' เชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง เดินหน้าลงสมัครต่อไปแม้จะพ่ายแพ้ในครั้งแรก และทำงานการเมืองต่อมาอีกหลายปี จนได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ประเทศเผชิญสงครามครั้งใหญ่ และสามารถพิสูจน์ภาวะผู้นำจากการนำพาประเทศไปสู่ปลายทางที่อยู่ในฝั่ง 'ผู้ชนะ' ได้ ทำให้ผู้คนลืมการนำทัพที่ผิดพลาดของเขาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1
ส่วนกรณีของ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ซึ่งก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร ถูกบอยคอตจากหลายประเทศในช่วงแรก และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำกับดูแลโดยคณะรัฐประหาร พร้อมทั้งมีกติกาที่เอื้อต่อพรรคขนาดเล็ก ทำให้สามารถก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้อีกครั้ง จึงแตกต่างทางอุดมการณ์การเมืองอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนอดีตไปยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะเห็นอีกว่าบารมีของผู้นำที่ชนะสงครามอย่างเชอร์ชิลก็ไม่อาจโอบอุ้มให้พรรคอนุรักษนิยมของเขาชนะการเลือกตั้งในปี 2488 ได้ เพราะเชอร์ชิลเป็นเพียงไม่กี่คนที่ชนะการเลือกตั้ง แต่พื้นที่อื่นๆ นั้นพรรคแรงงานคว้าชัยไปเกือบหมด
นักวิเคราะห์มองว่า พรรคอนุรักษนิยมของเชอร์ชิลหาเสียงด้วยการอ้างชัยชนะจากสงคราม แต่พรรคแรงงานประกาศนโยบายที่จะฟื้นฟูและปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการมองไปข้างหน้า ให้ความหวังกับประชาชนที่บอบช้ำจากสงครามมากที่สุด
เชอร์ชิลและพรรคอนุรักษนิยมจำต้องยอมเป็นฝ่ายค้านราว 5 ปี และเขาได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในปี 2494 แต่ชีวิตการเมืองช่วงท้ายๆ นี้ เชอร์ชิลมีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง จนต้องลาออกจากตำแหน่งในปี 2498 ก่อนจะล่วงลับไปในวันที่ 24 ม.ค.2508 ขณะมีอายุได้ 90 ปี
นอกจากนี้ เมื่อเวลาผ่านไปอีกกว่าครึ่งศตวรรษ กลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมืองและต่อต้านการเหยียดผิวได้ขุดคุ้ยคำพูดสมัยที่เชอร์ชิลยังมีชีวิตอยู่มาวิเคราะห์ใหม่ พบว่าบางประโยคแสดงทัศนะว่าคนผิวขาวที่ศิวิไลซ์กว่า "ไม่ได้กระทำผิดร้ายแรง" ต่อกลุมคนพื้นเมืองที่ด้อยความรู้จนถูกรุกรานจากฝ่ายเจ้าอาณานิคม ทั้งยังมีการตีความว่าเชอร์ชิลไม่สนใจประชาชนในอาณานิคมที่อดอยาก แต่กลับมุ่งทำสงคราม ทำให้รูปปั้นของเชอร์ชิลในอังกฤษถูกกลุ่มผู้ประท้วงพ่นสีสเปรย์จนได้รับความเสียหาย
เรื่องนี้ 'เอ็มมา โซมส์' ทายาทรุ่นหลังของเชอร์ชิล มองว่าเป็นเรื่องเศร้าที่ประวัติศาสตร์ถูกตีความด้วยบริบทปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงค่านิยมของคนในยุคนั้น แต่ก็ยอมรับว่า ถ้ารูปปั้นของเชอร์ชิลในที่สาธารณะทำให้คนรู้สึกไม่พอใจ ก็เห็นด้วยที่จะย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์แทน
ภาพ: "HU045526" by Sabatu is marked with CC PDM 1.0